แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ให้สินสอดโดยทำสัญญากู้ให้ แม้เงินที่ลงไว้ในสัญญากู้จะไม่ใช่สินสอดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1436 เพราะเป็นการแต่งงานกันตามประเพณีโดยคู่กรณีไม่ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญก็ตาม แต่เมื่อจำเลยตกลงจะให้เงินตอบแทนแก่โจทก์ในการที่บุตรสาวของโจทก์จะแต่งงานอยู่กินกับบุตรชายของจำเลยโดยทำสัญญากู้ให้ไว้ดังกล่าว เมื่อได้มีการแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากันแล้วจำเลยก็ต้องชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสู่ขอบุตรสาวโจทก์เพื่อให้สมรสกับบุตรชายของจำเลยในวันทำพิธีแต่งงาน จำเลยนำเงินค่าสินสอดที่ตกลงกันไว้ว่าเป็นจำนวน 10,000 บาท มาชำระให้โจทก์ 2,000 บาทก่อน อีก 8,000 บาทอ้างว่ายังไม่มีขอผัดไปชำระภายหลังโดยทำสัญญากู้มอบให้โจทก์ไว้ ครบกำหนด ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระขอศาลบังคับให้จำเลยชำระเงิน 8,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า บุตรชายจำเลยและบุตรสาวโจทก์แต่งงานกันตามประเพณีโดยฝ่ายโจทก์เรียกของหมั้นเป็นทองคำหนัก 12 บาท เข็มขัดนาก1 เส้นหนัก 9 บาท เงินสินสอด 40 บาท และเงินกองทุนให้แก่คู่บ่าวสาว12,000 บาท โดยโจทก์กับภรรยาให้คำมั่นว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์กับภรรยาให้คู่บ่าวสาว 1 ใน 3 ภายใน 3 ปี และจะจัดให้ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสภายหลังแต่งงานแล้ว วันแต่งงานจำเลยได้นำทองหมั้นและเงินสินสอดไปให้โจทก์และภรรยาครบถ้วน ส่วนเงินกองทุนมีไปให้เพียง 4,000 บาทอีก 8,000 บาท ได้ทำสัญญากู้ให้โจทก์ยึดถือไว้ตั้งแต่คืนวันสุกดิบ ภายหลังแต่งงานแล้วบุตรสาวโจทก์ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส ต่อมาโจทก์กับภรรยากลับด่าว่าและขับไล่บุตรจำเลยออกจากบ้าน บุตรสาวโจทก์ก็ไม่ยอมมาอยู่กินกับบุตรจำเลยที่บ้านจำเลย โจทก์ทวงถามเงินตามสัญญากู้และร้องเรียนต่อนายอำเภอ จำเลยต่อสู้ว่าเป็นเงินกองทุน จะยอมให้ต่อเมื่อโจทก์จัดการให้บุตรโจทก์ไปอยู่กินและจดทะเบียนสมรสกับบุตรจำเลย บุตรโจทก์ไม่ยอม จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความแทนจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า การแต่งงานระหว่างบุตรโจทก์จำเลยต่างฝ่ายต่างมิได้ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญมาแต่แรก แม้จะรับฟังได้ว่า เงินตามสัญญากู้เป็นเงินสินสอด แต่เมื่อมิได้มีการจดทะเบียนสมรสโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยได้ และกรณีไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 150บาทแทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังว่า สัญญากู้เกิดจากเงินสินสอดที่ค้างชำระ และเมื่อคู่กรณีไม่ถือเอาการจดทะเบียนสมรสกันเป็นสารสำคัญ เมื่อบุตรของทั้งสองฝ่ายได้แต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากัน ก็ต้องชำระค่าสินสอดตามที่ตกลงกันไว้ สัญญากู้ใช้บังคับได้ พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์8,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 400 บาท
จำเลยฎีกาว่าเป็นเงินกองทุน และจำเลยไม่จำต้องชำระให้โจทก์
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในการสู่ขอบุตรสาวโจทก์ให้แก่บุตรชายจำเลยจำเลยได้ทำสัญญากู้ไว้ให้โจทก์จริง บุตรจำเลยและบุตรโจทก์แต่งงานกันตามประเพณี และอยู่กินด้วยกันที่บ้านโจทก์เป็นเวลา 1 ปีเศษ มีบุตรด้วยกัน 1 คนโดยต่างฝ่ายต่างมิได้ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญมาแต่แรกคดีฟังได้ว่าสัญญากู้เกิดจากเงินสินสอดที่ค้างชำระกันอยู่มิใช่เงินกองทุนดังจำเลยต่อสู้แม้เงินที่ลงไว้ในสัญญากู้จะไม่ใช่สินสอดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 เพราะเป็นการแต่งงานกันตามประเพณีโดยคู่กรณีไม่ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญ แต่จำเลยก็ตกลงจะให้เงินตอบแทนแก่โจทก์ในการที่บุตรสาวของโจทก์จะแต่งงานอยู่กินกับบุตรชายของจำเลย โดยทำสัญญากู้ให้ไว้ เมื่อได้มีการแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากันแล้ว จำเลยก็ต้องชำระเงินดังกล่าวตามที่ตกลงไว้ให้แก่โจทก์ สัญญากู้จึงใช้บังคับได้
พิพากษายืน