แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องและมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาในคำคัดค้านโดยชำระค่าขึ้นศาลจำนวน 50,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ผู้คัดค้านยื่นคำค้านมา ชอบด้วยตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) (ข) ถือได้ว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดนั้นชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิพากษาให้บังคับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้
เงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อมิให้ดำเนินคดีอาญาแก่แรงงานต่างด้าวในข้อหาทำงานในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายมีลักษณะเป็นเงินสินบนที่ให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้ไม่กระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้ร้องตกลงให้ผู้คัดค้านหักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวออกจากเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ผู้คัดค้านว่าจ้างผู้ร้องให้ทำการก่อสร้างอาคารในคดีนี้ได้ ข้อตกลงที่ให้หักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวออกจากเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ข้อตกลงนั้นจึงตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธินำเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจมาหักจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างแก่ผู้ร้องนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 150 แห่ง ป.พ.พ. การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 3/2555 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 88/2558
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการว่า สืบเนื่องมาจากผู้ร้องก่อสร้างอาคารไม่สม่ำเสมอ ไม่มีประสิทธิภาพและดำเนินการล่าช้าจึงเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา ผู้คัดค้านจึงบอกเลิกสัญญาและเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาและแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อตกลงของคู่สัญญา การที่ผู้คัดค้านนำเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวมาหักจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายค่าจ้างแก่ผู้ร้องเป็นเพราะผู้ร้องไม่มีคนงานก่อสร้างและต้องการเร่งการก่อสร้าง จึงต้องจ้างคนงานต่างด้าวทำการก่อสร้าง ผู้คัดค้านจึงออกเงินทดรองจ่ายเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวไปก่อน โดยผู้ร้องตกลงให้หักออกจากเงินค่าจ้างดังกล่าว เงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวไม่ใช่ข้อตกลงในสัญญาจ้างเหมา จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยให้หักเงินดังกล่าวออกจากค่าจ้างจึงชอบแล้ว ส่วนกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้วชี้ขาดว่า ผู้ร้องทำงานไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาในสัญญาถือว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญา เป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐานและปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และบังคับผู้ร้องตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 18,624,981.52 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านโดยยืนยันตามคำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 3/2555 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 88/2558 ระหว่าง บริษัทดี – แลนด์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ร้อง (ผู้คัดค้านคดีนี้) กับ บริษัทบ้านตัง จำกัด ผู้คัดค้าน (ผู้ร้องคดีนี้) โดยให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 18,624,981.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านชำระค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการชั้นอนุญาโตตุลาการฝ่ายละกึ่งหนึ่ง และให้ผู้ร้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมในคดีนี้แทนผู้คัดค้านโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท และให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมตามคำร้องขอของผู้ร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า การขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 บัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ แต่ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ กลับขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดมาในคำคัดค้าน จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องและมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาในคำคัดค้านโดยชำระค่าขึ้นศาลจำนวน 50,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นตามใบรับเงินในราชการศาลยุติธรรมลงวันที่ 3 ธันวาคม 2558 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านมาด้วย ชอบด้วยตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1) (ข) จึงถือได้ว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามชี้ขาดนั้น ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นเหตุให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดนั้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างผู้ร้องให้ก่อสร้างอาคารรวม 2 ฉบับ ต่อมาเกิดข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญา ผู้คัดค้านจึงเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามที่ระบุไว้ในสัญญาทั้งสองฉบับข้อ 16.3 ในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องยื่นคำคัดค้านและเรียกร้องแย้งเข้ามาในคดี ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้แต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการรวม 3 คน เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดจนเสร็จและคณะอนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 18,624,981.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน และยกข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้อง ในปัญหานี้ ผู้ร้องนำสืบโดยมีนายสิทธิชน ทนายผู้ร้องและนายบุญส่ง กรรมการบริษัทผู้ร้องมาเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันได้ความว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับการนำเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในลักษณะสินบนเพื่อมิให้ดำเนินคดีแก่แรงงานต่างด้าวอันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายมาหักกับเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้ร้องนั้น ไม่อาจกระทำได้ เมื่อมีการหักเงินเช่นนั้น จึงต้องฟังว่ามีการชำระค่าจ้างให้แก่ผู้ร้องไม่ครบถ้วนและเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา คณะอนุญาโตตุลาการยังวินิจฉัยและชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทขัดต่อหลักกฎหมายเพราะคู่พิพาทนำสืบพยานหลักฐานว่าผู้คัดค้านส่งมอบแบบสถาปัตยกรรมล่าช้ามีการแก้ไขแบบหลายครั้ง เป็นเหตุให้การก่อสร้างต้องล่าช้าออกไปจากที่กำหนดในสัญญา อีกทั้งเมื่อพ้นกำหนดส่งมอบงานแล้วผู้ร้องได้ส่งมอบงานและผู้คัดค้านก็รับมอบงานไว้และจ่ายเงินค่าจ้างแก่ผู้ร้อง อันเป็นการเปลี่ยนแปลงในข้อสาระสำคัญแห่งสัญญาโดยมิได้ถือกำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป แต่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า คู่พิพาทถือเอากำหนดเวลาในสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้คณะอนุญาโตตุลากายังจงใจหรือประมาทเลินเล่อวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทผิดหลงไปจากข้อต่อสู้ของคู่พิพาท โดยผู้ร้องต่อสู้ว่าผู้คัดค้านไม่ดำเนินการทำถนนภายในโครงการให้แล้วเสร็จเพื่อให้ผู้ร้องเข้าทำการก่อสร้างได้ แต่คณะอนุญาโตตุลาการกลับตั้งประเด็นวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีหน้าที่ทำถนนคอนกรีตเพื่อให้ผู้ร้องเข้าทำงานได้หรือเพียงแต่ทำการถมดินลูกรังตามสัญญา โดยอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้คัดค้านมิได้ทำถนนคอนกรีต จึงมิใช่เงื่อนไขที่ผู้ร้องจะนำมากล่าวอ้างว่าเป็นเหตุล่าช้าได้ อีกทั้งคณะอนุญาโตตุลาการยังมิได้หยิบยกรายงานการประชุมครั้งที่ 22 ฉบับลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 และพยานบุคคลที่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวซึ่งมีการประชุมเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบงานขยายออกไปจากที่กำหนดในสัญญา อันเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ทำให้เกิดผลแพ้ชนะกันขึ้นวินิจฉัย หากหยิบยกขึ้นวินิจฉัยจะทำให้ผู้ร้องมิได้เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนฝ่ายผู้คัดค้านนำสืบโดยมีนายสุเมธี ทนายผู้คัดค้านและในฐานะผู้รับมอบอำนาจ และนายศิริพงษ์ กรรมการบริษัทผู้คัดค้าน มาเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างผู้ร้องให้ก่อสร้างอาคารรวม 2 ฉบับ ภายหลังจากทำสัญญาผู้ร้องก่อสร้างล่าช้าซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ผู้คัดค้านจึงบอกเลิกสัญญาและเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าสืบและคณะอนุญาโตตุลาการได้ทำการวินิจฉัยประเด็นว่าฝ่ายใดปฏิบัติผิดสัญญา โดยฟังข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านมีสิทธินำเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวมาหักจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างแก่ผู้ร้อง เพราะผู้ร้องต้องการเร่งการก่อสร้าง จึงต้องว่าจ้างคนงานต่างด้าว ผู้คัดค้านได้ออกเงินทดรองจ่ายเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวไปก่อน โดยผู้ร้องตกลงให้หักออกจากเงินค่าจ้างดังกล่าว เงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวไม่ใช่ข้อตกลงในสัญญาจ้างเหมา ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยพยานหลักฐานแล้วชี้ขาดว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการก่อสร้าง การประชุมในเดือนพฤศจิกายน 2554 ของคู่สัญญานั้นเป็นเพียงการเร่งรัดให้ผู้ร้องดำเนินการก่อสร้างอาคารให้ทันเปิดตัวโครงการเท่านั้น มิใช่การตกลงขยายระยะเวลาการส่งมอบอาคาร ส่วนกรณีผู้คัดค้านแก้ไขแบบแปลนก็เป็นเพียงการแก้ไขเพื่อความเหมาะสม ไม่ได้กระทบกับโครงสร้างหลักและเป็นการแก้ไขเล็กน้อยไม่กระทบต่อการก่อสร้าง สำหรับการถมดินและทำถนนในโครงการ ผู้คัดค้านได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว เมื่อผู้ร้องทำงานไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาในสัญญา จึงถือว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาคณะอนุญาโตตุลาการทำการวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่นำสืบกันมา จึงเป็นการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย คำชี้ขาดดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งที่คู่สัญญาอาจจะตกลงกันเพื่อให้มีการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทโดยบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นและยอมรับที่จะผูกพันตามคำชี้ขาดนั้นแทนที่จะนำข้อพิพาทไปสู่การพิจารณาของศาล เมื่อคู่สัญญาเลือกใช้วิธีดังกล่าวและในที่สุดคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้ว คู่สัญญาก็ต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลจะเข้ามาเกี่ยวข้องเฉพาะการทบทวนตรวจสอบกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการและการบังคับตามคำชี้ขาดว่าคำชี้ขาดนั้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างชัดแจ้งหรือการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือไม่เท่านั้น หากคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายหรือใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดนั้นได้ ที่คณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีสิทธินำเงินค่าเคลียร์แรงงานคนต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจมาหักออกจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างแก่ผู้ร้องเพราะผู้ร้องต้องการเร่งการก่อสร้าง จึงต้องว่าจ้างคนงานต่างด้าว ผู้คัดค้านได้ออกเงินทดรองจ่ายเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวไปก่อน โดยผู้ร้องตกลงให้หักออกจากเงินค่าจ้างดังกล่าวนั้น เห็นว่า เงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อมิให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญาแก่แรงงานคนต่างด้าวในข้อหาทำงานในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายมีลักษณะเป็นเงินสินบนที่ให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้ไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้ร้องตกลงให้ผู้คัดค้านหักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวดังกล่าวออกจากเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ผู้คัดค้านว่าจ้างผู้ร้องให้ทำการก่อสร้างอาคารในคดีนี้ได้ ข้อตกลงที่ให้หักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวออกจากเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ข้อตกลงนั้นจึงตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีสิทธินำเงินค่าเคลียร์แรงงานคนต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจมาหักจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างแก่ผู้ร้องนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การยอมรับหรือการบังคับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนดังกล่าวได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้โดยวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้แล้วว่า หลังจากที่ผู้ร้องได้รับเอกสารรายการหักเงินต่าง ๆ แล้วไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ทักท้วงถึงความไม่ถูกต้องของเงินดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการยอมรับโดยปริยายว่ายอมให้ผู้คัดค้านหักเงินส่วนนี้ได้ เสมือนเป็นการที่ผู้ร้องกระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้ร้องไม่อาจเรียกคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องในส่วนนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ไม่หยิบยกรายงานการประชุมครั้งที่ 22 ฉบับลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบงานกันใหม่เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 อันเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ทำให้เกิดผลแพ้ชนะขึ้นวินิจฉัยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากคณะอนุญาโตตุลาการได้พิจารณารายงานการประชุมดังกล่าวจะเห็นเจตนาของผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารในคดีนี้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาเป็นสาระสำคัญ ผู้ร้องจึงมิได้ก่อสร้างอาคารล่าช้าและมิได้เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการลงวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ที่ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยผู้คัดค้านเรียกร้องให้ผู้ร้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน เนื่องจากผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาโดยก่อสร้างอาคารล่าช้าไม่ส่งมอบงานก่อสร้างภายในกำหนดเวลาตามสัญญา ผู้ร้องได้ยื่นคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งว่า ภายหลังจากทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างทั้งสองฉบับแล้ว ผู้คัดค้านส่งมอบแบบแปลนแก่ผู้ร้องล่าช้ามาก ระหว่างการก่อสร้างผู้คัดค้านได้แก้ไขแบบหลายครั้งทำให้ผู้ร้องไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ ผู้คัดค้านไม่ได้ดำเนินการถมที่ดินบริเวณสถานที่ก่อสร้างและถมลูกรังบริเวณถนนภายในโครงการให้แล้วเสร็จทั้งหมดเพื่อส่งมอบพื้นที่ในการก่อสร้างให้แก่ผู้ร้อง แต่เป็นการทยอยถมไปทีละส่วน ผู้ร้องจึงเข้าทำการก่อสร้างเฉพาะส่วนที่ผู้คัดค้านถมที่แล้วเสร็จเท่านั้น เมื่อผู้ร้องส่งมอบงาน ผู้คัดค้านก็รับมอบงานและชำระค่าจ้างให้โดยมิได้อิดเอื้อนหรือทักท้วงสงวนสิทธิไว้ จึงเป็นการที่ผู้คัดค้านและผู้ร้องต่างไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาในการส่งมอบงานตามสัญญาเป็นสาระสำคัญในการปฏิบัติต่อกันอีกต่อไป ผู้ร้องจึงมิได้ปฏิบัติผิดสัญญา ความล่าช้าในการก่อสร้างเกิดจากผู้คัดค้านเอง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ร้อง จากคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องในชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องได้โต้แย้งว่ามีรายงานการประชุมครั้งที่ 22 ฉบับลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบงานกันใหม่เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 แต่อย่างใด ดังนี้ การที่คณะอนุญาโตตุลาการมิได้หยิบยกรายงานการประชุมดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยในคำชี้ขาด จึงมิใช่การดำเนินกระบวนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทจากพยานหลักฐานเท่าที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านเสนอขึ้นมาว่า สัญญาก่อสร้างทั้งสองฉบับมีกำหนดระยะเวลาส่งมอบงานไว้แล้ว เมื่อผู้ร้องก่อสร้างอาคารล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญา ผู้ร้องย่อมเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา จึงเป็นคำชี้ขาดที่คณะอนุญาโตตุลาการได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เฉพาะในส่วนที่ไม่รวมถึงคำชี้ขาดที่วินิจฉัยให้ผู้คัดค้านมีสิทธินำเงินค่าเคลียร์แรงงานคนต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจมาหักจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างแก่ผู้ร้อง เป็นการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้ร้องในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับจำนวนเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจนั้น ผู้ร้องมีนายสิทธิชัยเบิกความว่า นางสาวศิริพร พนักงานบัญชีของผู้คัดค้านทำหน้าที่เบิกจ่ายเงินค่างวดงานระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน เป็นพยานผู้คัดค้านในชั้นอนุญาโตตุลาการให้การว่า ได้หักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวคืนผู้บริหารที่จ่ายไปให้ก่อนจำนวน 2 เดือน เดือนละ 42,000 บาท รวม 84,000 บาท สอดคล้องกับจำนวนเงินที่ปรากฏในสำเนาหนังสือบอกกล่าวทวงถามที่ผู้คัดค้านมีถึงผู้ร้องเรื่อง ค่าเคลียร์ตำรวจ ผู้คัดค้านมีนายสุเมธีเบิกความว่า กรรมการผู้คัดค้านคนหนึ่งได้มีการสำรองจ่ายเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวไปก่อนรวม 2 เดือน เป็นจำนวนเงิน 84,000 บาท ตามคำให้การพยานผู้เรียกร้องของนางสาวศิริพร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้เจ้าพนักงานตำรวจนั้นเป็นจำนวน 84,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 3/2555 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 88/2558 เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีสิทธินำเงินค่าเคลียร์แรงงานคนต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจจำนวน 84,000 บาท มาหักออกจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างแก่ผู้ร้อง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนอื่นนอกจากส่วนที่ให้เพิกถอนดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ