คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10661/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยได้ยื่นคำขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ ก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยย่อมต้องผูกพันในกระบวนการที่จำเลยเลือกใช้สิทธิและโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลจนกว่ากระบวนการดังกล่าวจะสิ้นสุดหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ ว. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยจะยื่นคำขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ภายใน 1 ปี นับจากวันประกาศโฆษณาการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตรก่อนฟ้องคดีนี้ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ ประกอบมาตรา 65 ทวิ และยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบการประดิษฐ์ก็ตาม แต่การยื่นคำขอกระทำโดยจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งโจทก์ทั้งสองไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ทั้งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นเรื่องที่ฟ้องในมูลละเมิดอนุสิทธิบัตร หากถือว่าโจทก์ทั้งสองยังไม่มีอำนาจฟ้องอาจเปิดโอกาสให้มีการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองต่อไปผ่านทางการใช้สิทธิในการขอตรวจสอบการประดิษฐ์เพียงเพื่อให้มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองต้องรอจนกว่ากระบวนการนี้จะสิ้นสุด ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง การยื่นคำขอของจำเลยให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองให้ต้องรอจนกว่าการตรวจสอบการประดิษฐ์นั้นจะเสร็จสิ้นก่อนฟ้องคดีนี้ เมื่อได้ความตามคำฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองได้ประดิษฐ์เครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ให้มีระบบคืนเงินตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 จำเลยผลิตเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ใช้ชื่อทางการค้า “มินิ ไชโย ท็อปอัพ” มีระบบการคืนเงินเหมือนกับข้อถือสิทธิและลักษณะพิเศษเฉพาะตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้บังคับตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองเพื่อเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยในมูลละเมิดได้
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิเดือนละ 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะยุติการละเมิด โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงความเสียหายจากการขาดประโยชน์หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรกำหนดให้โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหายรวมทั้งการสูญประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 และมาตรา 77 ตรี เป็นเงิน 30,000 บาท โดยไม่กำหนดค่าขาดประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรคือ ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ทั้งสองซื้อเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์เพื่อนำมาตรวจพิสูจน์เป็นเงิน 29,000 บาท ค่าจ้างบริษัท ก. ให้ตรวจพิสูจน์เครื่องเติมเงินแบบออนไลน์เป็นเงิน 5,000 บาท และค่าจ้างทนายความเป็นเงิน 50,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีพยานหลักฐานมานำสืบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองว่า มีการซื้อเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์และส่งให้ตรวจพิสูจน์ จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้ นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองได้อ้างส่งสัญญาว่าจ้างทนายความซึ่งระบุชื่อทนายความเป็นผู้รับจ้างตกลงรับค่าจ้างทนายความจากโจทก์ทั้งสองผู้ว่าจ้างจำนวน 50,000 บาท โดยผู้ว่าจ้างตกลงให้ผู้รับจ้างฟ้องจำเลยในข้อหาละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าจ้างทนายความถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 77 ตรี เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยยุติการผลิตและจำหน่าย เสนอจำหน่ายเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ ภายใต้ชื่อทางการค้า “มินิ ไชโย ท็อปอัพ” หรือภายใต้ชื่อทางการค้าอื่นซึ่งเป็นของจำเลยที่มีระบบการคืนเงินเหมือนกับข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 อันเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยเรียกเก็บคืนเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ที่วางให้บริการในท้องตลาดภายใต้ชื่อทางการค้า “มินิ ไชโย ท็อปอัพ” หรือภายใต้ชื่อทางการค้าอื่นซึ่งเป็นของจำเลยที่มีระบบการคืนเงินเหมือนกับข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 อันเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองจากการอนุญาตให้ใช้อนุสิทธิบัตรเป็นเงิน 100,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองจากการอนุญาตให้ใช้อนุสิทธิบัตรเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ เลขที่ 4816 เป็นเงิน เดือนละ 200,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะยุติการละเมิด ให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายในการบังคับตามสิทธิเป็นเงิน 84,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาเพิกถอนอนุสิทธิบัตร เลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย เมื่อจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ ปัญหาว่าจำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองเนื่องจากไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ จึงยุติ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร เลขที่ 0703000156 ชื่อการประดิษฐ์ เครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ ประกาศโฆษณาวันที่ 27 มีนาคม 2552 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 นายวัฒนา หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลย ได้ยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์อนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นระยะเวลาภายในกำหนด 1 ปี นับจากวันที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศโฆษณาการจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า การที่จำเลยได้ยื่นคำขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ ก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยย่อมต้องผูกพันในกระบวนการที่จำเลยเลือกใช้สิทธิและโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลจนกว่ากระบวนการดังกล่าวจะสิ้นสุดหรือไม่ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกอนุสิทธิบัตรให้โจทก์ทั้งสองตามขั้นตอนของกฎหมาย อนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองจึงสมบูรณ์ โจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยอนุสิทธิบัตรทุกประการ ตราบใดที่ยังไม่มีการเพิกถอนอนุสิทธิบัตร โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่กระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง ส่วนที่จำเลยยื่นคำขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตร เลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง ทำให้จำเลยเท่านั้นที่ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง เนื่องจากจำเลยต้องรอกระบวนการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรเสียก่อนนั้น เห็นว่า แม้นายวัฒนา หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยจะยื่นคำขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ ภายใน 1 ปี นับจากวันประกาศโฆษณา การจดทะเบียนการประดิษฐ์และออกอนุสิทธิบัตรก่อนฟ้องคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ ประกอบมาตรา 65 ทวิ และยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบการประดิษฐ์ก็ตาม แต่การยื่นคำขอกระทำโดยจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งโจทก์ทั้งสองไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ทั้งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นเรื่องที่ฟ้องในมูลละเมิดอนุสิทธิบัตร หากถือว่าโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องอาจเปิดโอกาสให้มีการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองต่อไป ผ่านทางการใช้สิทธิในการขอตรวจสอบการประดิษฐ์เพียงเพื่อให้มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองต้องรอจนกว่ากระบวนการนี้จะสิ้นสุด ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง การยื่นคำขอของจำเลยให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองให้ต้องรอจนกว่าการตรวจสอบการประดิษฐ์นั้นจะเสร็จสิ้นก่อนฟ้องคดีนี้ เมื่อได้ความตามคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ประดิษฐ์เครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ให้มีระบบคืนเงินตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 จำเลยผลิตเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ใช้ชื่อทางการค้า “มินิ ไชโย ท็อปอัพ” มีระบบการคืนเงินเหมือนกับข้อถือสิทธิและลักษณะพิเศษเฉพาะตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้บังคับตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองเพื่อเยียวยาความเสียหาย อันเกิดจากการกระทำของจำเลยในมูลละเมิด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยว่าละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองโดยเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 65 ฉ ก่อน นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
สำหรับที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า อนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การอย่างชัดเจนว่า งานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้วมีลักษณะการประดิษฐ์อย่างไรและอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองเหมือนกับงานดังกล่าวอย่างไร จึงเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำให้การ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยละเมิดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง โดยระบบการทำงานของเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ของจำเลยมีระบบการคืนเงินตามขั้นตอนพิเศษเหมือนกับข้อถือสิทธิและลักษณะพิเศษเฉพาะตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ แต่คู่ความทุกฝ่ายได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวน โจทก์ทั้งสองมีโจทก์ที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2552 โจทก์ที่ 1 ได้ให้นางสาวอังคนา พนักงานซึ่งทำงานให้โจทก์ทั้งสองซื้อเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ของจำเลยที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า “มินิ ไชโย ท็อปอัพ” มีนายสนธยา ไปรับเครื่องเติมเงินจากจำเลย โจทก์ทั้งสองได้ว่าจ้างบริษัทกัลฟ์ อีสท์ เซอร์เวย์ (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมีนายสุพัฒน์ ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ตรวจพิสูจน์เครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ของจำเลย พบว่า ระบบการทำงานของเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ของจำเลยมีระบบการคืนเงินตามขั้นตอนพิเศษเหมือนกับการประดิษฐ์ระบบการคืนเงินของเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ในข้อถือสิทธิและลักษณะพิเศษตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองมีนายสนธยา เบิกความสนับสนุนว่า ได้มีการติดต่อขอซื้อเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ “มินิ ไชโย ท็อปอัพ” มาจากจำเลยจริง ซึ่งทนายจำเลยไม่ได้ถามค้านพยานปากนี้ ทั้งโจทก์ทั้งสองยังมีโจทก์ที่ 2 และนายสุพัฒน์ มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานในทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ที่ 2 และนายสุพัฒน์ได้ร่วมกันตรวจสอบเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ของจำเลย โดยเริ่มจากโจทก์ที่ 2 ดึงข้อมูลของตัวรับส่งข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ของจำเลยขึ้นมาแสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อดูข้อมูล นายสุพัฒน์ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลและถ่ายรูปไว้ มีรายละเอียดที่แสดงให้เห็นการถอดรหัสการทำงานของเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ โจทก์ที่ 2 สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ของจำเลยมีการรอรับ “SMS” และมีการอ่าน “SMS” นั้น ซึ่งจะบ่งบอกถึงความสำเร็จเพื่อใช้ในการนำเงินเข้าที่เก็บเงินภายใน และจะบอกถึงความไม่สำเร็จ หากเครื่องได้ทำการตรวจสอบเงินคงเหลืออีก เมื่อเงินไม่ลดลง ก็คืนเงินออกทางช่องคืนเงิน ซึ่งก็คือระบบคืนเหรียญนั่นเอง ระบบการทำงานจึงเหมือนกับระบบการคืนเงินตามขั้นตอนพิเศษตามข้อถือสิทธิและลักษณะพิเศษเฉพาะตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยนำสืบในปัญหาข้อนี้เพียงว่า จำเลยเคยประดิษฐ์เครื่องเติมเงินโทรศัพท์ออนไลน์ “KP Phone” ที่มีระบบคืนเงินหรือคืนเหรียญมาก่อนโจทก์ทั้งสองเท่านั้น โดยไม่นำสืบพยานหลักฐานหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองข้างต้นว่าจำเลยไม่ได้ผลิตสินค้าเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ที่มีระบบการคืนเงินเหมือนข้อถือสิทธิและลักษณะพิเศษตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยได้ขายเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ “มินิ ไชโย ท็อปอัพ” ที่มีระบบการคืนเงินตามขั้นตอนพิเศษเหมือนกับระบบการคืนเงินของเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ในข้อถือสิทธิและลักษณะพิเศษเฉพาะตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด เห็นว่า โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิเดือนละ 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะยุติการละเมิด แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงความเสียหายจากการขาดประโยชน์หรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรกำหนดให้โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหายรวมทั้งการสูญประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 และมาตรา 77 ตรี เป็นเงิน 30,000 บาท โดยไม่กำหนด ค่าขาดประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรคือ ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ทั้งสองซื้อเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์เพื่อนำมาตรวจพิสูจน์เป็นเงิน 29,000 บาท ค่าจ้างบริษัทกัลฟ์ อีสท์ เซอร์เวย์ (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ตรวจพิสูจน์เครื่องเติมเงินแบบออนไลน์เป็นเงิน 5,000 บาท และค่าจ้างทนายความเป็นเงิน 50,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีพยานมานำสืบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรโดยจำเลยมิได้มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้รับฟังได้เป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้ซื้อเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ของจำเลยเพื่อนำมาตรวจพิสูจน์ว่าจำเลยได้ละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน จำนวน 29,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้จ่ายค่าจ้างบริษัทกัลฟ์ อีสท์ เซอร์เวย์ ไทยแลนด์ จำกัด ให้ตรวจพิสูจน์เครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ของจำเลยจำนวน 5,000 บาท ตามใบ “INVOICE” ค่าซื้อเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์และค่าตรวจพิสูจน์เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 77 ตรี จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรทั้งสองจำนวนแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองได้อ้างส่งสัญญาว่าจ้างทนายความ ซึ่งระบุว่า นายฉัตรบดี ทนายความซึ่งเป็นผู้รับจ้างตกลงรับค่าจ้างทนายความจากโจทก์ทั้งสองผู้ว่าจ้างจำนวน 50,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสองผู้ว่าจ้างตกลงให้นายฉัตรบดีผู้รับจ้างฟ้องจำเลยในข้อหาละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าจ้างทนายความจำนวน 50,000 บาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 77 ตรี เช่นกัน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าจ้างว่าความจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองด้วย รวมเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวนทั้งสิ้น 84,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองจำนวน 30,000 บาท แล้ว จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองผู้ทรงอนุสิทธิบัตรรวมจำนวน 114,000 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยหยุดการกระทำอันเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4816 ของโจทก์ทั้งสอง และยุติการผลิต จำหน่าย เสนอจำหน่ายเครื่องเติมเงินแบบออนไลน์ที่ใช้ชื่อทางการค้า “มินิ ไชโย ท็อปอัพ” ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 114,000 บาท กับใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความในชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำนวน 10,000 บาท ในชั้นอุทธรณ์ จำนวน 5,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share