คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ ย่อมมีความหมายครอบคลุมถึงการเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในตัวแล้ว การที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินเลยหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด นอกจากนี้ที่โจทก์มีคำขอให้พิพากษาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อหาและข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยเหตุที่ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมีเฉพาะเกี่ยวกับเหตุที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เท่านั้น ไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยในข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 รวมทั้งข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการในการรับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราอื่น ดังนั้น แม้คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จะเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งสมควรต้องเพิกถอนดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นก็ตาม แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการพิจารณาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน หาใช่โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลยไม่ จึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวได้ คงพิพากษาให้ได้แต่เพียงว่าให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 703700 เป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ และให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทส่วนราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า และมีจำเลยที่ 2 เป็นอธิบดีซึ่งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 3 รายการสินค้า โลชั่นบำรุงผิวหน้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์มีบางส่วน ที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จึงให้โจทก์ยื่นหนังสือเพื่อแสดงเจตนาว่าจะไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำบรรยายอักษรโรมันทั้งหมด และเลขอารบิก เว้นคำว่า “Cute Press” และอักษร “M” กับสละสิทธิรูปบรรยายรูปพระจันทร์เสี้ยว และแจ้งว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะต้องจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกัน นอกจากนี้นายทะเบียนยังมีคำสั่งว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คือ คำขอเลขที่ 625753 ทะเบียนเลขที่ ค.249351 ซึ่งได้แก่เครื่องหมายการค้า ของนางวาณี ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2552 โจทก์ยื่นหนังสือแสดงการปฏิเสธสิทธิว่า โจทก์ไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้คำบรรยายอักษรโรมันทั้งหมด เลขอารบิก เว้นแต่คำว่า “Cute Press” และอักษร “M” และสละสิทธิรูปบรรยายรูปพระจันทร์เสี้ยว พร้อมทั้งยื่นหนังสือขอจดทะเบียนเครื่องหมายชุด และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยสรุปว่า เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาคส่วนอักษรโรมัน “M” อันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายที่มีลักษณะประดิษฐ์และการจัดวางตัวอักษรโรมัน “M” อยู่ในกรอบรูปทรงเรขาคณิตเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว แตกต่างกันเพียงเป็นรูปทรงเรขาคณิตรูปสี่เหลี่ยมกับรูปวงรีเท่านั้น แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีภาคส่วนตัวเลขอารบิกและคำว่า “Cute Press MOISTURE MILK WHITE & FIRM NIGHT LOTION 3X Skin Energy CyPA TM ALL SKIN TYPES” และรูปพระจันทร์เสี้ยวประกอบอยู่ด้วย แต่โจทก์ได้ปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้ตัวเลขอารบิก และข้อความว่า “MOISTURE MILK WHITE & FIRM NIGHT LOTION 3X Skin Energy CyPA TM ALL SKIN TYPES” กับรูปพระจันทร์เสี้ยวไว้แล้ว ตัวเลขอารบิก คำ และรูปดังกล่าว จึงมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วแม้จะมีภาคส่วนคำว่า “MOCANI” ประกอบอยู่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อาจเรียกขาน ได้ว่า “เอ็ม – คิวท์-เพรส” หรือ “เอ็ม” ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วอาจเรียกขานได้ว่า “เอ็ม – โม – คา – นี่” หรือ “เอ็ม” นับว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน และรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีมติยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันคำว่า “Cute Press” อักษรโรมันตัวประดิษฐ์ “M” อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมมุมมน ด้านบนของกรอบมีคำว่า “MOISTURE” ด้านล่างของกรอบมีคำว่า “MILK” บรรทัดที่อยู่ถัดลงมามีรูปพระจันทร์เสี้ยวประดิษฐ์ และข้อความว่า “WHITE & FIRM NIGHT LOTION” บรรทัดต่อมามีข้อความว่า “3X Skin Energy CyPA TM” และบรรทัดสุดท้ายมีข้อความว่า “ALL SKIN TYPES” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว อักษรโรมันประดิษฐ์ “M” อยู่บนวงกลม ซึ่งวงกลมและอักษรดังกล่าวอยู่ภายในวงรีสองชั้น โดยวงกลม ตัวอักษร และวงรีดังกล่าวอยู่ภายในวงรีใหญ่ที่มีขอบสีเข้ม ด้านล่างของวงรีใหญ่มีคำว่า “MOCANI” รูปลักษณะโดยรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านบนของเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า “Cute Press” ซึ่งโจทก์ไม่ได้แสดงการปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวไว้ ส่วนด้านล่างของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีคำว่า “MOCANI” ทั้งสองคำดังกล่าวต่างเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า เพราะต่างใช้อักษรขนาดใหญ่ ตัวอักษรหนา และมีความเด่นชัด ผู้บริโภคสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างคำว่า “Cute Press” และ “MOCANI” ได้โดยง่าย ส่วนอักษรโรมันประดิษฐ์ “M” นั้น แม้จะมีลักษณะของลายเส้นคล้ายคลึงกัน แต่องค์ประกอบโดยรอบอื่น ๆ นอกเหนือจากตัวอักษรโรมัน “M” ดังกล่าวมีความแตกต่างกันมาก เห็นชัดเจนจากกรอบที่ล้อมรอบอักษรโรมันประดิษฐ์ “M” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นกรอบสี่เหลี่ยมมุมมนและเป็นเส้นบาง ส่วนอักษรโรมันประดิษฐ์ “M” ในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีวงรีล้อมรอบและล้อมรอบด้วยวงกลมใหญ่ที่อยู่ด้านนอกสุดเป็นสีเข้ม รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงแตกต่างกัน สำหรับเสียงเรียกขานนั้น โจทก์ระบุคำอ่านเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ดังนี้ บรรทัดแรกว่า “คิวท์ – เพรส” บรรทัดที่สอง อ่านว่า “มอยส์ – เจอร์” บรรทัดที่สาม อ่านว่า “มิลล์” บรรทัดที่สี่ อ่านว่า “ไวท์ – แอนด์ – เฟิร์ม – ไนท์ – โล – ชั่น” บรรทัดที่ห้า อ่านว่า “ทรี – เอ็กซ์ – สกิน – อิ – เนอร์ – จี้ – ซี – วาย – พี – เอ – ที – เอ็ม” และบรรทัดที่หกอ่านว่า “ออล – สกิน – ไทพ” ซึ่งทางปฏิบัติในการเรียกขานสินค้าของโจทก์สาธารณชนผู้บริโภคคงจะมิได้เรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกคำเต็มตามที่โจทก์ระบุ เมื่อนำคำว่า “Cute Press” และ “MOCANI” ซึ่งเป็นสาระสำคัญ มาประกอบกับอักษรโรมันประดิษฐ์ “M” สาธารณชนผู้บริโภคอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามลักษณะที่เห็นว่า “คิวท์- เพรส- เอ็ม” แต่อาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่า “เอ็ม – โม – คา – นี่” ด้วยรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้ากับสำเนียงและจำนวนพยางค์ในการเรียกขานที่แตกต่างกันนั้น สาธารณชนผู้บริโภคย่อมสามารถแยกแยะสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวได้โดยง่าย ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 703700 จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ด้วยเหตุตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13 ตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีเหตุสมควรต้องเพิกถอน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น และแม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 703700 เป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ ย่อมมีความหมายครอบคลุมถึงการเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในตัวแล้ว การที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงไม่ถือเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด นอกจากนี้ ที่โจทก์มีคำขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนตามคำของเลขที่ 703700 เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อหาและข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยเหตุที่เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมีเฉพาะเกี่ยวกับเหตุที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เท่านั้น ไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยในข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 รวมทั้งข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการในการรับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราอื่น ดังนั้น แม้คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จะเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งสมควรต้องเพิกถอนดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นก็ตาม แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการพิจารณาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน หาใช่โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลยไม่ จึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ คงพิพากษาให้ได้แต่เพียงว่าให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปเท่านั้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามหนังสือของสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ พณ 0704/871 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 473/2556 ที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 703700 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 703700 ต่อไป คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share