คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3137/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลอาญาในข้อหาว่ายักยอกเวชภัณฑ์และยาจำนวนเดียวกันกับคดีนี้ ขอให้ลงโทษและให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคายาเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกเอายาที่เบิกไปจากคลังเวชภัณฑ์อนามัยภาค 6 ในวันที่17 กุมภาพันธ์ 2520 เพียงครั้งเดียว พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 กับให้คืนหรือใช้ราคายา คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาเพราะถือว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ ทั้งโจทก์ต้องห้ามมิให้นำคดีมารื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 อีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเอายาที่เบิกครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 แต่พิพากษายกฟ้องเพราะฟังไม่ได้ว่านายธำรง รองผู้ว่าราชการมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทั้งยังได้กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว ปะเด็นที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเอายาที่เบิกเมื่อวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2520 ไป จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่านายธำรง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายในการฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับยาและเวชภัณฑ์ที่จำเลยที่1เบิกจากคลังเวชภัณฑ์ภาค 6 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 แล้วยักยอกเอาไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1 กระทำผิดหรือละเว้นกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้น ๆ จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเภสัชกรมีหน้าที่ทำใบเบิก รับ – ส่ง ทำบัญชีเวชภัณฑ์และเขียนใบเสร็จรับเงินค่ายาระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 จำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่โดยทำใบเบิกเวชภัณฑ์ของศูนย์บริการสาธารณสุข 26 ไปเบิกเวชภัณฑ์และยาชนิดต่าง ๆ จากอนามัยภาค 6 อันเป็นทรัพย์สินของโจทก์แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวรวม 8 ครั้ง เป็นเงินจำนวนหนึ่ง จำเลยที่ 1 ถูกไล่ออกจากงานเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2520 จึงได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ขณะนี้พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญา ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาเวชภัณฑ์จำนวน 129,956.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่เคยทุจริตต่อหน้าที่และไม่เคยนำเวชภัณฑ์ตามฟ้องเป็นประโยชน์ส่วนตัว จำนวนเวชภัณฑ์และยาตามฟ้องรวมทั้งหมดคำนวณราคาเกินความจริง จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 26 เมื่อ ปี พ.ศ. 2519 ไม่มีหน้าที่แน่นอน ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ลูกมือของเภสัชกรเกี่ยวกับการนับจำนวนยา ปิดสลากยา และกรอกยาใส่ขวด ปฏิบัติหน้าที่ได้ 2 ปี แพทย์หญิงพรรณงามให้จำเลยไปเบิกยาทุกชนิดตามแต่จะสั่ง วิธีเบิกยาจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนใบเบิก ใบเบิกมี 2 ชุด คือตัวจริงและสำเนา ตัวจริงส่งให้คลังใหญ่ สำเนาส่งกลับมาที่ศูนย์ การรับยาจากคลังใหญ่จะลงลายมือชื่อรับยาไว้ล่วงหน้า ผู้ลงลายมือชื่อจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นจำเลยที่ 1 เมื่อรับยาแล้วก็ช่วยกันขนขึ้นรถ โดยไม่มีการนับหรือตรวจ จากนั้นนำยากลับไปศูนย์เก็บเข้าตู้ยาและใส่กุญแจ ไม่มีการลงลายมือชื่อรับยาเพราะแพทย์หรือเภสัชกรเกรงว่าหากลงลายมือชื่อจะต้องรับผิดชอบ ปฏิบัติเช่นนี้มานานปี การจ่ายยาให้คนไข้ถ้าเป็นคนไข้นอกจึงจะมีใบสั่ง แต่ถ้าคนไข้ภายในไม่มีใบสั่ง เป็นการขอด้วยวาจาต่อแพทย์หรือเภสัชกร เป็นเหตุให้ยาาดจำนวนได้ง่าย จำเลยที่ 1 ลาออกจากงานไม่ใช่ถูกไล่ออกภายหลังจำเลยที่ 1 ทราบว่ายาทางคลังใหญ่หายและได้มีการตรวจสอบ ทางภาค 6 เข้าใจว่าศูนย์บริการ 26 เบิกยาโดยไม่มีใบเบิก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เมื่อหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ก็โยนบาปให้จำเลยที่ 1 โดยถือว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับยามาจากคลังใหญ่ ซึ่งเป็นการลงลายมือชื่อล่วงหน้าก่อนได้ยาตามวิธีการที่กล่าวมาแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า หากจำเลยที่ 1 เบิกยาไปจริง ก็มิได้นำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โดยจำเลยที่ 1 ส่งมอบให้ผู้มีอำนาจรับของไปแล้ว และราคาที่แท้จริงไม่เกิน20,000 บาท จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้โจทก์และการที่จะบังคับเอากับจำเลยที่ 1 ก็ไม่เป็นการยาก โจทก์ต้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยทวงถาม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกการที่พนักงานอัยการกรมอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลอาญาในข้อหาว่ายักยอกเวชภัณฑ์และยาจำนวนเดียวกันนี้ ขอให้ลงโทษและให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคายาแก่ผู้เสียหายตามคดีหมายเลขแดงที่ 10131/2522 นั้นเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกเอายาที่เบิกไปจากคลังเวชภัณฑ์อนามัยภาค 6 ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 เพียงครั้งเดียว พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคายา 17,746.25 บาทแก่ผู้เสียหาย คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีหมายเลขแดงที่ 10131/2522 ด้วย เพราะถือได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนโจทก์ ทั้งโจทก์ต้องห้ามมิให้นำคดีมารื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อหลังว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเอายาที่เบิกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 แต่พิพากษายกฟ้องเพราะฟังไม่ได้ว่า นายธำรง รองผู้ว่าราชการมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวทั้งยังกล่าวในคำแก้อุทธรณ์ด้วยว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว ประเด็นที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเอายาที่เบิกไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 ไปจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อฟังว่า นายธำรง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายในการฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับยาและเวชภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 เบิกจากคลังเวชภัณฑ์ภาค 6 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 แล้วยักยอกเอาไป

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันคืนยาและเวชภัณฑ์ ตามรายการลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 แก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share