คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 หมวด 5 ค่าชดเชย มิได้ห้ามการหักกลบลบหนี้ไว้ ดังนั้น นายจ้างย่อมมีสิทธิหักค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่ลูกจ้างยืมไปจากนายจ้างได้
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะลูกจ้างกระทำผิดระเบียบของนายจ้าง มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนายจ้าง
เมื่อการกระทำของลูกจ้างมิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างที่ร้ายแรง นายจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง
คำให้การแก้ฟ้องแย้งโจทก์ต่อสู้แต่เพียงว่า จำเลยไม่อาจหักกลบลบหนี้ได้มิได้ปฏิเสธหนี้เงินกู้แต่ประการใด ดังนี้ จำเลยจะส่งสำเนากู้ยืมให้โจทก์หรือไม่ก็ฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยตามสัญญากู้ที่จำเลยฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 2,000 บาท และ 2,950 บาท เมื่อวันที่ 1เมษายน 2524 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 13,200 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน17,700 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 2,200 บาท และ 2,950 บาทแก่โจทก์ตามลำดับพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยปลดโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ออกจากงาน เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบและข้อบังคับของจำเลย โดยเบิกจ่ายพัสดุซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ไป โดยผิดระเบียบข้อบังคับของบริษัทจำเลย เป็นการไม่กระทำการตามหน้าที่ที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาทำให้จำเลยเสียหายเอกสารและพัสดุซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ขาดหายไปเป็นเงิน 44,259.82 บาท จำเลยขอฟ้องแย้งให้ศาลบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลยและโจทก์ที่ 1 กู้เงินจากจำเลยเป็นเงิน 12,529.51 บาท โดยโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ตกลงตามสัญญากู้ว่าถ้าโจทก์ที่ 1 ที่ 2พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยให้หนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนด ถ้าจำเลยต้องรับผิดในค่าชดเชยจำเลยก็สามารถหักกับค่าชดเชยได้ ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน 44,295.82 บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้อง่แย้งว่า โจทก์มิได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยผู้จัดการฝ่ายคนใหม่ไม่เข้าใจงานในแผนกซึ่งจะต้องรับผิดชอบเรื่องการเบิกจ่ายพัสดุได้จัดการเปลี่ยนแปลงระบบและระเบียบในการจัดเบิกของใหม่ โจทก์ที่ 1คัดค้านไม่เห็นชอบด้วย จึงมีสาเหตุไม่พอใจกันรวมทั้งโจทก์ที่ 2 ด้วย ต่อมาบริษัทจำเลยได้ย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ ได้มีการตรวจสอบเอกสารประมาณ 2 เดือนโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ป่วย และได้หยุดงาน ผู้จัดการฝ่ายคนใหม่เสนอรายงานต่อบริษัทว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ไม่ให้ความร่วมมือและมีคำสั่งพักงานโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำเลยไม่อาจนำหนี้เงินกู้มาหักกลบลบหนี้กับค่าชดเชยได้ ฟ้องแย้งเคลือบคลุมไม่ได้กล่าวให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้กระทำละเมิดอย่างไร อันจะทำให้โจทก์ต่อสู้คดีได้ถูกต้องโจทก์ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน670.49 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 17,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ลงรายการพัสดุไม่ถูกต้องไม่จัดทำทะเบียนพัสดุให้ครบถ้วนเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบของบริษัทจำเลยตามสำเนาคำสั่งที่ ก.095/2519 เรื่องกำหนดอำนาจหน้าที่การบริหารของบริษัทฯ ส่วนการบริหาร ฝ่ายบริการ 3 แผนก พัสดุครุภัณฑ์มีหัวหน้าแผนกเป็นผู้บังคับบัญชาและให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานในแผนกดังนี้จัดทำทะเบียนควบคุมพัสดุ ครุภัณฑ์ ทรัพย์สิน ของบริษัทฯ ทั้งในสำนักงานใหญ่และในสำนักงานส่วนภูมิภาคการที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 กระทำการดังกล่าวอาจทำให้บริษัทจำเลยเสียหายได้ การที่จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ออก จำเลยก็ได้กล่าวถึงความผิดของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ไว้ ในคำสั่งปลดนั้นด้วย การเลิกจ้างโจทก์ที่ 1ที่ 2 จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยแต่การกระทำของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานมิใช่กรณีที่ร้ายแรง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 หมวด 5 ค่าชดเชย มิได้ห้ามการหักกลบลบหนี้ไว้ ค่าชดเชยที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์กับหนี้เงินกู้ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต่างฝ่ายต่างผูกพันเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และเมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2พ้นจากการเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยถือว่าหนี้ถึงกำหนดชำระ คือถึงกำหนดชำระเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นหนี้ถึงกำหนดชำระด้วยกัน โจทก์จำเลยจึงนำหนี้เงินกู้หักกลบลบหนี้กับค่าชดเชยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 341 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญากู้ที่จำเลยนำส่งศาลรับฟังไม่ได้เพราะไม่ได้ส่งสำเนาให้โจทก์นั้น ตามคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์มีว่า ในเรื่องเงินกู้นั้นไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้ที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ได้ เพราะหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้กู้ยืมส่วนโจทก์ดำเนินการฟ้องจำเลยในเรื่องค่าชดเชยคำให้การดังกล่าวของโจทก์มิได้ปฏิเสธเรือ่งการเป็นหนี้เงินกู้จำเลยแต่ประการใด เพียงแต่ปฏิเสธเรื่องหักกลบลบหนี้ไม่ได้เท่ากัน ฉะนั้น เอกสารสัญญากู้จำเลยจะส่งสำเนาให้โจทก์หรือไม่ หรือจะไม่ส่งศาลเลยก็ฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยตามสัญญากู้ที่จำเลยฟ้องแย้ง ส่วนคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลยไม่ได้ขอหักกลบลบหนี้ไว้ด้วยตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยได้บรรยายไว้แล้วพอเห็นเจตนาของจำเลยได้ว่าต้องการขอหักกลบลบหนี้ค่าชดเชยกับหนี้ตามสัญญากู้

พิพากษายืน

Share