แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ใช้ “เสือ” เป็นเครื่องหมายการค้าซึ่ง “เสือ” เป็นสัตว์ตามธรรมชาติที่มีอยู่และพบเห็นทั่วไป ดังนั้น บุคคลต่างๆ ย่อมสามารถใช้ “เสือ” เป็นเครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน โจทก์ไม่อาจหวงกันห้ามบุคคลอื่นที่จะใช้ “เสือ” เป็นเครื่องหมายการค้า เว้นแต่ว่าเป็นการนำ “เสือ” ในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกันกับของโจทก์ไปใช้จนอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิด เมื่อส่วนของรูป “เสือ” โจทก์ใช้ภาพวาดรูป “เสือ” เสมือนจริงในลักษณะกระโจนไปทางซ้าย ในขณะที่จำเลยใช้ภาพวาดรูป “เสือ” ในลักษณะที่เป็นการ์ตูนคล้ายคนยืน ขาหน้าซ้ายไขว้หลังส่วนขาหน้าขวาจับสิ่งของลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงเห็นได้ว่า แม้จะมีแนวคิดในการใช้ “เสือ” เป็นเครื่องหมายการค้าเหมือนกัน แต่รูปลักษณะของ “เสือ” ตามที่ปรากฏต่อสายตาของสาธารณชนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดไปได้ ทั้งการพิจารณาว่าผู้บริโภคเกิดความสับสนหลงผิดหรือไม่นั้น ก็จะต้องพิจารณาถึงความสับสนหลงผิดในความทรงจำเกี่ยวกับ “รูปเครื่องหมายการค้า” เป็นสำคัญด้วย หาใช่ว่ารูป “เสือ” ในลักษณะที่แตกต่างกันเช่นใด ก็ถือว่าก่อให้เกิดความสับสนหลงผิดได้
สำหรับอักษรโรมันคำว่า “TIGER” นั้น เป็นคำสามัญทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรม บุคคลต่างๆ สามารถนำไปใช้ได้ตราบเท่าที่ไม่ได้ใช้ในลักษณะที่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ได้ใช้อักษรโรมันคำว่า “TIGERPLAST” โดยลำพัง แต่ใช้ควบคู่กับรูป “เสือ” ดังกล่าวจึงไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีอักษรโรมันคำว่า “TIGER” แต่อย่างใด
ในส่วนของเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยนั้นแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจมีเสียงเรียกขานว่า “ตรา-เสือ” หรือ “ไท-เกอร์” แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยก็อาจเรียกว่า “ไท-เกอร์-ปลาส” ได้ เพราะไม่ใช่เสียงเรียกขานที่ยากลำบากนัก อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเรียกขานว่า “เสือ” หรือ “ไท-เกอร์” เหมือนกัน แต่เนื่องจาก “เสือ” เป็นสัตว์ตามธรรมชาติ โจทก์จะอ้างเพียงเรื่องเสียงเรียกขานคล้ายกันเพื่อห้ามบุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าไม่ได้ เมื่อพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำขอเลขที่ 481363 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลย ทะเบียนเลขที่ ค.38475 ค.37147 และ ค.158947 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 481363 เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.38475 ค.37147 และ ค.158947 รวมทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าวหรือเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การทั้งสองสำนวน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “TIGER” และรูปเสือใช้กับสินค้า ยาใช้ภายนอกเพื่อบรรเทาความง่วงและอาการปวดเจ็บที่อยู่ในรูปของขี้ผึ้ง บาล์ม ในรูปครีม ในรูปยาถูนวด ในรูปเจล ในรูปของเหลว ใช้อาบ ในรูปน้ำมัน และในรูปของปลาสเตอร์ เป็นต้น จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “TIGERPLAST” และรูปเสือ ใช้กับปลาสเตอร์ยาและผ้ากอซพันแผล ต่อมาจำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “TIGERPLAST” และรูปเสือ ใช้กับปลาสเตอร์ยา ผ้ากอซพันแผล และปลาสเตอร์สำหรับปิดแผลที่ไม่มีโอสถผสม โจทก์คัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้าน โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ยืนยันว่า เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งรูปลักษณะและเสียงเรียกขานโดยเฉพาะอักษรโรมัน คำว่า “TIGER” ในเครื่องหมายการค้าซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย สินค้าของจำเลยและโจทก์มีกลุ่มผู้บริโภคเดียวกัน ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์มีนางสาวศิริพรและนางเนตยามาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของโจทก์ ส่วนจำเลยมีนายวีระมาเบิกความโต้แย้งคัดค้าน เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า “TIGER” และรูปเสือในลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็เป็นอักษรโรมันคำว่า “TIGERPLAST” และรูปเสือเช่นกัน คือ
คดีนี้โจทก์ใช้ “เสือ” เป็นเครื่องหมายการค้าซึ่ง “เสือ” เป็นสัตว์ตามธรรมชาติที่มีอยู่พบเห็นทั่วไป ดังนั้น บุคคลต่างๆ ย่อมสามารถใช้ “เสือ” เป็นเครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน โจทก์ไม่อาจหวงกันห้ามบุคคลอื่นที่จะใช้ “เสือ” เป็นเครื่องหมายการค้า เว้นแต่ว่าเป็นการนำ “เสือ” ในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกันกับของโจทก์ไปใช้จนอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิด สำหรับปัญหานี้ในส่วนของรูป “เสือ” โจทก์ใช้ภาพวาดรูป “เสือ” เสมือนจริงในลักษณะกระโจนไปทางซ้าย ในขณะที่จำเลยใช้ภาพวาดรูป “เสือ” ในลักษณะที่เป็นการ์ตูนคล้ายคนยืนขาหน้าซ้ายไขว้หลัง ส่วนขาหน้าขวาจับสิ่งของลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าจึงเห็นได้ว่าแม้จะมีแนวคิดในการใช้ “เสือ” เป็นเครื่องหมายการค้าเหมือนกันแต่รูปลักษณะของ “เสือ” ตามที่ปรากฏต่อสายตาของสาธารณชนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดไปได้ ทั้งการพิจารณาว่าผู้บริโภคเกิดความสับสนหลงผิดหรือไม่ตามที่โจทก์อุทธรณ์นั้น ก็จะต้องพิจารณาถึงความสับสนหลงผิดในความทรงจำเกี่ยวกับ “รูปเครื่องหมายการค้า” เป็นสำคัญด้วย หาใช่ว่ารูป “เสือ” ในลักษณะที่แตกต่างกันเช่นใด ก็ถือว่าก่อให้เกิดความสับสนหลงผิดได้ สำหรับอักษรโรมันคำว่า “TIGER” นั้นเป็นคำสามัญทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรมบุคคลต่างๆ สามารถนำไปใช้ได้ตราบเท่าที่ไม่ได้ใช้ในลักษณะที่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ได้ใช้อักษรโรมันคำว่า “TIGERPLAST” โดยลำพัง แต่ใช้ควบคู่กับรูป “เสือ” ดังกล่าว จึงไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีอักษรโรมันคำว่า “TIGER” แต่อย่างใด อนึ่ง ในส่วนของเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยนั้น แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจมีเสียงเรียกขานว่า “ตรา – เสือ” หรือ “ไท – เกอร์” ตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยก็อาจเรียกว่า “ไท – เกอร์ – ปลาส” ได้ เพราะไม่ใช่เสียงเรียกขานที่ยากลำบากนัก อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเรียกขานว่า “เสือ” หรือ “ไท – เกอร์” เหมือนกัน แต่เนื่องจาก “เสือ” เป็นสัตว์ตามธรรมชาติดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว โจทก์จะอ้างเพียงเรื่องเสียงเรียกขานคล้ายกันเพื่อห้ามบุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าไม่ได้ เมื่อพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์อื่นของโจทก์ตลอดจนคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ