แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ การแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียว หาใช่เหตุที่จะไม่นำส่วนที่ได้แสดงปฏิเสธมาพิจารณาในภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นด้วย หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำดังเครื่องหมายการค้า “” ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า ” และ ” ของผู้คัดค้าน นอกจากจะต้องพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าและต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ด้วย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าแล้ว เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนมีอักษรโรมัน “M” “X” อยู่หน้าอักษรโรมัน “N” “E” และ “C” โดยมีขนาดและลักษณะตัวอักษรเท่ากันทั้งหมด อักษรโรมัน “N E C” ในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่ได้มีลักษณะเด่นกว่าอักษร “M X” เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านบางเครื่องหมายยังอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันสามารถแยกแยะได้โดยง่ายโดยเครื่องหมายของโจทก์มีอักษร “MX” อยู่ด้านหน้าย่อมเป็นจุดแรกที่ทำให้สาธารณชนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนอาจอ่านออกเสียงว่า “เอ็ม เอกซ์ เอ็น อี ซี หรือ เอ็ม เอกซ์ เนค” ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านอาจอ่านออกเสียงว่า “เอ็น อี ซี” หรือ “เนค” แตกต่างกันอย่างชัดเจน ประกอบกับว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านใช้กับสินค้าเครื่องมือระบบตู้สาขาโทรศัพท์ดิจิทัล เครื่องมือส่งข้อมูลแบบแพ็คเก๊ทสวิทชิ่ง ฯลฯ เป็นต้น แม้สินค้าบางส่วนจะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน แต่สินค้าของโจทก์และของผู้คัดค้านต่างเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงกับมีราคาสูง และเป็นสินค้าคงทน ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าประเภทนี้ย่อมเป็นบุคคลเฉพาะกลุ่มที่ย่อมต้องศึกษาคุณสมบัติตลอดจนคุณภาพของสินค้ามาก่อนในการที่จะพิจารณาเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ ย่อมสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนในตัวสินค้าของโจทก์กับของผู้คัดค้าน เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าและมีลักษณะบ่งเฉพาะไม่มีอักษรต้องห้ามอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “” ของโจทก์โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 เป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่มีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 700303
จำเลยทั้งสิบสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 563/2556 และให้ถือตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านและให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 700303 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวเซี่ยว เป็นผู้ดำเนินคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า “” อ่านว่า “เอ็ม เอกซ์ เนค” ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 9 รายการสินค้า โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หูฟังชนิดไม่ต้องใช้มือสำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ หูฟังสวมศีรษะชนิดไม่ต้องใช้มือสำหรับโทรศัพท์มือถือ เครื่องชาร์จโทรศัพท์มือถือ สายหิ้วโทรศัพท์มือถือ แท่นวางโทรศัพท์มือถือ เสาอากาศสำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ หน้ากากโทรศัพท์มือถือ และอแดปเตอร์สำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ เป็นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 700303 มีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 บริษัทเอ็นอีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเอ็นอีซี คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อ้างเหตุว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนนั้นคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ” และ ” ของผู้คัดค้านรวม 4 เครื่องหมาย ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และเป็นเครื่องหมายการค้าที่ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วตามทะเบียนเลขที่ ค92503, ค67854, ค19081 และ ค139924 ทั้งยังเป็นการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต เพราะลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านมายื่นขอจดทะเบียน โจทก์ยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านดังกล่าวว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน และเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านไม่ใช่เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามมาตรา 8 (10) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งโจทก์ไม่ได้อาศัยความมีชื่อเสียงแพร่หลายในเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านเพื่อมายื่นขอจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และ (10) นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ถือเป็นคำประดิษฐ์ ซึ่งมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ เมื่อสาธารณชนพบเห็นย่อมจดจำได้เป็นอย่างดี ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยกคำคัดค้านและให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 700303 ของโจทก์ต่อไป เพราะเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายมีลักษณะการเขียนที่แตกต่างกัน มีการวางรูปลักษณะและองค์ประกอบอื่นแตกต่างกันไป ทั้งยังมีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน นอกจากนี้ผู้คัดค้านจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนนานถึง 49 ปี โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมเกิดขึ้นได้ยาก แม้ว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน และรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เนื่องจากเมื่อพิจารณาว่าโจทก์แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือสิทธิในคำว่า “MX” เป็นของตนแต่ผู้เดียว ตัวอักษรดังกล่าวจึงมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานใกล้เคียงกับเครื่องหมายการค้าทั้งสี่เครื่องหมายที่ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า “” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 700303 คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ” และ ” ของผู้คัดค้านที่ได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ว่า การพิจารณาความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าต้องพิจารณาภาคส่วนที่ปรากฏเป็นภาคส่วนหลักของเครื่องหมายการค้าว่ามีความคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า โจทก์ยื่นหนังสือแสดงการปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมัน “M” และ “X” สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเหลืออักษรโรมัน “N” “E” และ “C” คล้ายเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน เมื่อพิจารณาเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าโจทก์ตามคำอ่านแปลระบุว่า เอ็ม เอกซ์ เนค หรืออาจเรียกขานตามอักษรโรมันว่า เอ็ม เอกซ์ เอ็น อี ซี ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านเรียกขานว่า เนค หรือเรียกขานตามอักษรโรมันว่า เอ็น อี ซี ทำให้เข้าใจได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกเดียวกันและสินค้ามีโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าของผู้คัดค้าน จึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ ส่วนการแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียว หาใช่เหตุที่จะไม่นำส่วนที่ได้แสดงปฏิเสธมาพิจารณาในภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นด้วย เพราะการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะต้องพิจารณาจากเครื่องหมายที่ปรากฏต่อสาธารณชนว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้าหรือไม่ หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำดังเครื่องหมายการค้า “” ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า ” และ ” ของผู้คัดค้าน นอกจากจะต้องพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้น และที่สำคัญต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ด้วย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนมีอักษรโรมัน “M” “X” อยู่หน้าอักษรโรมัน “N” “E” และ “C” โดยมีขนาดและลักษณะตัวอักษรเท่ากันทั้งหมด อักษรโรมัน “N E C” ในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่ได้มีลักษณะเด่นกว่าอักษร “M X” นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านบางเครื่องหมายยังอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันสามารถแยกแยะได้โดยง่ายโดยเครื่องหมายของโจทก์มีอักษร “MX” อยู่ด้านหน้าย่อมเป็นจุดแรกที่ทำให้สาธารณชนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนอาจอ่านออกเสียงว่า “เอ็ม เอกซ์ เอ็น อี ซี หรือ เอ็ม เอกซ์ เนค” ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านอาจอ่านออกเสียงว่า “เอ็น อี ซี” หรือ “เนค” แตกต่างกันอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาประกอบกันว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือแบตเตอรี่ หูฟังชนิดไม่ต้องใช้มือสำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ หูฟังสวมศีรษะชนิดไม่ต้องใช้สำหรับโทรศัพท์มือถือ เครื่องชาร์จโทรศัพท์มือถือ สายหิ้วโทรศัพท์มือถือ แท่นวางโทรศัพท์มือถือ เสาอากาศสำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ หน้ากากโทรศัพท์มือถือ และอแดปเทอร์สำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านใช้กับสินค้า เครื่องมือระบบตู้สาขาโทรศัพท์ดิจิทัล เครื่องมือส่งข้อมูลแบบแพ็คเก๊ทสวิทชิ่ง เครื่องมือส่งสัญญาณระบบใยแก้วนำแสง เครื่องมือส่งสัญญาณระบบดิจิทัล เครื่องอุปกรณ์เคเบิลใต้น้ำ เครื่องมือระบบเคเบิลทีวี เครื่องมือที่มีระบบการประชุมผ่านทางโทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสารระบบไมโครเวฟ เครื่องมือสื่อสารระบบดาวเทียม เครื่องมือสื่อสารระบบเลเซอร์ เครื่องมือส่งกระจายเสียงโทรทัศน์และวิทยุ เครื่องมือควบคุมและทำวิถีจรวด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้สำหรับเครื่องบินและยานอวกาศ ดาวเทียม อุปกรณ์เรด้า และวิทยุการเดินเรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้สำหรับป้องกันภัย อุปกรณ์วิทยุระบบเคลื่อนที่และพกพา วิทยุติดตามตัว เครื่องโทรสาร เครื่องโทรศัพท์ชนิดกดปุ่ม เครื่องโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องส่งโทรศัพท์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ หน่วยขับฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์ หน่วยขับแผ่นดิสก์ของคอมพิวเตอร์ แผงแป้นอักขระของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์แสดงผลทางจอภาพสำหรับคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ เครื่องประมวลคำจอภาพคอมพิวเตอร์ โมเด็มข้อมูล เครื่องเล่นจานแสดงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการออกแบบ การผลิต และงานด้านวิศวกรรม เครื่องบอกลักษณะลายนิ้วมือระบบอัตโนมัติ อุปกรณ์ควบคุมตัวเลขระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แม้สินค้าบางส่วนจะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันแต่สินค้าของโจทก์และของผู้คัดค้านต่างเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงกับมีราคาสูง และเป็นสินค้าคงทน ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าประเภทนี้ย่อมเป็นบุคคลเฉพาะกลุ่มที่ย่อมต้องศึกษาคุณสมบัติตลอดจนคุณภาพของสินค้ามาก่อนในการที่จะพิจารณาเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ ซึ่งย่อมสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนในตัวสินค้าของโจทก์กับของผู้คัดค้าน เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ที่โจทก์ขอจดทะเบียนจึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าและมีลักษณะบ่งเฉพาะไม่มีอักษรต้องห้ามอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “” ของโจทก์โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านจึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 นั้นเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ