คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้” ปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ตามคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะจัดหาหรือไม่จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 จำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติ โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายสำอางได้ใช้อาวุธมีดดาบปลายปืนยาวประมาณ 12 นิ้ว แทงนายมานพผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ต่อมานายสำอางถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาฐานร่วมกับนายวัชราหรือนกกระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่านายสำอางกับนายวัชรากระทำผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว สำหรับคดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดให้จำคุกตลอดชีวิต จึงมีอายุความ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (1) เมื่อจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2540 และเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้วันที่ 29 มิถุนายน 2559 และได้ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ฟ้องโจทก์ยังไม่พ้นยี่สิบปีจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายไปบ้านของนายจำรัสบุตรเขยนางละอองแต่ไม่พบ จึงเดินไปที่บ้านของนางละอองซึ่งอยู่ติดกันกับบ้านของนายจำรัส เมื่อไปถึงเห็นจำเลย นางละออง นายสวัสดิ์ นางกาญจนา นางวาสนา นายสำอาง นายวัชรา และมีบุคคลอื่นอีกสองคนจำชื่อไม่ได้ กำลังนั่งดื่มสุราและเล่นการพนันไพ่ป๊อกเด้งกันอยู่ ผู้เสียหายเข้าร่วมวงเล่นด้วยประมาณ 10 นาที รู้สึกเหนื่อยจะเลิกเล่นและจะกลับบ้าน นายสำอางพูดว่ามึงยังกลับไม่ได้เพราะกูยังเสียเยอะอยู่ ผู้เสียหายลุกขึ้นจากวงไพ่และจะเดินกลับบ้านแต่ยังไม่ทันได้เดินไป นายสำอางชักอาวุธมีดดาบปลายปืนความยาวรวมด้ามประมาณ 12 นิ้ว ออกมาจากเอวแทงที่ใต้ชายโครงด้านซ้ายของผู้เสียหาย 1 ครั้ง ผู้เสียหายทรุดตัวลง จำเลยถือเหล็กขูดชาฟท์ยาวประมาณ 12 นิ้ว และนายวัชราถืออาวุธมีดสั้นจะเข้ามาร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย แต่นางละอองซึ่งเป็นมารดาของนายสำอางและนายวัชรา ได้เข้ามาห้ามไม่ให้นายสำอาง นายวัชราและจำเลยทำร้ายผู้เสียหาย ในช่วงชุลมุนวุ่นวายกันอยู่นั้น ผู้เสียหายได้วิ่งหนีออกไปที่กลางทุ่งนาและนอนราบตรงคันนาสูง จำเลย นายสำอางและนายวัชราซึ่งวิ่งตามมามองไม่เห็นผู้เสียหายเพราะบริเวณดังกล่าวมืด ผู้เสียหายได้ยินเสียงจำเลยกับพวกพูดว่า ถ้าเจอตัวมันเอาให้ตายคาที่ไปเลย สักครู่ผู้เสียหายไม่ได้ยินเสียงคนพูดกัน จึงชะโงกศีรษะขึ้นมาเพราะจำเลยกับพวกกลับไปแล้ว ผู้เสียหายเอามือกุมแผลที่ถูกแทงเนื่องจากเลือดไหลไม่หยุดแล้ววิ่งไปที่บ้านนายสังเวียนกำนันตำบลท้องที่ให้ช่วยพาผู้เสียหายไปส่งที่บ้าน ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายเห็นจำเลยกับพวกมาดักรอที่ถนนหน้าบ้านกำนัน ผู้เสียหายจึงบอกกำนันว่าจำเลยกับพวกจะมาทำร้ายผู้เสียหายอีก เมื่อจำเลยกับพวกเห็นผู้เสียหายอยู่กับกำนันและภริยากำนัน จึงพากันวิ่งหลบหนีไป กำนันและภริยาได้ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปส่งที่บ้าน เมื่อถึงบ้านแล้วน้องของผู้เสียหายได้ขับรถยนต์พาผู้เสียหายไปส่งที่โรงพยาบาล และโจทก์ยังมีพันตำรวจโทอำพลพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากได้รับแจ้งเหตุจากบิดาผู้เสียหายแล้ว พยานได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุซึ่งมีแสงสว่างจากหลอดไฟนีออน พยานได้ตรวจพบอาวุธมีดเปื้อนเลือดจึงยึดไว้เป็นของกลาง พยานสอบถามแพทย์ผู้ตรวจบาดแผลของผู้เสียหายได้ความว่า หากผู้เสียหายไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้พยานยังได้สอบปากคำนางละออง นายสำราญ นางกาญจนา นายสวัสดิ์ นางวาสนา และนายสังเวียน ต่อมาจับกุมตัวนายสำอางและนายวัชราตามหมายจับได้เมื่อปี 2540 พยานได้สอบคำให้การบุคคลทั้งสองไว้ และจับกุมจำเลยได้ตามหมายจับเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เห็นว่า แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว แต่ผู้เสียหายก็ได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยลำดับเรื่องราวได้สมเหตุผล ทั้งยังมีสาระสำคัญสอดคล้องกับบันทึกคำให้การ ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนขณะพักรักษาตัวหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน ไม่มีเวลาปรุงแต่งเรื่องราวปรักปรำจำเลย ทั้งผู้เสียหายก็มีบาดแผลถูกแทงจริง และผู้เสียหายรู้จักจำเลยมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยและพวกของจำเลยแต่อย่างใด และในวงการพนันที่เกิดเหตุก็มีแสงสว่างจากไฟฟ้าเป็นข้อสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหาย ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักและมีความน่าเชื่อถือให้รับฟังได้ยิ่งขึ้นว่า ขณะเล่นการพนันไพ่กันอยู่นั้น ได้มีเหตุการณ์โต้เถียงกัน แล้วต่อมานายสำอางได้ใช้อาวุธมีดดาบปลายปืนแทงผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่ท้อง โดยมีจำเลยถือเหล็กขูดชาฟท์ และนายวัชราถืออาวุธมีดจะเข้าทำร้ายผู้เสียหายด้วย เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีไปหลบซ่อนตัวที่คันนา จำเลย นายสำอาง และนายวัชราได้วิ่งตามไปเพื่อจะทำร้ายผู้เสียหายอีก โดยโจทก์มีคำให้การชั้นสอบสวนของนายสำราญ นางละออง นางกาญจนา และนายสวัสดิ์ ซึ่งต่างให้ถ้อยคำทำนองเดียวกันว่า ขณะเล่นการพนันอยู่นั้น มีเหตุทะเลาะโต้เถียงกันเกี่ยวกับเรื่องการเล่นการพนันระหว่างผู้เสียหายกับนายสำอางและจำเลย อันเป็นข้อสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายในข้อที่ว่าจำเลยและนายสำอางมีสาเหตุไม่พอใจผู้เสียหายและจำเลยก็อยู่ฝ่ายเดียวกับนายสำอาง ส่วนที่พยานดังกล่าวให้ถ้อยคำในลักษณะบ่ายเบี่ยงในทำนองไม่เห็นเหตุการณ์นั้น เห็นว่า พยานดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นญาติของนายสำอางและนายวัชรา จึงเชื่อว่าพยานเหล่านั้นให้การเพื่อช่วยเหลือนายสำอางกับพวกที่เป็นญาติเท่านั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยมั่นคง แม้จำเลยจะมิได้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ถือเหล็กขูดชาฟท์จะเข้าร่วมรุมทำร้ายผู้เสียหายจนนางละอองมารดาของนายสำอางเข้าห้ามไว้ และเมื่อผู้เสียหายวิ่งหลบหนี จำเลยได้ถือเหล็กขูดชาฟท์วิ่งออกติดตามไปเพื่อจะทำร้ายผู้เสียหายอีก จึงเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับนายสำอางและนายวัชรากระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายแล้ว ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่ได้เล่นการพนันแล้ว จำเลยไม่ได้ร่วมกับนายสำอางใช้อาวุธมีดดาบปลายปืนแทงผู้เสียหาย ก็เป็นข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลย ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุน ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ และที่จำเลยฎีกาอีกว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูง พนักงานสอบสวนไม่จัดหาทนายความร่วมรับฟังการสอบสวน การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้” ซึ่งปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบแล้วและสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ตามคำให้การดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อย่างไรก็ตาม ในบทบัญญัติมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะจัดหาหรือไม่จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และที่จำเลยฎีกาขอให้กำหนดโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดนั้น เห็นว่า ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นมีระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 10 ปี ก็เป็นระวางโทษสองในสาม ส่วนของอัตราโทษขั้นต่ำสุดในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยให้เบากว่านั้นได้ ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธ และทางนำสืบของจำเลยก็ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี จึงเหมาะสมแล้ว สำหรับฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยล้วนเป็นข้อปลีกย่อย แม้วินิจฉัยให้ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยน จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share