คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เอาประกันภัยมีเจตนาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางบกจากโรงงานของผู้ผลิตมายังท่าเรือเมืองเจนัว สาธารณรัฐอิตาลี และขนส่งสินค้าทางทะเลจากท่าเรือเมืองเจนัวมายังประเทศไทย อันมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันสองรูปแบบภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว และจำเลยที่ 1 ตกลงรับดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ออกใบตราส่งต่อเนื่องให้แก่ผู้ตราส่ง ก็เป็นเรื่องการละเว้นไม่ปฏิบัติตามที่ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 10 กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งหากผู้ตราส่งเสียหายอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันต่อไป และแม้ใบตราส่งจะไม่ได้ระบุว่าเป็นใบตราส่งต่อเนื่องก็เป็นเรื่องหลักฐานแห่งนิติสัมพันธ์ในการรับขนของไม่มีผลกระทบถึงสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ผู้เอาประกันภัยมีเจตนาว่าจ้างจำเลยที่ 1
โจทก์กล่าวอ้างว่าสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสี่ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ผลิตส่งสินค้าที่ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องครบถ้วนตามจำนวนและสินค้าสูญหายก่อนที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะส่งมอบสินค้าตามคำฟ้อง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าสินค้าดังกล่าวสูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสี่ โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 359,887.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 335,484.31 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2555 บริษัทพาร์ฟูม แอนด์ บิวตี้ (ไทยแลนด์) จำกัด สั่งซื้อสินค้าน้ำหอมหลายยี่ห้อจาก Parfums Holding Asia Pte., Ltd. ผู้ขายที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ จำนวน 1,683 ชิ้น ภายใต้เงื่อนไขการซื้อขาย (Incoterms) แบบ EX – WORK เป็นเงิน 10,678.40 ยูโร ซึ่งผู้ซื้อมีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ไปรับสินค้าจากโรงงานของ MORRIS PROFUMI SPA ผู้ผลิตที่สาธารณรัฐอิตาลี และขนส่งมายังประเทศไทยด้วยค่าใช้จ่ายของตน ผู้ซื้อว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าและติดต่อเอาประกันภัยสินค้าไว้แก่โจทก์เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกประเภทที่อาจเกิดขึ้นกับสินค้าระหว่างการขนส่งจากโรงงานหรือโกดังของผู้ผลิตมาจนถึงโรงงานหรือโกดังของผู้เอาประกันภัย (All Risks) ในวงเงิน 13,217.20 ยูโร จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ไปรับมอบสินค้าจากผู้ผลิตแล้วจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นได้ว่าจ้างและส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 ขนส่งอีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ 3 ออกใบตราส่งให้ไว้แก่จำเลยที่ 2 และว่าจ้างจำเลยที่ 4 ขนส่งสินค้าโดยเรือ HANJIN NEW YORK จากต้นทางท่าเรือเจนัว สาธารณรัฐอิตาลี และเปลี่ยนถ่ายลงเรือ QUEZON BRIDGE มาถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2555 จากนั้นวันที่ 10 กันยายน 2555 บริษัทเค ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจำเลยที่ 4 ขออนุญาตจำเลยร่วมเปิดตู้สินค้าเพื่อนำสินค้าเข้าฝากเก็บในโรงพักสินค้าหมายเลข 6 ของจำเลยร่วมและแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 แจ้งผู้เอาประกันภัยและเรียกเก็บเงินค่าระวาง ผู้เอาประกันภัยมอบหมายให้บริษัทเอไอดี กรุ๊ป จำกัด ดำเนินพิธีการทางศุลกากรและรับมอบสินค้ากลับมาที่โกดังของผู้เอาประกันภัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การขนส่งสินค้าตามคำฟ้องเป็นการขนส่งภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 7 บัญญัติว่า สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ คือ สัญญาซึ่งผู้ตราส่งตกลงให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องดำเนินการหรือจัดให้มีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และผู้ตราส่งตกลงที่จะชำระค่าระวางให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง และมาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า “การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ” หมายความว่า การรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า ภายใต้เงื่อนไขการซื้อขายแบบ EX – WORK ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ซื้อมีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ไปรับสินค้าจากโรงงานของ MORRIS PROFUMI SPA ผู้ผลิตที่สาธารณรัฐอิตาลี และขนส่งมายังประเทศไทย ด้วยค่าใช้จ่ายของตน โดยนางสาวสุนันทา พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจของบริษัท ผู้เอาประกันภัย เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านว่า พยานเป็นผู้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าด้วยตนเอง โดยว่าจ้างให้ขนส่งตั้งแต่โรงงานของผู้ผลิตจนมาถึงท่าเรือปลายทาง เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 1 แจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบและเรียกเก็บค่าใช้จ่าย พบว่ามีรายการค่าใช้จ่ายแยกเป็น Terminal Handling Charge, CFS Charge, Stuffing, D/O Fees, Handling Fees, Sea Freight Charge, Dangerous Goods Fees และ EXW Charge คำว่า Sea Freight Charge หมายถึงค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเล และ EXW Charge หมายถึงค่าใช้จ่ายต้นทางซึ่งก็คือค่าขนส่งสินทางบกจากโรงงานของผู้ผลิตถึงท่าเรือเมืองเจนัว เห็นได้ว่ามีการเรียกเก็บค่าขนส่งทางบกและทางทะเลออกจากกันชัดเจน ซึ่งส่วนนี้นางสาวจณิลศิตา พนักงานโอเปอร์เรชั่น ฟรี อิมพอร์ท ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการด้านเอกสารเรือขาเข้าของบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้จัดทำเอกสารดังกล่าวพยานจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 มีใบเรียกเก็บเงินค่าขนส่งทางบกมายังจำเลยที่ 1 และค่าใช้จ่ายที่เป็น Terminal Handling Charge, CFS Charge, Stuffing, D/O Fees และ Handling Fees จำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บแล้วส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 3 และได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านอีกว่า ใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินไม่มีข้อความระบุว่าเป็นการเรียกเก็บเงินในนามของจำเลยที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินค่าขนส่งทั้งสองรายการในนามตนเอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้เอาประกันภัยมีเจตนาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางบกจากโรงงานของผู้ผลิตมายังท่าเรือเมืองเจนัว สาธารณรัฐอิตาลี และขนส่งสินค้าทางทะเลจากท่าเรือเมืองเจนัวมายังประเทศไทย อันมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าที่แตกต่างกันสองรูปแบบภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว และจำเลยที่ 1 ตกลงรับที่จะดำเนินการ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ออกใบตราส่งต่อเนื่องให้แก่ผู้ตราส่ง ก็เป็นเรื่องการละเว้นไม่ปฏิบัติตามที่มาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 บัญญัติกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งหากผู้ตราส่งเสียหายอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันต่อไป และแม้ใบตราส่งจะไม่ได้ระบุว่าเป็นใบตราส่งต่อเนื่อง และมีลักษณะเป็นใบตราส่งสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ออกไว้ในการขนส่งแต่ละทอด ก็เป็นเรื่องหลักฐานแห่งนิติสัมพันธ์ในการรับขนของ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ขาย จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 3 ตามลำดับ ไม่มีผลกระทบถึงสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ผู้เอาประกันภัยมีเจตนาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ข้อต่อสู้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า สินค้าน้ำหอมของผู้ซื้อที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์สูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสี่ซึ่งจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายสูญหายของสินค้า จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ว่าสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไปตามที่กล่าวอ้าง ส่วนจำเลยร่วมให้การว่า จากการตรวจสอบที่โรงพักสินค้าของท่าเรือกรุงเทพพบสินค้า 2 แผ่นไม้รองสินค้า นับจำนวนได้ 12 กล่อง อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่จากยอดที่นับได้ไม่ตรงกับจำนวนยอดสินค้าที่เจ้าของสินค้าแจ้ง โจทก์ชดใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัยโดยมิได้ตรวจสอบก่อนว่าความสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด ดังนี้ คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า สินค้าน้ำหอมตามคำฟ้องสูญหายไประหว่างการขนส่งหรือไม่ อันจะนำไปสู่การวินิจฉัยข้ออ้างที่เป็นฐานแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 20 และมาตรา 37 ตามที่โจทก์อุทธรณ์ แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยไปเสียเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยเสียก่อน เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าสินค้าน้ำหอมที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสี่ ซึ่งจากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 ประกอบกับการที่ใบตราส่งที่จำเลยที่ 2 ออกไว้ให้แก่ผู้ผลิต มีการตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับจำนวนสินค้าไว้ว่า “2 Pallets S.T.C.” ซึ่งหมายถึง “Shipper Stowed & Count หรือผู้ส่งของทำการบรรจุหีบห่อสินค้าด้วยตัวเอง” และ “Perfumery Products Dangerous Goods (41 Fibreboard Boxes in 2 Pallets)” กับระบุน้ำหนักของสินค้าทั้งหมด 597.250 กิโลกรัม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ผลิตส่งสินค้าที่ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องครบถ้วนตามจำนวนและสินค้าสูญหายก่อนที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะส่งมอบสินค้าตามคำฟ้อง ซึ่งโจทก์มีนางสาวสุนันทาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายที่สาธารณรัฐสิงคโปร์จำนวน 1,683 ชิ้น โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องไปรับสินค้าจากผู้ผลิตที่สาธารณรัฐอิตาลีและขนส่งมายังประเทศไทยเอง ผู้ผลิตซึ่งเป็นผู้ส่งของตรวจนับและหีบห่อสินค้าด้วยตนเอง โดยบรรจุสินค้าในกล่องย่อยแล้วนำใส่ลังกระดาษจำนวน 41 ลัง แล้วจัดวางเรียงสินค้าบนไม้รองสินค้า (Pallets) 2 แผ่น ห่อหุ้มด้วยพลาสติกใส นำส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่ง จากนั้นจึงส่งใบตราส่ง ใบกำกับสินค้า และใบรายงานบรรจุสินค้า มาให้ผู้เอาประกันภัย เมื่อได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่าสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว วันที่ 18 กันยายน 2555 ชิปปิ้งหรือตัวแทนดำเนินพิธีการศุลากรของผู้เอาประกันภัยที่ไปติดต่อขอรับสินค้าที่ท่าเรือแจ้งแก่พยานว่าสินค้า 2 แผ่นไม้รองสินค้า เสียหายและมีสินค้าสูญหายไปจำนวนมาก พยานจึงสั่งให้ชะลอการรับมอบสินค้าและแจ้งให้โจทก์เข้าตรวจสอบ กับมีนายธีรภัทร ผู้สำรวจภัยของบริษัทอีร่า เซอร์เวย์ แอนด์ คอนซัลแทนส์ จำกัด พยานโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อมาว่า เมื่อได้รับแจ้งจากโจทก์วันที่ 18 กันยายน 2555 พยานไปสำรวจสินค้าที่โรงพักสินค้า 6 ของจำเลยร่วมร่วมกับชิปปิ้ง พบสินค้าเพียง 12 ลัง สภาพลังส่วนมากเสียหาย บุบ ยุบ ฉีกขาด คาดว่าสินค้าน่าจะสูญหาย แต่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากสินค้ายังอยู่ในอารักขาของจำเลยร่วม ส่วนสินค้าอีก 29 ลัง หาไม่พบ ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2555 หลังจากที่ชิปปิ้งดำเนินพิธีการศุลกากรและรับสินค้ามาแล้ว พยานจึงได้ร่วมกับพนักงานคลังสินค้าของผู้เอาประกันภัยตรวจสอบสินค้าพบว่าลังที่ใช้บรรจุสินค้าเป็นลังกระดาษแข็ง 12 ลัง ปิดด้วยเทปกาว มีเข็มขัดรัดคาดฝาลัง 2 เส้น สภาพลังบุบ ยุบ ฉีกขาด แต่ตรวจนับจำนวนพบว่าสินค้ายังอยู่ครบ ส่วนอีก 29 ลัง สูญหายไป พยานสอบถามและได้รับแจ้งจากชิปปิ้งว่าเมื่อไปติดต่อขอรับสินค้าจากจำเลยร่วมก็พบว่าสินค้าถูกจัดเก็บในบริเวณพื้นที่สินค้าเสียหาย และมีสินค้าเพียง 12 ลัง ในสภาพเสียหาย สินค้า 29 ลัง หาไม่พบ ชิปปิ้งจึงได้โต้แย้งคัดค้านไว้ต่อพนักงานของจำเลยร่วมที่โรงพักสินค้า 6 แต่พนักงานของจำเลยร่วมแจ้งว่าพบความเสียหายตั้งแต่เปิดตู้เพื่อนำสินค้าออกมาคัดแยกแล้ว พนักงานของจำเลยร่วมจึงได้ร่วมกับตัวแทนจำเลยที่ 4 ตรวจนับและทำบันทึกความเสียหายไว้ในใบรายการตรวจนับ (Tally Sheet) กับได้ออกรายการสำรวจสินค้า (Survery Note) ให้ชิปปิ้งไว้เป็นหลักฐาน เห็นว่า ตามใบรายการบรรจุสินค้า (Packing List) ระบุสินค้า 41 ลัง มีน้ำหนักสุทธิรวม 538.83 กิโลกรัม แต่ละลังบรรจุกล่องสินค้าย่อยจำนวนไม่เท่ากันและมีขนาดไม่เท่ากันโดยมีทั้งขนาด 60 คูณ 21 คูณ 40 เซนติเมตร, 60 คูณ 28 คูณ 40 เซนติเมตร, ขนาด 37 คูณ 30 คูณ 37 เซนติเมตร, ขนาด 60 คูณ 45 คูณ 40 เซนติเมตร แม้ทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้ส่งของจัดวางเรียงลังกระดาษบนไม้รองสินค้าแต่ละแผ่นรองกี่ลัง หรือแผ่นไม้รองสินค้าทั้งสองแผ่นมีขนาดเท่า ๆ กัน หรือไม่ คงได้ความเพียงว่า เมื่อหีบห่อสินค้าทั้งสองแผ่นรองแล้วมีน้ำหนักรวม 597.25 กิโลกรัม ตรงตามน้ำหนักสินค้าที่ระบุในใบตราส่งที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้แก่ผู้ส่งของ แต่จากภาพถ่ายที่ 2 ในรายงานสำรวจความเสียหาย ซึ่งนายธีรภัทร์ เบิกความยืนยันว่าเป็นภาพของสินค้าที่วางอยู่ในโรงพักสินค้ามีจำนวน 12 ลัง วางอยู่บนไม้รองสินค้า 1 แผ่น พอแสดงให้เห็นถึงสภาพของสินค้าทั้ง 41 ลัง น่าจะจัดเรียงบนไม้รองสินค้า 2 แผ่น แต่ละแผ่นมีกล่องสินค้าเรียงสูงประมาณ 4 ชั้น จำเลยที่ 2 นำสินค้ามาส่งมอบให้จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 2 โดยระบุว่า เป็นการขนส่งแบบ DOOR/CFS ระบุหมายเลขตู้ KKTU 7639932 / ผนึกซีลหมายเลข 00011167/A00142 แล้วนำมาส่งให้จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ออกใบตราส่ง ให้แก่จำเลยที่ 3 ระบุว่าเป็นการขนส่งแบบ CY/CFS ใบตราส่งทั้งสามใบระบุจำนวนสินค้าซึ่งเป็นหน่วยการขนส่งตรงกันว่า 2 แผ่นไม้รองสินค้า น้ำหนัก 597.250 กิโลกรัม และจากลักษณะการออกใบตราส่งทั้งสามฉบับดังกล่าว แสดงได้ว่า จำเลยที่ 3 รับสินค้ามาจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาบรรจุเข้าตู้โดยเป็นการบรรจุสินค้าจากหลายเจ้าของรวมเข้าไว้ในตู้เดียวกันแล้วปิดผนึกตู้สินค้าส่งมอบให้จำเลยที่ 4 บรรทุกลงเรือเพื่อขนส่งทางทะเลไปยังท่าเรือปลายทาง เมื่อเรือขนตู้สินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ ก็ได้ความจากนายนิยม พนักงานของจำเลยร่วมซึ่งมีหน้าที่จดบันทึกรายการสินค้าที่นำออกจากตู้สินค้าเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า เมื่อตรวจดูซีลที่ผนึกตู้สินค้าแล้วไม่พบความผิดปกติ จึงดำเนินการตัดซีลและเปิดตู้สินค้า และได้ความจากทางนำสืบจำเลยร่วมต่อมาว่า พนักงานของจำเลยร่วมและตัวแทนของจำเลยที่ 4 ร่วมกันเปิดตู้เพื่อนำสินค้าออกมาคัดแยกและต่างฝ่ายต่างทำหลักฐานรายการตรวจนับสินค้าไว้ ระบุจำนวนสินค้า 2 แผ่นไม้รองสินค้า และมีหมายเหตุในเอกสารว่า แตก ตก ซีล ฉีกขาด และได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายสมเกียรติ พนักงานโรงพักสินค้า 6 ของจำเลยร่วม ผู้จัดเรียงสินค้าว่า หลังจากเปิดตู้ตรวจและจดรายการสินค้าแล้ว พยานได้รับมอบหมายให้นำสินค้าเข้าจัดเก็บ แต่เนื่องจากรายการตรวจนับสินค้ามีหมายเหตุว่าสินค้าชำรุด พยานจึงนำแยกไปเก็บไว้ที่ห้องเก็บสินค้าชำรุดซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างดี บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปจนกว่าเจ้าของสินค้าจะมาดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อรับสินค้า ขณะนำสินค้าเข้าเก็บ พยานพบว่าเป็นความชำรุดจากพลาสติกหีบห่อสินค้าฉีกขาดเล็กน้อย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่มีการโต้แย้งว่าสินค้าไม่ครบจำนวน เพราะหากสินค้าขาดจำนวนเหลือเพียง 12 ลัง บรรจุบนไม้รองสินค้า 2 แผ่น ก็จะเห็นได้ว่าแต่ละแผ่นจะวางลังสินค้าจำนวน 6 ลัง ซึ่งสามารถวางเรียงได้เพียงชั้นเดียวในแต่ละแผ่น ซึ่งสามารถเห็นการขาดจำนวนของสินค้าได้ชัดเจน จึงฟังได้ว่าขณะเปิดตู้สินค้า สินค้าบนไม้รองสินค้า 2 แผ่น มิได้ขาดจำนวนแต่อย่างใด เพียงแต่มีร่องรอยการฉีกขาดของพลาสติกที่ห่อหุ้มกล่องสินค้าแต่ละไม้รองสินค้า นายแมน หัวหน้าหมวดตรวจสอบสินค้าระดับ 8 สังกัดโรงพักสินค้า 6 ของจำเลยร่วม ผู้ควบคุมการตรวจสอบสินค้าให้ถูกต้องตรงกับบัญชีสินค้า ควบคุมการรับมอบสินค้าจากเรือและส่งมอบให้แก่เจ้าของสินค้า เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ในวันที่ 18 กันยายน 2555 พยานได้รับแจ้งจากตัวแทนเจ้าของสินค้าว่าสินค้า 2 แผ่นไม้รองสินค้า มีลักษณะหีบห่อเล็กเมื่อเทียบกับจำนวนสินค้าที่ระบุในใบตราส่ง จึงแจ้งให้ตัวแทนเรือมาร่วมสำรวจสินค้าในวันที่ 19 กันยายน 2555 โดยเปิดพลาสติกห่อหุ้มกล่องสินค้าทั้งสองแผ่นไม้รองสินค้า พบสินค้า 12 ลัง อยู่ในสภาพปกติ พยานได้จัดทำรายการสินค้าชำรุด (แบบ ผร.3) ไว้ ซึ่งตัวแทนจำเลยที่ 4 ได้ร่วมลงลายมือชื่อไว้ด้วย กับจัดทำรายการสำรวจสินค้า (Survey Note) ไว้ตามที่ตัวแทนเจ้าของสินค้าร้องขอ แต่เนื่องจากสินค้ารายนี้พบความชำรุดเพียงแค่การฉีกขาดของพลาสติกห่อหุ้ม พยานจึงไม่ได้จัดทำใบแจ้งให้พนักงานบริษัทตัวแทนเรือมาสำรวจสินค้าหรือของที่ชำรุด (แบบ ผร.1) และแบบร่างการสำรวจสินค้าชำรุดที่ขนขึ้นจากเรือหรือเปิดจากตู้สินค้า (แบบ ผร.2) ไว้ แสดงว่า สินค้าที่ขาดจำนวนไป 29 ลัง อาจเกิดขึ้นขณะสินค้าถูกเก็บไว้ในโรงพักสินค้าของจำเลยร่วม เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องและอุทธรณ์ขอให้จำเลยร่วมรับผิดจึงไม่จำต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยร่วม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า สินค้าน้ำหอมของผู้ซื้อที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์สูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสี่ โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดได้ กรณีเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ร่วมชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่ขาดนัดยื่นคำให้การด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share