คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1002/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยมีหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แม้สัญญากู้ยืมเงินจะปิดอากรแสตมป์ไม่ครบก็ตามเมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์2539 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาวารินชำราบ จำนวนสองฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 13 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน200,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 25 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน100,000 บาท ให้แก่นายนิกร ตังควัฒนา ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระ ผู้เสียหายนำเช็คทั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาถนนสรรพสิทธิ์ประสงค์ เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2539ทั้งสองฉบับโดยให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” ทั้งนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เหตุเกิดที่ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายนิกร ตังควัฒนา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 กระทงแรกให้ลงโทษจำคุกคนละ 8 เดือน กระทงที่สองให้ลงโทษจำคุกคนละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 12 เดือน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า กระทงแรกให้จำคุกคนละ 4 เดือน กระทงที่สองให้จำคุกคนละ 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539จำเลยทั้งสองได้มาขอกู้ยืมเงินโจทก์ร่วม 300,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงชำระหนี้คืนโจทก์ร่วม 2 งวด คือวันที่ 13 และ 25 มีนาคม 2539 โจทก์ร่วมตกลงและทำสัญญากู้ไว้เป็นหลักฐานตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยทั้งสองได้รับเงินที่กู้ยืมไปแล้วและร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาวารินชำราบ รวม 2 ฉบับชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ร่วมตามงวดที่ตกลงกันฉบับแรกลงวันที่ 13มีนาคม 2539 จำนวนเงิน 200,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 25มีนาคม 2539 จำนวนเงิน 100,000 บาท ก่อนเช็คฉบับแรกถึงกำหนดในวันที่ 12 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์ถึงโจทก์ร่วมของขอเลื่อนการจ่ายเงินตามเช็คไปกลางเดือนเมษายน 2539 โจทก์ร่วมนำเช็คทั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสรรพสิทธิ์ประสงค์ เพื่อให้เรียกเก็บเงิน แต่ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับ ในวันที่ 25 เมษายน2539 โดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า “บัญชีปิดแล้ว” ตามสำเนาเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 โจทก์ร่วมทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยก่อนโจทก์ร่วมนำเช็คไปเรียกเก็บเงินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยปิดแล้ว

จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยทั้งสองรู้จักกับโจทก์ร่วมมาก่อนและจำเลยที่ 1 เคยไปกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมก่อนหน้านี้ 2ถึง 3 ครั้ง เมื่อเดือนมกราคม 2539 จำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมจำนวน 300,000 บาทโจทก์ร่วมคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนและหักดอกเบี้ยเป็นเงิน 30,000 บาท ไว้ก่อนจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ร่วม แต่ไปเป็นเพื่อนจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและเช็คพิพาทต่อหน้าโจทก์ร่วมเพื่อเป็นผู้ค้ำประกัน

พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับมอบให้โจทก์ร่วม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้ เอกสารหมาย จ.1 และลายมือชื่อในช่องผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับเห็นได้ชัดว่าลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นลายมือชื่อเดียวกันแต่ใช้ปากกาคนละด้ามทั้งโจทก์ร่วมก็เบิกความยอมรับว่าเช็คที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ครั้งอื่น ๆให้แก่โจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นโจทก์ร่วมก็ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อเป็นการค้ำประกันและทราบอยู่แล้วว่า เช็คพิพาทหมาย จ.2และ จ.3 เป็นของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์มีตัวโจทก์ร่วมและนางบรรจง จุฬาพรณ์ มาเบิกความยืนยันได้ความว่า จำเลยทั้งสองได้ไปขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมที่บ้านจำนวน 300,000 บาท โจทก์ร่วมตกลงให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินและมอบเงินสดให้จำเลยทั้งสองไปในวันเดียวกันนั้น จำเลยทั้งสองตกลงจะชำระเงินกู้ยืมทั้งหมดคืนภายในวันที่ 13 มีนาคม 2539 งวดหนึ่งและในวันที่ 25 มีนาคม2539 อีกงวดหนึ่ง ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3ในการชำระเงินกู้ยืมดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน)สาขาวารินชำราบ ลงวันที่ 13 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน200,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้กรอกรายละเอียดลงในเช็คดังกล่าว ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.2และในการชำระเงินกู้งวดที่ 2 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารเดียวกันกับฉบับแรก ลงวันที่ 25 มีนาคม 2539จำนวนเงิน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมอีกเช่นเดียวกัน ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.3 (ส่วนต้นฉบับเช็คโจทก์ร่วมให้ศาลตรวจสอบแล้วขอรับคืนไปทั้ง 2 ฉบับ) จำเลยทั้งสองบอกกับโจทก์ร่วมว่าเมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดวันสั่งจ่ายให้โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินได้ทันที ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งโจทก์ร่วมว่าอย่าเพิ่งนำเช็คไปเข้าบัญชีเนื่องจากยังไม่มีเงินจ่ายขอให้โจทก์ร่วมนำเช็คทั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินประมาณกลางเดือนเมษายน 2539 โจทก์ร่วมยินยอมและไม่ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 อีกเลย จนถึงวันที่ 25 เมษายน 2539 โจทก์ร่วมจึงนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสรรพสิทธิ (ที่ถูกต้องเป็นถนนสรรพสิทธิประสงค์) เพื่อเรียกเก็บเงินแทน แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ โดยให้เหตุผลว่า”บัญชีปิดแล้ว” ตามสำเนาใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.4 และ จ.4โจทก์ร่วมทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามเช็คทั้งสองฉบับนั้นแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จากพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์และโจทก์ร่วมกับตามพฤติการณ์แห่งคดีบ่งบอกให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 รับราชการเป็นครูระดับ 7 เป็นเพื่อนและเคยร่วมลงทุนในกิจการรับเหมาก่อสร้างกับจำเลยที่ 1 ย่อมมีความรู้สันทัดจัดเจนในการใช้เช็คและต้องมีความรอบคอบพอสมควรในการลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าลงลายมือชื่อในเอกสารสัญญากู้ยืมเพื่อเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ 1จึงขัดต่อเหตุผลและสภาพความเป็นจริง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเมื่อพินิจพิจารณาโดยรอบคอบตามคำเบิกความและพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมแล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ร่วมนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงิน แต่ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ถูกปิดลงก่อนที่โจทก์ร่วมจะนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4อนึ่งแม้จะปรากฏว่า สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างในคดีนี้นั้นปิดอากรแสตมป์เพียง 20 บาท ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 5 ระบุว่า การกู้ยืมเงินทุกจำนวนเงิน2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินให้กู้ยืมจะต้องปิดอากรแสตมป์ 1 บาท จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 300,000 บาท ดังนั้น จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 150 บาทการที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงินไม่ครบ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว…”จึงมีปัญหาวินิจฉัยว่าเช็คพิพาทที่ออกชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จะเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันจะทำให้จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้นในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เมื่อจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยมีสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 มาแสดงก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินก็ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แล้วจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นชอบแล้ว ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2เสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share