แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ต้องกู้ยืมเงินผู้อื่นมาชำระแก่จำเลยทั้งสามต้องเสียดอกเบี้ยกับขาดประโยชน์จากการนำที่ดินไปขายเอากำไร มิใช่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาดังโจทก์อ้างในคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้เรียกค่าเสียหายจากการไม่ได้รับดอกเบี้ยซึ่งอาจนำเงินที่ชำระแก่จำเลยทั้งสามไปฝากประจำธนาคารพาณิชย์ด้วย ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 9,125,781.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 8,275,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยทั้งสามไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ได้ภายในกำหนดตามสัญญา การที่เจ้าพนักงานที่ดินยังแบ่งแยกโฉนดที่ดินไม่เสร็จหาใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยทั้งสามจะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันทำให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยคืนเงินที่รับไว้จำนวน 7,500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 7 ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นและที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยทั้งสามต้องคืนเฉพาะราคาที่ดินจำนวน 1,500,000 บาท เท่านั้น ไม่ต้องคืนเงินค่าพัฒนาที่ดินจำนวน 6,000,000 บาท ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามรับเงินไปทั้งหมดจำนวน 7,500,000 บาท เมื่อเลิกสัญญาจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จึงจะมีผลให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม หาใช่คืนเฉพาะเงินชำระราคาที่ดิน ซึ่งเป็นเพียงเงินบางส่วนที่โจทก์ชำระไปไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่คู่สัญญากับโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การรับว่าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์จริง ข้อเท็จจริงจึงฟังยุติตามคำฟ้องและคำให้การว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะลงชื่อเป็นคู่สัญญาในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหรือไม่ก็ตาม ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อต่อไปมีว่าจำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ต้องกู้ยืมเงินผู้อื่นมาชำระแก่จำเลยทั้งสาม ต้องเสียดอกเบี้ยกับขาดประโยชน์จากการนำที่ดินไปขายหากำไร มิได้เรียกค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้รับดอกเบี้ย ซึ่งอาจนำเงินที่ชำระแก่จำเลยทั้งสามไปฝากประจำในธนาคารพาณิชย์ด้วย ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าว จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ คงรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นเท่านั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ชอบกับโจทก์บอกเลิกสัญญาไม่ชอบนั้น เห็นว่าจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสามไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 25 กรกฎาคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.