คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์แล้ว โจทก์ได้โอนเงินจำนวน 45,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้วนำไปหักกับดอกเบี้ยเงินกู้รายอื่นที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ถอนเงินจำนวน 45,000,000 บาท จากบัญชีเงินฝากจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์จัดให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับอื่น ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินกู้จำนวน 45,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมบริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง
มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินคดีนี้เกิดจากการที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาก่อนิติสัมพันธ์ในระหว่างกันขึ้นใหม่ โดยไม่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินรายอื่นที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ในขณะนั้น ดังนั้น แม้ฟังว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินรายอื่นแก่โจทก์ ก็ไม่ทำให้มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินในคดีนี้เป็นหนี้ค่าดอกเบี้ย แต่ต้องถือว่าจำนวนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ตามสัญญากู้ยืมเงินและเป็นหนี้ที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน ๕๐,๓๐๖,๒๙๙.๕๑ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี ของต้นเงิน ๔๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๖ แต่ไม่ได้รับเงินกู้จากโจทก์ เนื่องจากโจทก์ใช้กรรมวิธียอกย้อนให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้และจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ เพื่อเป็นประกันดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์รายอื่น ดังนั้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินจำนวน ๔๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท อีกไม่ได้ เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย การฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ชำระหนี้แก่โจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยจำนอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

Share