คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3516/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ขนเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากมาจากจังหวัดอื่นแล้วมาหาจำเลยที่ 2 ซึ่งรู้จักกัน จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำถุงพลาสติกขนาดใหญ่บรรจุเมทแอมเฟตามีนไปวางหลบสายตาคน ที่อาจเข้ามาในบ้าน เป็นพฤติการณ์ที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่า สิ่งของในถุงพลาสติกนั้นคือสิ่งใด แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจะมีคน มารับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ต่อไป ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบให้จำเลยที่ 2 โดยตรง เมื่อพิจารณา สภาพบ้านของจำเลยที่ 2 ประกอบ ซึ่งเป็นกระต๊อบใช้พื้นดินเป็น พื้นบ้านภายในบ้านไม่กั้นห้องและไม่ปรากฏว่าพบเงินสดในบ้าน จำนวนมากเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการจำหน่าย คงเพียงแต่ ให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำผิด จำเลยที่ 2 คงมี ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่าย
แม้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 6(1) จะบัญญัติว่า ผู้ใดสนับสนุนผู้กระทำ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการ แต่ บทกฎหมายดังกล่าวเป็นบทกำหนดโทษให้หนักขึ้น โจทก์ไม่ได้ ขอมาในฟ้อง จึงไม่อาจนำมาปรับแก่คดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 368 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 17 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง,66 วรรคสอง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 (ที่ถูก 368 วรรคหนึ่ง)จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 1 ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานลงโทษจำคุก 10 วัน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (ที่ถูกมาตรา 52(2)) กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 5 วัน การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) เป็นจำคุกตลอดชีวิตริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทภาณุวัฒน์ บุญทรงและพลตำรวจดุษิต แข็งเขตกรณ์ เป็นพยาน พยานทั้งสองเป็นผู้จับจำเลยทั้งสามและยึดได้ของกลาง พยานเบิกความสอดคล้องกันว่า เมื่อเข้าจับกุมพบจำเลยทั้งสามนั่งล้อมวงอยู่ในบ้าน และยังพบถุงพลาสติกขนาดใหญ่บรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย พยานทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีเหตุอันควรระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 ตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย ป.จ.3 ก็บันทึกไว้ว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปภายในบ้าน พบจำเลยทั้งสามจากการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ซุกซ่อนอยู่ข้างตู้ภายในบ้าน ดังนี้ ย่อมเชื่อได้ว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นจำเลยที่ 2 อยู่ในบ้านหาได้อยู่นอกบ้านห่างจากบ้านประมาณ 20 เมตร ดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบ ส่วนตำแหน่งที่พบถุงพลาสติกบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลาง พันตำรวจโทภาณุวัฒน์เบิกความว่าอยู่หลังตู้ซึ่งตั้งอยู่ปลายเตียงนอน และว่าเมื่อเข้าไปในบ้านมองไม่เห็น ต้องเดินไปที่หลังตู้จึงจะเห็น พลตำรวจดุษิตเบิกความว่าอยู่บนโต๊ะด้านหลังตู้เสื้อผ้าตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมระบุว่าอยู่ข้างตู้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานโจทก์ว่า ตรงที่เมทแอมเฟตามีนของกลางวางอยู่นั้นมีตู้บัง ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าอยู่บนพื้นห่างจำเลยที่ 1 ประมาณ 5 เมตร นั้น ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ข้อเท็จจริง ที่พยานผู้จับกุมเห็นจำเลยทั้งสามนั่งล้อมวงกันอยู่ โดยพยานทั้งสองเบิกความด้วยว่านั่งคุยกัน มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้จักกันหาใช่จำเลยที่ 1 เป็นคนจรมาและเข้าไปที่บ้านของจำเลยที่ 2 เพื่อขออาหารรับประทานดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบ การที่จำเลยที่ 1 ขนเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากมาจากจังหวัดเชียงรายแล้วมาหาจำเลยที่ 2 ซึ่งรู้จักกัน จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1นำถุงพลาสติกขนาดใหญ่บรรจุเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไปวางหลบสายตาคนที่อาจเข้ามาในบ้าน เป็นพฤติการณ์ที่ให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบเป็นอันดีว่าสิ่งของในถุงพลาสติกนั้นคือสิ่งใดแต่อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวน ดังบันทึกเอกสารหมาย จ.10 และตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จะมีคนมารับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ต่อไป จำเลยที่ 1 มีความรับผิดชอบต้องส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่คนที่จะมารับ พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาส่งมอบให้จำเลยที่ 2 จากจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับช่วงในการขนส่งหรือเป็นผู้รับเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ย่อมกลับไปเมื่อพิจารณาสภาพบ้านของจำเลยที่ 2 ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ เห็นได้ว่าบ้านของจำเลยที่ 2 มีลักษณะเช่นกระต๊อบใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้าน ภายในบ้านไม่กั้นห้อง และไม่ปรากฏว่าพบเงินสดของจำเลยที่ 2 ในบ้านหรือเงินฝากในธนาคารจำนวนมาก สมกับที่พยานโจทก์เบิกความว่าสืบทราบว่าที่บ้านของจำเลยที่ 2 มีการรวบรวมและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษรายใหญ่ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการจำหน่าย หรือในการเป็นผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เพียงแต่ให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผลที่มีปริมาณมาก จำเลยที่ 2 คงมีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน ในปัญหาเรื่องโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 2 แม้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 6(1) จะบัญญัติว่า ผู้ใดสนับสนุนผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการ แต่บทกฎหมายดังกล่าวเป็นบทกำหนดโทษให้หนักขึ้น โจทก์ไม่ได้ขอมาในฟ้อง จึงไม่อาจนำมาปรับแก่คดีได้ต้องนำบทบัญญัติทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 52(1) ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share