แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล มีอธิบดีเป็นผู้แทน การนับอายุความละเมิดตามป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่อธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
น. เป็นนายช่างแขวงการทางซึ่งเป็นเพียงข้าราชการในกรมของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้แทนของโจทก์โดยตรง แม้ น. จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปี 2539 แล้ว แต่อธิบดีผู้แทนโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 26 กันยายน 2546 นับถึงวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล โดยเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงคมนาคม มีนายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ เป็นอธิบดี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2538 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-2065 นครสวรรค์ มาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 ตอนชลบุรี – บ้านบึง ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถบังคับรถให้แล่นอยู่ในทางเดินรถได้ตามปกติ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 3+200 ที่เกิดเหตุ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับได้เสียหลักออกนอกทางเดินรถพุ่งชนกระถางต้นไม้เกาะกลางถนนซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ยอมรับต่อพนักงานสอบสวนว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 โจทก์ซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 20,000 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงต้องร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,336.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 มิใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นายนคร วานิชจำเริญกุล เจ้าหน้าที่ของโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 31 มกราคม 2539 ทวงถามจำเลยที่ 2 ให้ชำระค่าเสียหายเป็นการกระทำการแทนโจทก์ โจทก์จึงทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 เกินกำหนด 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 32,336.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,600 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2538 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-2065 นครสวรรค์ ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 มาถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 3+200 ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ที่เกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 โดยขับรถพุ่งชนกระถางกลางถนนซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 20,000 บาท ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2539 ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 12 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง นายนคร วานิชจำเริญกุล นายช่างแขวงการทางชลบุรีได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2539 ตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมากองนิติการในสังกัดโจทก์ได้รับรายงานผลการสอบสวนหาผู้รับผิดในทางแพ่งจากสำนักทางหลวงที่ 12 นายวินัย ธีรอภิศักดิ์กุล ผู้อำนวยการกองนิติการตรวจสอบสำนวนการสอบสวนแล้วเห็นว่าผู้ที่จะต้องรับผิดคือจำเลยทั้งสอง และได้บันทึกข้อความเสนอความเห็นลงวันที่ 23 กันยายน 2546 พร้อมทั้งได้จัดทำหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย และหนังสือแจ้งอัยการจังหวัดประจำศาลแขวงชลบุรีเพื่อพิจารณาดำเนินการฟ้องคดีแพ่งเพื่อให้นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ อธิบดีโจทก์ลงนามด้วยปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 และนายเทิดศักดิ์ได้บันทึกท้ายหนังสือความเห็นของกองนิติการเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546 ว่าลงนามแล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล มีอธิบดีเป็นผู้แทนตามกฎหมายซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบของราชการ รวมทั้งเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ฉะนั้น การนับอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่อธิบดีผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเหตุละเมิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2538 และนายนคร วานิชจำเริญกุล นายช่างแขวงการทางชลบุรีได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2539 ตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่แทนโจทก์ ถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปี 2539 แล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 12 มีนาคม 2537 จึงเกินกว่า 1 ปีนั้น เห็นว่า นายนครมีตำแหน่งเป็นนายช่างแขวงการทางชลบุรีซึ่งเป็นเพียงข้าราชการในกรมของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้แทนของโจทก์โดยตรง แม้เจ้าหน้าที่ของโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ปี 2539 แล้วก็ตาม แต่ได้ความจากนางสาวเย็นฤดี หอมแก้ว นิติกร 7 สำนักงานทางหลวงที่ 12 พยานโจทก์ว่า มีกรณีที่ทำละเมิดต่อทรัพย์สินของโจทก์เป็นพัน ๆ เรื่อง แต่มีเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องดังกล่าวสิบกว่าคน จึงต้องทยอยทำเพื่อสนองเรื่องให้อธิบดีโจทก์ทราบ เป็นเหตุให้รายงานอธิบดีโจทก์ทราบช้า ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ อธิบดีผู้แทนโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546 ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.6 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 26 กันยายน 2546 นับถึงวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.