คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำฟ้องไว้ จึงต้องนำป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติถึงการนัดพิจารณาไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องนำเรื่องการชี้สองสถานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 183 มาใช้บังคับ คดีแรงงานจึงไม่มีการชี้สองสถาน เมื่อไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน จึงมีสิทธิที่จะยื่นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรีที่ 34/2545 ลงวันที่ 2 กันยายน 2545 ของจำเลยที่ 1 ที่สั่งให้จำเลยที่ 2 นายจ้างของโจทก์จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วย ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นเงิน 10,549.93 บาท ให้แก่โจทก์นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์สมควรได้รับเพิ่มขึ้นอีกได้แก่ค่าจ้างในวันลาป่วย ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าล่วงเวลาในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 รวมเป็นเงิน 26,235 บาท และจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จ่ายเงินดังกล่าวเพิ่มให้แก่โจทก์และให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 สั่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่าสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยที่ 2 ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ในการทำงานไม่ได้กำหนดวันทำงานที่แน่นอน อยู่ที่ความพอใจของโจทก์ที่จะมาทำงานวันใดหรือไม่มาก็ได้ โจทก์ได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินต่าง ๆ ตามฟ้องเพราะโจทก์เป็นลูกจ้างรายวัน โจทก์นำคดีมาฟ้องด้วยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ศาลแรงงานกลางได้ไกล่เกลี่ยแล้วยังตกลงกันไม่ได้ จึงกำหนดประเด็นข้อพิพาท และนัดสืบพยานโจทก์ไป
ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องภายหลังจากที่ศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ถึงครึ่งเดือน ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำฟ้องไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ซึ่งมาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน…” คดีนี้ได้ความว่าวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์คู่ความมาศาล ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้วยังตกลงกันไม่ได้ จึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วให้นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 24 ธันวาคม 2545 ครั้นถึงวันนัด ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานดังกล่าวของศาลแรงงานกลางเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจาณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องนำเรื่องการชี้สองสถานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 มาใช้บังคับ ถือได้ว่าคดีแรงงานไม่มีการชี้สองสถาน เมื่อคดีนี้ไม่มีการชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 246 ซึ่งยื่นก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โจทก์จึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ และเมื่อพิเคราะห์คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ในข้อ 1.1 ที่ขอแก้ไขจาก “จำเลยที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์” เป็น “จำเลยที่ 2 ได้ผิดนัดชำระหนี้ค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์” ในข้อ 1.2 ที่ขอแก้ไขตั้งแต่บรรทัดที่ 1 ถึงบรรทัดที่ 4 ในคำฟ้องแผ่นที่ 4 หน้าแรกจาก “นอกจากนี้” ไปจนถึง “โจทก์จึงไม่ได้ไปทำงาน” เป็น “เนื่องจากในวันที่ 25 มีนาคม 2545 โจทก์ได้ยื่นหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ค่าจ้างค้างจ่ายที่จำเลยผิดนัดค้างจ่ายไว้ แต่จำเลยเพิกเฉย จงใจกลั่นแกล้งไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ทำให้โจทก์ไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพเพื่อทำงานกับจำเลยตามปกติได้ ประกอบกับโจทก์ย่อมมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 โจทก์จึงไม่ได้ไปทำงานกับจำเลย และต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2545″ ส่วนคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2 และข้อ 3 ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดเพิ่มเติม โดยให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน เห็นว่า คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการแก้ไขในรายละเอียดและเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ ซึ่งเป็นข้อที่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันโจทก์จึงมีสิทธิขอแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 และมาตรา 180 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและยกคำร้องของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2546.

Share