แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ทั้งสามในอัตราค่าเช่าเดือนละ 2,100 บาท แม้โจทก์ทั้งสามจะเรียกค่าเสียหายหลังจากครบกำหนดสัญญาเช่าเดือนละ 11,700 บาท มาด้วย ก็ไม่ใช่ว่าอาคารพิพาทอาจให้เช่าได้เกิน 4,000 บาท กรณีที่จะต้องใช้เกณฑ์ “อาจให้เช่า”นั้น จะต้องเป็นกรณีฟ้องผู้อาศัยหรือผู้กระทำละเมิดอันกำหนดค่าเช่าไม่ได้ คดีนี้เป็นการฟ้องขับไล่ผู้เช่าซึ่งกำหนดค่าเช่าไว้ชัดแจ้ง เมื่อค่าเช่าไม่เกิน 4,000 บาท จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวเลขที่ 23/34-36 ไปจากโจทก์ทั้งสาม มีกำหนดเวลาเช่า 3 ปี ครั้นครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วโจทก์ทั้งสามไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าตึกแถวของโจทก์ทั้งสามอีกต่อไป โจทก์ทั้งสามจึงบอกกล่าวให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวของโจทก์ทั้งสาม แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวเลขที่ 23/34-36 พร้อมกับส่งมอบตึกแถวดังกล่าวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 35,100 บาท แก่โจทก์พร้อมค่าเสียหายอีกเดือนละ11,700 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยพร้อมบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวดังกล่าว พร้อมกับส่งมอบตึกแถวดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวเลขที่ 23/34-36 ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร พร้อมกับส่งมอบแก่โจทก์ทั้งสามในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 27,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสาม และใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง(1 สิงหาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยพร้อมบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวดังกล่าว พร้อมกับส่งมอบตึกแถวดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ทั้งสามในอัตราค่าเช่าเดือนละ 2,100 บาท ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 แม้โจทก์ทั้งสามจะเรียกค่าเสียหายหลังจากครบกำหนดสัญญาเช่าเดือนละ 11,700 บาท มาด้วย ก็มิใช่ว่าอาคารพิพาทอาจให้เช่าได้เกิน 4,000 บาท ตามที่จำเลยฎีกา กรณีที่จะต้องใช้เกณฑ์ “อาจให้เช่า”นั้น จะต้องเป็นกรณีฟ้องผู้อาศัยหรือผู้กระทำละเมิดอันกำหนดค่าเช่าไม่ได้เท่านั้น คดีนี้เป็นการฟ้องขับไล่ผู้เช่าซึ่งกำหนดค่าเช่าไว้ชัดแจ้ง เมื่อค่าเช่าไม่เกิน 4,000 บาท จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยต่อไปว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า หลังจากครบกำหนดตามสัญญาเช่าโจทก์ทั้งสามมาเก็บค่าเช่าจากจำเลย ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลานั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า เงินค่าเช่าที่จำเลยชำระให้โจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2541 ภายหลังครบกำหนดสัญญาเช่านั้นเป็นการชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าของเดือนเมษายน2541 ไม่ใช่เป็นการชำระค่าเช่าภายหลังครบกำหนดสัญญาเช่า อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยนั้นเป็นการชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป มิได้ขอให้จำเลยชนะคดี จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง200 บาทตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ทั้งคำนวณค่าเสียหายมาจนถึงวันยื่นฎีกาเป็นทุนทรัพย์ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้จำเลย