คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 78/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยหาได้ฟ้องจำเลยในมูลละเมิดไม่ความรับผิดของจำเลยตามฟ้องจึงเกิดจากสัญญาประกันภัยค้ำจุนที่จำเลยทำกับผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา887โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ต้องเสียหายเข้าใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ต้องเสียหายซึ่งควรจะได้รับจากจำเลยแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้ต้องเสียหายฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยโดยตรงในนามของโจทก์เองได้ตามมาตรา880เมื่อคำฟ้องของโจทก์อาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนดังกล่าวจึงนำอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448มาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อโจทก์ได้ถอนคำฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้วย่อมถือว่าการถอนคำฟ้องนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและผลแห่งการถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้นและกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลยอีกทั้งไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา176ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยให้รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา880เมื่อผู้ต้องเสียหายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยกับโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายตั้งแต่วันทำละเมิดเพราะในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิดตามมาตรา206เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ต้องเสียหายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยผู้ทำละเมิดโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยและเรียกเอาดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวทวงถามหรือเตือนให้จำเลยชำระหนี้ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน82-9623 กรุงเทพมหานคร จากนางไน้ กาญจนอุดมสุข จำเลยรับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ก-7855 กรุงเทพมหานครจากนายไพบูลย์ ลิมพะสุต นายอุดม โล่ห์มหาเดช หรือผู้มีชื่อเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2533 นายไพบูลย์ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของนายอุดมหรือผู้มีชื่อ โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยไปตามถนนวังเดิมจากด้านศิริราชมุ่งหน้าไปทางโพธิ์สามต้นด้วยความประมาท โดยขับรถด้วยความเร็วสูงและไม่อาจบังคับรถได้เมื่อเข้าทางโค้งจึงเสียหลักแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางถนนพุ่งเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 82-9623กรุงเทพมหานคร ที่แล่นสวนทางมาทำให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน82-9623 กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหาย คือกันชนหน้าขวาบุบกันชนเหล็กเสริมบุบแก้มหน้าขวาบุบครูด ประตูหน้าขวาบุบ และพนักงานของจำเลยออกหลักฐานแสดงความรับผิดให้พนักงานของโจทก์ยึดถือไว้ โจทก์ได้ซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน 82-9623 กรุงเทพมหานครเสร็จเรียบร้อยแล้วและจ่ายค่าซ่อมเป็นเงิน 19,208 บาท กับค่าลากรถอีก 1,900 บาท รวมเป็นเงิน 21,108 บาท เมื่อวันที่28 พฤศจิกายน 2533 โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยให้รับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 2,506 บาท รวมเป็นเงิน 23,614 บาทขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 23,614 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 21,108 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ก-7855 กรุงเทพมหานคร จากผู้ใด โจทก์ไม่ให้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 82-9623กรุงเทพมหานคร ขณะเกิดเหตุนางไน้ไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันดังกล่าว จึงไม่มีสิทธินำรถยนต์มาทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ ผู้ขับรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไม่ใช่ลูกจ้างและไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับผู้เอาประกันภัยเหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน82-9623 กรุงเทพมหานคร รถยนต์หมายเลขทะเบียน 82-9623 กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย เสียค่าซ่อมไม่เกิน 5,000 บาทโจทก์ฟ้องโดยไม่ได้ทวงถามก่อนและมิได้ฟ้องภายใน 1 ปีจึงขาดอายุความ ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดโจทก์เคยฟ้องนายไพบูลย์กับพวกรวม 3 คนแล้วถอนฟ้อง โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยจึงเป็นการฟ้องซ้ำและใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 18,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกซึ่งจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยการรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยในมูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดและเรียกค่าเสียหาย มิได้ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาประกันภัยที่จะนำอายุความ2 ปี มาบังคับ กรณีตามฟ้องต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามมูลหนี้ละเมิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น พิจารณาแล้วโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 82-9623 กรุงเทพมหานครไว้จากนางไน้ กาญจนอุดมสุข มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 26มิถุนายน 2533 สิ้นสุดวันที่ 26 มิถุนายน 2534 จำเลยรับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ก-7855 กรุงเทพมหานคร จากนายไพบูลย์ลิมพะสุต นายอุดม โล่ห์มหาเดช หรือผู้มีชื่อ เมื่อวันที่3 ตุลาคม 2533 นายไพบูลย์ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยด้วยความประมาทชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 82-9623 กรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายหลายรายการโจทก์ได้ซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน82-9623 เสียค่าซ่อมเป็นเงิน 19,208 บาท ค่าลากรถอีก 1,900 บาทโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมไปแล้วจึงได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยให้รับผิด เห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งอยู่แล้วว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย หาได้ฟ้องจำเลยในมูลละเมิดดังที่จำเลยเข้าใจ ความรับผิดของจำเลยตามฟ้องจึงเกิดจากสัญญาประกันภัยค้ำจุนที่จำเลยทำกับผู้เอาประกันภัยซึ่งจำเลยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดจากรถยนต์ที่ได้เอาประกันภัยไว้ก่อขึ้นแก่บุคคลต้องเสียหาย และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบบุคคลผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้รับจากจำเลยผู้เอาประกันภัยโดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ต้องเสียหายเข้าใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ต้องเสียหายซึ่งควรจะได้รับจากจำเลยแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้ต้องเสียหาย ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยโดยตรงในนามของโจทก์เองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 เมื่อคำฟ้องของโจทก์อาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนดังกล่าวจึงนำอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 มาใช้บังคับไม่ได้
ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องในมูลละเมิดคดีนี้ให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดโจทก์จึงถอนคำฟ้องตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 118/2535 ของศาลชั้นต้นการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยอีกเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ถอนคำฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้วย่อมถือว่าการถอนคำฟ้องนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และผลแห่งการถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้การยื่นฟ้องเลยอีกทั้งไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยฎีกา
ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวทวงถามหรือเตือนจำเลยให้ชำระหนี้ก่อน จำเลยยังไม่เป็นผู้ผิดนัดโจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 เมื่อผู้ต้องเสียหายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยกับโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายตั้งแต่วันทำละเมิด เพราะมาตรา 206 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ต้องเสียหายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยผู้ทำละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย และเรียกเอาดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวทวงถามหรือเตือนให้จำเลยชำระหนี้ก่อนดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share