คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7344/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างโฆษณามีข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ในลักษณะเป็นแบบพิมพ์ของสัญญา กับข้อความที่เป็นลายมือเขียนในลักษณะการเติมข้อความลงในช่องที่เว้นว่างไว้สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ในแบบพิมพ์ ข้อความที่เป็นลายมือเขียนนอกจากจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคู่สัญญาและผู้ลงนามในสัญญาซึ่งเป็นตัวแทนของคู่สัญญาแล้ว ยังมีข้อตกลงของคู่สัญญาเขียนเติมไว้ในช่องด้านล่างของเอกสารว่า “เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ” ซึ่งไม่ถึงขนาดเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่สัญญาจะเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว นอกจากนี้พฤติการณ์ของคู่สัญญาระหว่างการติดต่อประสานงานกันและในการประชุมที่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขเรื่องข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง ซึ่งหากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะทำให้สัญญาเป็นผล เงื่อนไขนั้นย่อมเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่คู่สัญญาควรมีการเจรจากันในเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีการตกลงกำหนดเวลาลงเผยแพร่ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะไม่สมเหตุผลหากสัญญายังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงในการชำระเงินค่าจ้าง สัญญาจ้างโฆษณาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมายแล้ว โดยถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำการงานจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องชำระสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น อีกทั้งเมื่อคู่สัญญาทราบเป็นอย่างดีว่าการทำสัญญาจ้างโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวต่างประเทศทราบข้อมูลการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่เหมาะสม การจะลงเผยแพร่บทความโฆษณาใหม่ในช่วงเวลาใด โจทก์ยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างก่อน เพื่อให้จำเลยที่ 1 พิจารณาว่าช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม และจะเกิดประโยชน์สูงสุดจากการโฆษณานั้น การที่โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ไม่เห็นชอบด้วย จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ได้ทำการงานจนสำเร็จให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างเต็มจำนวนตามสัญญา อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ได้ลงเผยแพร่บทความโฆษณาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์แล้วนั้น เชื่อได้ว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้าง จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามส่วนที่ได้รับประโยชน์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าจ้างให้ตามสมควร เมื่อเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 แจ้งขอให้โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการเรียกเก็บเงิน แสดงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องคาดคะเนว่าข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างควรได้รับการอนุมัติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 สมควรชำระค่าจ้างให้โจทก์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ถือว่าหนี้ค่าจ้างดังกล่าวถึงกำหนดชำระภายในเดือนสิงหาคม 2553 นั้น แต่เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้ค่าจ้างนี้เป็นการอนุมานตามพฤติการณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง
ส่วนจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 4,410,866.84 บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.8 ต่อเดือน ของต้นเงินจำนวน 3,501,243.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศสหราชอาณาจักร มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดทำและเผยแพร่งานโฆษณา มีนางมาเรีย เป็นผู้รับมอบอำนาจบริษัทโจทก์ในการลงนามในสัญญาจ้างโฆษณาระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมถึงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงข่าว และสร้างภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเป็นหน่วยงานภายในของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เผยแพร่ สร้างความรู้ความเข้าใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทย และส่งเสริมการท่องเที่ยว จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ ขายพื้นที่โฆษณาในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มีนายพูนอังกูล เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 จำเลยที่ 2 ลงนามในสัญญาจ้างโฆษณา โดยระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำบทความโฆษณาการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ในรายงานพิเศษเกี่ยวกับประเทศไทย ลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์ (The Independent) กำหนดขนาดงานโฆษณาใกล้เคียงกับขนาดหน้านิตยสาร (Junior Page) ตกลงค่าจ้างจำนวน 80,820 ยูโร ขณะทำสัญญาจ้างโฆษณา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวซึ่งมีหน้าที่จัดทำโครงการยังไม่ได้มีการตั้งงบประมาณประจำปีไว้สำหรับการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ของประเทศสหราชอาณาจักร สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเริ่มต้นเสนอขออนุมัติโครงการและจัดสรรเงินงบประมาณ สำหรับโครงการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553 โดยตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 ต้องมีการนำเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานครก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงจะเสนอขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผ่านสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร โจทก์ดำเนินการติดต่อกับหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ตามเอกสารการโฆษณา เมื่อโจทก์ดำเนินการแล้ว โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าจ้างหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ
สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาจ้างโฆษณากับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 กระทำการแทนนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้โฆษณาประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์ ตามสัญญาจ้างโฆษณา ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งหรือโต้แย้งมาในคำแก้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า สัญญาจ้างโฆษณาเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน โดยสัญญาจะมีผลผูกพันคู่สัญญาต่อเมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติแล้วหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความระบุว่าหากข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างไม่ได้รับการอนุมัติ สัญญาจะไม่มีผลบังคับ ข้อความเรื่องข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างระบุอยู่ในช่องด้านล่างของสัญญาอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระเงิน รายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างจึงเกี่ยวข้องกับการชำระเงินเท่านั้น ไม่ใช่เงื่อนไขบังคับก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง สัญญามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว เห็นว่า สัญญาจ้างโฆษณา มีข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ในลักษณะเป็นแบบพิมพ์ของสัญญา กับข้อความที่เป็นลายมือเขียนในลักษณะการเติมข้อความลงในช่องที่เว้นว่างไว้สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ในแบบพิมพ์ ข้อความที่เป็นลายมือเขียนนั้นนอกจากจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคู่สัญญาและผู้ลงนามในสัญญาซึ่งเป็นตัวแทนของคู่สัญญาแล้ว มีข้อตกลงของคู่สัญญาเขียนเติมไว้ในช่องด้านล่างของเอกสารว่า “80,520 ยูโร (เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ) 30 วัน ชำระจำนวน 30,000 ยูโร 60 วัน ชำระจำนวน 30,000 ยูโร 90 วัน ชำระจำนวน 20,820 ยูโร (EIGHTY – THOUSAND EIGHT HUNDRED AND TWENTY – —— # 80,820 # EUROS (WHEN TOR APPROVED) 30 DAY PAYMENT – # 30,000 € # 60 DAY PAYMENT – # 30,000 € # 90 DAY PATMENT # 20,820 € #)” ข้อความดังกล่าวเขียนเติมอยู่ในช่องว่างของแบบพิมพ์หัวข้อค่าจ้างเป็นเงินยูโร (Price in EUROS) และหมายเหตุ (Comments) ต่อเนื่องกัน จึงเข้าใจได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระเงินค่าจ้างจำนวน 80,820 ยูโร แต่ข้อความว่า “เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ (WHEN TOR APPROVED)” จะถึงขนาดเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ที่สัญญาจะเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น ข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญาจ้างโฆษณาดังกล่าวไม่อาจตีความให้เข้าใจเช่นนั้นได้ และจากพฤติการณ์ของคู่สัญญาระหว่างการติดต่อประสานงานกันตามข้อความในอีเมล ซึ่งปรากฏว่าในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือน ภายหลังการลงนามในสัญญาจ้างโฆษณาแล้ว เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ส่งบทความและภาพถ่ายให้โจทก์จัดทำบทความโฆษณากรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ส่งร่างบทความโฆษณาที่จัดทำให้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ทั้งที่ทำงานให้แก่ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และที่ทำงานในสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว รวมทั้งนายพูนอังกูล พิจารณา หลังจากนั้นโจทก์แก้ไขร่างบทความโฆษณาตามความเห็นของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 แล้วส่งให้พิจารณาใหม่รวมจำนวน 4 ครั้ง ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างที่โจทก์ส่งร่างบทความโฆษณาให้ตรวจพิจารณานั้น โจทก์แจ้งโดยตลอดมาว่าขอให้รีบพิจารณาและตอบกลับโดยเร็วเพื่อให้ทันเวลาลงเผยแพร่ สอดคล้องกับข้อความในสรุปรายงานการประชุมระหว่างผู้แทนโจทก์กับผู้แทนของจำเลยทั้งสอง ตามอีเมล ที่ระบุวันลงเผยแพร่บทความโฆษณาไว้ในสุดสัปดาห์วันที่ 15 หรือ 22 พฤษภาคม 2553 เมื่อโจทก์ส่งร่างบทความโฆษณาให้ตรวจพิจารณาเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 19 เมษายน 2553 โจทก์จึงขอให้ตรวจพิจารณาเพื่ออนุมัติบทความภายในวันดังกล่าว หรืออย่างช้าในวันรุ่งขึ้น โดยเร็วที่สุด เพราะโจทก์ต้องเตรียมการสำหรับวันลงเผยแพร่บทความโฆษณาแล้ว และเมื่อโจทก์ส่งร่างบทความโฆษณาฉบับแก้ไขครั้งสุดท้ายให้ตรวจพิจารณาเป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 21 เมษายน 2553 นายรณชัย เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว รีบตอบกลับในวันเดียวกันว่า หัวหน้าจากแผนกการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 และศาลาว่าการได้ให้การอนุมัติบทความแล้ว ตามอีเมล นอกจากอีเมลดังกล่าวแล้ว นายรณชัย มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ด้วยว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2553 พยานทำงานอยู่ที่ กองการท่องเที่ยว มีหน้าที่ทำงานโดยใช้ความรู้ภาษาอังกฤษตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย นายประเมิน ผู้บังคับบัญชาพยานมอบหมายให้พยานเข้าร่วมประชุมกับผู้แทนโจทก์และผู้แทนของจำเลยทั้งสองเรื่องการลงเผยแพร่บทความโฆษณากรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์ ในการประชุมไม่ได้พูดถึงข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง แต่พูดเรื่องระยะเวลาว่าจะสามารถลงเผยแพร่บทความโฆษณาได้ทันภายในเดือนพฤษภาคม 2553 หรือไม่ ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้พยานประสานงานกับเลขานุการรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโจทก์ เพื่อให้ลงเผยแพร่บทความโฆษณาได้ทันภายในเดือนพฤษภาคม 2553 ภายหลังมีการติดต่อประสานงานเพื่อตรวจแก้บทความโฆษณากันหลายครั้ง จนได้รูปแบบซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาโดยเลขานุการรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บังคับบัญชาพยาน พยานได้รับคำสั่งให้แจ้งโจทก์ว่าบทความโฆษณาดังกล่าวแก้ไขสมบูรณ์แล้ว สามารถใช้ตีพิมพ์เผยแพร่ได้ พยานจึงส่งอีเมลแจ้งให้โจทก์ทราบ ขณะที่นายรณชัยมาเบิกความเป็นพยานโจทก์นั้น พยานทำงานที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งนักวิเทศสัมพันธ์ ไม่ได้ทำงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของบุคลากรในองค์กรจำเลยที่ 1 แล้ว นายรณชัยจึงเป็นพยานคนกลางที่ถ้อยคำมีน้ำหนักให้รับฟัง ประกอบกับนายประเมินหัวหน้ากลุ่มงานแผนงานการท่องเที่ยว กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว พยานจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่านายรณชัยเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และในการประชุมที่เกี่ยวกับภาษาต่างประเทศนายรณชัยจะเข้าประชุมร่วมกับข้าราชการอื่นอีก 1 คน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่านายรณชัยได้เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนโจทก์และผู้แทนของจำเลยทั้งสองตามที่พยานยืนยัน และในการประชุมไม่มีการพูดถึงข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง แต่พูดเรื่องกำหนดเวลาลงเผยแพร่บทความโฆษณา จากพฤติการณ์ของคู่สัญญาที่ในการประชุมไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขเรื่องข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง ซึ่งหากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะทำให้สัญญาเป็นผล เงื่อนไขนั้นย่อมเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่คู่สัญญาควรมีการเจรจากันในเรื่องดังกล่าว แต่กลับมีการตกลงกำหนดเวลาลงเผยแพร่ไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะไม่สมเหตุผลหากสัญญายังไม่เกิดขึ้น และการที่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 รีบส่งบทความและภาพถ่ายให้โจทก์จัดทำบทความโฆษณาตามภาระงานของผู้รับจ้าง รีบเร่งพิจารณาตรวจแก้และอนุมัติบทความเพื่อให้ทันเวลาลงตีพิมพ์ภายในเดือนพฤษภาคม 2553 ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นเสนอขออนุมัติโครงการและจัดสรรเงินงบประมาณโครงการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553 จำเลยทั้งสองไม่เคยท้วงติงหรือแจ้งระงับการทำงานของโจทก์ เพราะเหตุสัญญายังไม่เป็นผลเนื่องจากข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างยังไม่ได้รับการอนุมัติ แม้ว่าเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมอบหมายให้ผู้ช่วยเลขานุการแจ้งโจทก์ขอเลื่อนการลงเผยแพร่ ตามอีเมล ก็ให้เหตุผลการขอเลื่อนเนื่องจากความไม่สงบทางการเมือง และหลังจากโจทก์ยอมเลื่อนกำหนดวันลงเผยแพร่บทความโฆษณาให้จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองติดต่อประสานงานเพื่อกำหนดวันลงเผยแพร่ครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง ระหว่างนั้นแม้โจทก์จะทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้าง โดยอ้างว่าถึงกำหนดชำระเงินตามสัญญาแล้ว จำเลยทั้งสองก็ไม่เคยโต้แย้งหรือแจ้งโจทก์ว่าสัญญายังไม่เป็นผล แต่กลับขอให้โจทก์แจ้งกำหนดวันที่จะลงเผยแพร่ครั้งใหม่ให้ทราบก่อน ตามอีเมล สุดท้ายเมื่อโจทก์แจ้งยืนยันจะลงเผยแพร่บทความโฆษณาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ตามอีเมล จำเลยที่ 2 ก็แจ้งโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องการเลื่อนวันลงเผยแพร่ไปเป็นช่วงเดือนสิงหาคม 2553 โดยให้เหตุผลเพียงว่าข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างยังไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้ หากมีการเผยแพร่บทความโฆษณาไปก่อน จำเลยที่ 1 จะเกิดปัญหาในการจัดทำเอกสาร และจะมีปัญหาในการเรียกเก็บเงิน ตามอีเมล จำเลยทั้งสองมิได้แจ้งว่าเงื่อนไขบังคับก่อนยังไม่สำเร็จ สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่เกิดขึ้น หากโจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาไปก่อนเงื่อนไขสำเร็จ จะไม่สามารถเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้น ข้อความว่า “เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ (WHEN TOR APPROVED)” จึงไม่ใช่เงื่อนไขบังคับก่อน ที่สัญญาจะเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคหนึ่ง ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงในการชำระเงินค่าจ้าง สัญญาจ้างโฆษณา จึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมายแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน และระหว่างที่รอความสำเร็จของเงื่อนไข สัญญายังไม่เป็นผลนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้ค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สัญญาจ้างโฆษณา เป็นสัญญาต่างตอบแทนอันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างทำการงานจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างแล้ว ผู้ว่าจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องชำระสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น กรณีจึงเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์ได้ทำการงานจนสำเร็จให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างแล้วหรือไม่ ปัญหานี้แม้ข้อเท็จจริงปรากฏจากเอกสารการโฆษณาว่า โจทก์นำบทความโฆษณากรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์แล้ว แต่การที่โจทก์ บทความโฆษณาดังกล่าวลงเผยแพร่ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 นั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้ความเห็นชอบด้วย แม้ในสัญญาจ้างโฆษณาจะไม่มีกำหนดเวลาลงเผยแพร่ระบุไว้ แต่คู่สัญญาได้ตกลงกำหนดวันลงเผยแพร่บทความโฆษณาเป็นวันที่ 15 หรือ 22 พฤษภาคม 2553 ในการประชุมร่วมกัน ตามสรุปรายงานการประชุมในอีเมล โดยมีเหตุผลที่ตกลงกันกำหนดเวลาไว้เช่นนั้นด้วยว่า “ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนเป็นช่วงวันหยุดพักผ่อน และเดือนมิถุนายนจะมีการประชุมจี – 8 และ จี – 20 ที่ประเทศแคนาดา ตามที่ตกลงไว้กับสำนักงานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าจะมีการทำสำเนาบทความโฆษณาดังกล่าวไปแจกจ่ายด้วย รวมทั้งช่วงต้นเดือนมิถุนายนนั้นจะมีการจัดนิทรรศการสำหรับการท่องเที่ยว” จากเหตุผลดังกล่าวแสดงว่าคู่สัญญาทราบเป็นอย่างดีว่าการทำสัญญาจ้างโฆษณากรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวต่างประเทศทราบข้อมูลการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งแม้จำเลยที่ 1 จะขอเลื่อนกำหนดการลงเผยแพร่บทความโฆษณาเนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองอันเป็นพฤติการณ์พิเศษ หรือขอเลื่อนเนื่องจากความขัดข้องจากการขออนุมัติโครงการ ซึ่งทำให้ข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างยังไม่ได้รับการอนุมัติอันเป็นปัญหาภายในของจำเลยที่ 1 แต่การจะลงเผยแพร่บทความโฆษณาใหม่ในช่วงเวลาใด โจทก์ยังจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างก่อน เพื่อให้จำเลยที่ 1 พิจารณาว่าช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม และจะเกิดประโยชน์สูงสุดจากการโฆษณานั้น เพราะหากให้โจทก์เป็นผู้กำหนดวันลงเผยแพร่บทความโฆษณาได้เองโดยพลการ อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์อันแท้จริงของจำเลยที่ 1 ในการเข้าทำสัญญา การที่สัญญาจ้างโฆษณาไม่ได้กำหนดวันลงเผยแพร่บทความโฆษณาไว้อย่างชัดแจ้ง เป็นการเปิดโอกาสให้คู่สัญญาสามารถตกลงกำหนดวันลงเผยแพร่กันภายหลังทำสัญญาแล้วได้ สำหรับข้อตกลงด้านหลังสัญญาดังกล่าว ข้อ 4.1 ที่ว่า “โจทก์ไม่รับรองวันที่จะมีการลงเผยแพร่งานโฆษณา เว้นแต่วันและเวลาของการลงเผยแพร่งานโฆษณาจะได้มีการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรไปถึงผู้ว่าจ้าง” ก็เพื่อให้โจทก์ไปติดต่อกับหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์ โดยสามารถปรับเปลี่ยนกำหนดวันลงเผยแพร่ได้ตามสมควร ในขณะที่ผู้ว่าจ้างยังคงต้องมีสิทธิเลือกกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ด้วย ส่วนข้อตกลงด้านหลังสัญญา ข้อ 3.3 ซึ่งกำหนดว่า “กรณีที่ผู้ว่าจ้างโฆษณาผิดนัดในการส่งงานศิลป์ขั้นสุดท้าย หรือไม่จัดหาสัมภาระที่จำเป็น หรือไม่ทำการอนุมัติภายในเวลาที่กำหนด โจทก์มีสิทธิจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยปราศจากความรับผิด ดังต่อไปนี้ เอ ไม่เผยแพร่งานโฆษณา บี เผยแพร่งานโฆษณา …” ก็เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเลือกที่จะลงบทความโฆษณาหรือไม่ กรณีที่ผู้ว่าจ้างไม่อนุมัติบทความโฆษณาที่โจทก์จัดทำภายในเวลาที่กำหนด ไม่ใช่กรณีที่ผู้ว่าจ้างอนุมัติบทความโฆษณาภายในกำหนดแล้ว โจทก์จะลงเผยแพร่บทความโฆษณานั้นเมื่อใดก็ได้ สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีลูกค้ารายอื่นที่ต้องการให้ลงเผยแพร่บทความโฆษณาโดยเร็ว หากเลื่อนการเผยแพร่ออกไปอีกโจทก์จะผิดสัญญาต่อลูกค้ารายอื่นนั้น แม้โจทก์จะแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบในการประชุมร่วมกันว่าโจทก์มีลูกค้ารายอื่นอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏข้อตกลงในสัญญาหรือในการประชุมร่วมกันนั้นว่าลูกค้าทุกรายของโจทก์จะต้องลงเผยแพร่บทความโฆษณาในคราวเดียวกัน และเพราะเหตุใดจำเลยที่ 1 จะต้องยินยอมให้ลงเผยแพร่บทความโฆษณากรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ตามกำหนดเวลาที่ลูกค้ารายอื่นของโจทก์ต้องการ การที่โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ไม่เห็นชอบด้วย จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ได้ทำการงานจนสำเร็จให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างเต็มจำนวนตามสัญญา แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ได้ลงเผยแพร่บทความโฆษณาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์ ดิอินดีเพนเดนต์แล้วนั้น เชื่อได้ว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้าง จำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามส่วนที่ได้รับประโยชน์นั้น เมื่อคู่ความไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าการลงตีพิมพ์บทความโฆษณากรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 เช่นนั้นเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของจำเลยที่ 1 มากน้อยเพียงใด ศาลมีอำนาจกำหนดค่าจ้างให้ตามสมควรเป็นจำนวน 1,000,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.8 ต่อเดือน นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้งวดแรก โดยโจทก์อุทธรณ์ว่ามีกำหนดชำระเงินระบุไว้ท้ายสัญญาจ้างโฆษณา คือ งวดแรกชำระจำนวน 30,000 ยูโร ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา หรือภายในวันที่ 25 เมษายน 2553 งวดที่ 2 ชำระจำนวน 30,000 ยูโร ภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญา หรือภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 และงวดที่ 3 ชำระจำนวน 20,820 ยูโร ภายใน 90 วัน นับแต่วันทำสัญญา หรือภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2553 นั้น เห็นว่า ข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นกำหนดชำระเงิน ซึ่งมีวันเดือนปีระบุไว้ดังกล่าวมีเขียนอยู่ในหมายเหตุในใบเรียกเก็บเงิน อันเป็นเอกสารที่โจทก์จัดทำขึ้นเองแต่ฝ่ายเดียวโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ตกลงด้วย โจทก์จะนำมาบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันชำระเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ ข้อความที่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระเงินของคู่สัญญาจึงมีอยู่เฉพาะในสัญญาจ้างโฆษณา ซึ่งมีข้อความว่า “เมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติ” กำกับไว้ตอนต้น เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์ที่โจทก์เคยทวงถามการชำระเงินค่าจ้าง โดยถามถึงขั้นตอนการอนุมัติข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้าง และเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการโดยเร็วเพื่อจะได้ชำระค่าจ้างตามอีเมล จึงแสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินค่าจ้างเมื่อข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายสมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2554 พยานจำเลยทั้งสอง ว่าในที่สุดแล้วผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ได้อนุมัติและจัดสรรงบประมาณโครงการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในหนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์ เป็นผลให้ข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างไม่ได้รับการอนุมัติด้วย จำเลยที่ 1 จึงยังไม่ผิดนัดชำระค่าจ้างแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มจากการผิดนัด แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าจ้างก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างได้รับการอนุมัติภายในเวลาอันสมควร เมื่อเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 และนายพูนอังกูลแจ้งขอให้โจทก์ลงเผยแพร่บทความโฆษณาในเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการเรียกเก็บเงิน ตามอีเมล อันเป็นการแสดงว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องคาดคะเนว่าข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิงของผู้ว่าจ้างควรได้รับการอนุมัติแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 สมควรชำระค่าจ้างให้โจทก์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2553 ถือว่าหนี้ค่าจ้างดังกล่าว ถึงกำหนดชำระภายในเดือนสิงหาคม 2553 นั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อกำหนดเวลาชำระหนี้ค่าจ้างนี้เป็นการอนุมานตามพฤติการณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน ย่อมต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เพิ่งมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าจ้างภายใน 20 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับภายในประเทศ ซึ่งเมื่อครบกำหนดตามหนังสือทวงถามดังกล่าวคือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากการผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 แม้ว่าการที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโฆษณากับโจทก์ก่อนที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จะขออนุมัติโครงการและจัดสรรเงินงบประมาณ จะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยระเบียบราชการของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ จำเลยที่ 1 จะอ้างระเบียบปฏิบัติของส่วนราชการมาเพื่อให้พ้นจากความรับผิดต่อบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share