แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 และต่อมาได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่โดยจำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวกลับเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ดังนั้นระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2553 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 รวมทั้งไม่มีหน้าที่จับกุม ป. กับพวก ซึ่งกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.การพนัน พุทธศักราช 2478 ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุใด ๆ ที่มิใช่เป็นการลงโทษ ให้ผู้นั้นมีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน” นั้น เป็นบทบัญญัติให้ข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อสิทธิในการรับเงินเดือน และเงินอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสี่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่ จึงไม่อาจถือว่าระหว่างเวลาที่ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เรียกรับเงินจาก ป. กับพวก เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 จึงเป็นการกระทำในขณะจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดซึ่งผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 149 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามกฎหมายมาตราดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 149 และ 157
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 149 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ กระทงละ 5 ปี รวม 6 กระทง จำคุก 30 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 36 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 5 ปี รวม 8 กระทง จำคุก 40 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 8 กระทง จำคุก 24 ปี 32 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 27 ปี 6 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 รวม 8 กระทง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ก่อนศาลชั้นต้นส่งสำนวนมาศาลฎีกาจำเลยที่ 3 ขอถอนฎีกาศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ต่อมาปรากฏผลการสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำผิดวินัย และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการ จึงได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการ จำเลยที่ 1 ได้รายงานตัวขอกลับเข้ารับราชการที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 นางสาววิจิตรา กับพวก ได้จัดให้มีการเล่นพนันโดยนำสุราและสินค้าอื่น ๆ มาทำแผงสลากและออกสลากนำไปวางจำหน่ายตามร้านค้าในจังหวัดชลบุรีเพื่อให้ลูกค้าผู้ซื้อสลากจับสลาก หากได้หมายเลขตรงกับหมายเลขที่ติดไว้ที่สุราหรือสินค้าใด ลูกค้าก็จะได้รับสุราหรือสินค้านั้นไป อันเป็นการพนันตามบัญชี ข. อันดับที่ 9 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 คดีในส่วนจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 9 จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 9 หรือไม่ คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 9 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 โดยบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 9 หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และโจทก์ไปในคราวเดียวกัน เห็นว่า คดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 พยานโจทก์มีนางปาริชาติ นางสาววิจิตรา นางสาวรุ่งนภา และนางสาวอารียา รวมจำนวน 4 ปาก เป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 จำเลยที่ 1 แสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและขอให้นางปาริชาติกับพวกจ่ายเงินเพื่อที่จะได้ไม่ต้องยกแผงสลากของนางปาริชาติกับพวกไป และเดือนมิถุนายน 2553 จำเลยที่ 1 กับพวกไปยึดแผงสลากของนางปาริชาติกับพวกที่ร้านซักอบรีดในเมืองพัทยากลางและจำเลยที่ 1 ได้นำนางสาววิจิตราไปพบชายที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นผู้หมวดและเป็นเจ้านายจำเลยที่ 1 ที่ด้านหลังอาคารสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา เพื่อให้นางสาววิจิตราเจรจาต่อรองกับผู้หมวดในเรื่องจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้เพื่อไม่ต้องถูกดำเนินคดี แล้วนางสาววิจิตรามอบเงินจำนวน 4,000 บาท ให้ชายที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นผู้หมวด โดยนางปาริชาติได้พบตัวจำเลยที่ 1 จำนวน 1 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นางสาววิจิตราพบจำเลยที่ 1 จำนวน 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และเดือนมิถุนายน 2553 นางสาวรุ่งนภาและนางสาวอารียาพบจำเลยที่ 1 คนละ 1 ครั้ง ในเดือนมิถุนายน 2553 โดยนางสาวรุ่งนภายังได้นั่งรถยนต์คันเดียวกับจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา พยานโจทก์ทั้งสี่ปากมีโอกาสและเวลาพูดกับจำเลยที่ 1 เป็นเวลานาน ทั้งยังยืนยันตรงกันถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุให้ควรระแวงสงสัยว่าจะจำตัวจำเลยที่ 1 ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เหตุที่มีการสอบสวนคดีนี้สืบเนื่องจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการและพบมีการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางสาวอารียาไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 จึงเรียกพยานโจทก์ทั้งสี่ไปสอบถาม พฤติการณ์จึงไม่มีเหตุให้ควรระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสี่จะกลั่นแกล้งกล่าวหาปรักปรำจำเลยที่ 1 ประกอบกับนางสาวรุ่งนภาเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ขอหมายเลขโทรศัพท์ของนางสาวรุ่งนภาไว้และต่อมาได้โทรศัพท์แจ้งหมายเลขบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 3 ให้นางปาริชาติกับพวกโอนเงินเข้า ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไปเชื่อมโยงกับการที่ปรากฏภาพจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าตนไปทำธุรกรรมที่หน้าเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติจริง และตามคำเบิกความของนางสาวอารียาและนางสาวรุ่งนภาประกอบรายการบัญชีเงินฝากของนางสาวอารียาได้ความว่า มีการโอนเงินเข้าบัญชีฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ของจำเลยที่ 3 บัญชีเลขที่ 7662092163 รวมจำนวน 7 ครั้ง ดังนี้ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 จำนวน 2,000 บาท วันที่ 6 สิงหาคม 2553 จำนวน 2,000 บาท วันที่ 7 กันยายน 2553 จำนวน 3,000 บาท วันที่ 4 ตุลาคม 2553 จำนวน 3,000 บาท วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 3,000 บาท วันที่ 3 ธันวาคม 2553 จำนวน 3,000 บาท และวันที่ 5 มกราคม 2554 จำนวน 3,000 บาท พยานโจทก์มีทั้งพยานบุคคลยืนยันและหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ที่ปรากฏภาพจำเลยที่ 1 ไปเบิกถอนเงินที่เครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติ จึงมีน้ำหนักและเหตุผลมั่นคงรับฟังเชื่อถือได้ ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า วันที่ 3 มิถุนายน 2553 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปเรียกเงินจากนางสาววิจิตรากับพวกที่ร้านซักอบรีดที่เมืองพัทยากลางเพราะจำเลยที่ 1 เดินทางไปอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี แล้วรถยนต์ถูกคนร้ายขีดเป็นรอย จึงไปแจ้งความไว้นั้น เห็นว่านางสาววิจิตราเบิกความถึงวันเกิดเหตุที่ร้านซักอบรีดที่เมืองพัทยากลางว่าเกิดเหตุในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2553 และตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า เป็นวันที่ 3 มิถุนายน 2553 หรือไม่จำไม่ได้ ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าวันที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้เดินทางไปจังหวัดปทุมธานีนั้นเป็นวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุที่ร้านซักอบรีดที่เมืองพัทยากลาง ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีนางสุนิษา เจ้าของร้านซักอบรีดที่เมืองพัทยากลางมาเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อประมาณกลางปี 2553 มีเจ้าพนักงานตำรวจแต่งกายนอกเครื่องแบบจำนวน 4 ถึง 5 คน มายึดแผงสลากของนายแบงค์ที่นำมาวางจำหน่ายในร้านของนางสุนิษา นางสุนิษาได้โทรศัพท์เรียกนายแบงค์มาที่ร้านแล้วนายแบงค์ได้ไปกับเจ้าพนักงานตำรวจ แต่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งนางสุนิษายังได้ให้ปากคำดังกล่าวไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจด้วย เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 และเบิกความต่อศาล ในคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 อันเป็นเวลาภายหลังวันเกิดเหตุนานประมาณ 2 ปี และเกือบ 3 ปี ตามลำดับ แล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏว่านางสุนิษารู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนเกิดเหตุไม่น่าเชื่อว่านางสุนิษาจะจำเจ้าพนักงานตำรวจที่มายึดแผงสลากได้ ที่นางสุนิษาเบิกความยืนยันว่าเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวไม่ใช่จำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักทำให้คำเบิกความของนางสาววิจิตรา นางสาวรุ่งนภา และนางอารียาพยานโจทก์ที่เดินทางไปร้านซักอบรีดที่เมืองพัทยากลางขาดความน่าเชื่อถือไปได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า นางปาริชาติเคยกู้ยืมเงินนอกระบบจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 แล้วไม่พอใจที่ถูกทวงถาม นางปาริชาติจึงเก็บหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้เงินกู้มาปรักปรำจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่นำเจ้าของร้านค้าในตลาดปอยเปตมาเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจไปยกแผงสลากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นางสาววิจิตรา นางสาวรุ่งนภา และนางสาวอารียาเบิกความแตกต่างกันในเหตุการณ์ที่ร้านซักอบรีดที่เมืองพัทยากลางและที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาและอ้างข้อเท็จจริงอื่นอีกหลายประการนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียกรับเงินจากนางปาริชาติกับพวกและเป็นเรื่องในรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่รับวินิจฉัย เหตุผลและพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับชายที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าผู้หมวดเรียกและรับเงินจากนางปาริชาติกับพวกเพื่อแลกกับการไม่จับกุมนางปาริชาติกับพวกไปดำเนินคดีในความผิดต่อพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 โดยเรียกและรับเงินไปในเดือนมิถุนายน 2553 จำนวน 1 ครั้ง และระหว่างเดือนกรกฎาคม 2553 ถึงเดือนมกราคม 2553 จำนวน 7 ครั้ง สำหรับคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์คงมีนางสาววิจิตราเป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่า ชายที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าผู้หมวดและนำนางสาววิจิตราไปเจรจาต่อรองที่ด้านหลังอาคารสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาคือจำเลยที่ 2 แม้นางสาววิจิตราเจรจาต่อรองจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายกับผู้หมวดนานประมาณ 10 นาที แต่นางสาววิจิตราไม่รู้จักผู้หมวดมาก่อน หลังเกิดเหตุไม่เคยพบหน้ากันอีก ที่นางสาววิจิตราดูภาพถ่ายจำเลยที่ 2 จากฐานข้อมูลทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน แล้วรับรองว่าจำเลยที่ 2 คือผู้หมวดนั้น เป็นการดูเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 หลังจากวันเกิดเหตุที่พบผู้หมวดเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 นานถึง 9 เดือน และเบิกความต่อศาลยืนยันว่าจำเลยที่ 2 คือผู้หมวดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 หลังวันเกิดเหตุ 2 ปีเศษ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้หมวดมีลักษณะหรือตำหนิรูปพรรณพิเศษอย่างไรที่จะช่วยให้สังเกตจดจำได้ง่าย ประกอบกับในชั้นสอบสวนนางสาววิจิตราให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ผู้หมวดฟันเหยิน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เบิกความได้ยิงฟันให้ศาลชั้นต้นดูว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ฟันเหยิน ดังนี้ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวนางสาววิจิตราอาจจำหน้าผู้หมวดผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุนว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าทั้งสองออกปฏิบัติหน้าที่ในขณะเกิดเหตุร่วมกันหรือไม่ ลำพังแต่คำเบิกความของนางสาววิจิตรา พยานโจทก์ดังกล่าวเพียงปากเดียวยังไม่หนักแน่นพอให้รับฟังได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 คือ ผู้หมวดที่เรียกและรับเงินจากนางสาววิจิตรา กรณีมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ร่วมกับชายที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าผู้หมวดเรียกและรับเงินจากนางปาริชาติกับพวกเพื่อแลกกับการที่ไม่จับกุมนางปาริชาติกับพวกไปดำเนินคดีในความผิดต่อพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 หรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 และต่อมาได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่โดยจำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวกลับเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ดังนั้นระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2553 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 รวมทั้งไม่มีหน้าที่จับกุมนางปาริชาติกับพวกซึ่งกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุใด ๆ ที่มิใช่เป็นการลงโทษ ให้ผู้นั้นมีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน” นั้น เป็นบทบัญญัติให้ข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อสิทธิในการรับเงินเดือน และเงินอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสี่ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่ จึงไม่อาจถือว่าระหว่างเวลาที่ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ การเรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ผู้กระทำความผิดต้องมีหน้าที่ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ต้องมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เรียกรับเงินจากนางปาริชาติกับพวกเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 จำนวน 4,000 บาท และวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 จำนวน 2,000 บาท จึงเป็นการกระทำในขณะจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดซึ่งผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดในการกระทำตามข้อกล่าวหา ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่การที่นางปาริชาติกับพวกโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2553 จำนวน 2,000 บาท วันที่ 7 กันยายน 2553 จำนวน 3,000 บาท วันที่ 4 ตุลาคม 2553 จำนวน 3,000 บาท วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 จำนวน 3,000 บาท วันที่ 3 ธันวาคม 2553 จำนวน 3,000 บาท และวันที่ 5 มกราคม 2554 จำนวน 3,000 บาท นั้น เป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการโดยปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว แม้ช่วงเวลาที่โอนเงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้เรียกเงินจากนางปาริชาติกับพวก แต่ก็สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับชายที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าผู้หมวดเรียกให้นางปาริชาติกับพวกจ่ายเงินเป็นรายเดือนเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกจับกุมโดยจำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์แจ้งหมายเลขบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ให้นางปาริชาติกับพวกโอนเงินไปเข้าบัญชีดังกล่าว กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรับเงินที่โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 แต่ละเดือนในระหว่างวันที่ 6 สิงหาคม 2553 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2554 ไว้เพื่อแลกกับการไม่จับกุมนางปาริชาติกับพวกในความผิดต่อพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ในช่วงเวลาที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว การร่วมรับเงินแต่ละเดือนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 รวม 6 กระทง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาครั้งที่ 4 ถึงครั้งที่ 9 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง เมื่อได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดในการกระทำตามข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าชายที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าผู้หมวดนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่ จำเลยที่ 3 ที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน
เจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบในการกระทำตามข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ด้วย กรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 213
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 รวม 6 กระทง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 86 รวม 6 กระทง จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวม 6 กระทง จำคุก 30 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 6 กระทง คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 20 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 22 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์