คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58 ได้บัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจ ใช้อำนาจทางตุลาการเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการใช้ดุลพินิจดังกล่าวศาลมีอำนาจที่จะตรวจสอบในเนื้อหาของแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนำมาพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่
การพิจารณาว่าข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้หรือไม่ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ตรี โดยพิจารณาเฉพาะบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน ดังนั้น แม้ในแผนฟื้นฟูกิจการจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ต่างกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ก็เป็นกรณีที่ผู้ทำแผนสามารถกำหนดได้เพราะเป็นเจ้าหนี้ต่างกลุ่มกัน เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันแล้ว ต้องถือว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชำระหนี้เป็นไปตามมาตรา 90/58(2) ประกอบมาตรา 90/42 ตรีแล้ว
เกี่ยวกับการแปลงหนี้เป็นทุนตาม พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/42วรรคท้าย บัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119วรรคสอง ดังนั้น ผู้ทำแผนจึงสามารถทำแผนเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้มาเป็นทุนได้ทำให้ทุนจดทะเบียนของลูกหนี้เพิ่มขึ้นโดยเจ้าหนี้จะเป็นผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนหนี้ของตน สถานะของเจ้าหนี้ย่อมเปลี่ยนมาเป็นผู้ร่วมลงทุนกับผู้ถือหุ้นเดิม
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/60 วรรคสอง ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้นมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนส่วนบุคคลอื่นซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้จะต้องรับผิดอีกเช่นไร ต้องเป็นไปตามกฎหมายต่าง ๆซึ่งว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยในส่วนผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นความรับผิดก็เมื่อหนี้นั้นได้ระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698การที่เจ้าหนี้ได้รับโอนหุ้นเพื่อชำระหนี้มาจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อตีราคาตลาดที่แท้จริงแล้วชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ได้เพียงบางส่วน หนี้ส่วนของผู้ค้ำประกันก็ย่อมระงับเพียงบางส่วนเท่านั้น การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียว ย่อมขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่เมื่อรายการดังกล่าวมิใช่รายการสำคัญและพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ก็ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในมาตราดังกล่าวแล้วการที่ข้อกำหนดดังกล่าวตกไปจึงไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ของแผน ถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ประกอบ 90/58 วรรคสอง แล้ว
ปัญหาที่ว่า มีเหตุผลอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่เป็นปัญหาในชั้นพิจารณาคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/10 อันเป็นกระบวนพิจารณาก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นคัดค้านแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งให้บริษัท พี. แคปปิตอล แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่ได้มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 90/56

เจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านว่า การโอนหุ้นหลักประกันชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ และชำระเงินสดเพิ่มอีกจำนวน 2,179,510.55บาท ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้อื่น เนื่องจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทสินบัวหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหุ้นหลักประกัน จึงไม่ทำให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เสียหายหรือมีส่วนต้องสูญเสียแต่อย่างใด ไม่มีความจำเป็นที่ลูกหนี้จะต้องเสนอชำระเงินสดเพิ่มเติมให้แก่เจ้าหนี้รายนี้อีกทั้งเงินสดจำนวนดังกล่าวจะนำมาจากไหนอย่างไรไม่ปรากฏ ตามงบดุลของลูกหนี้ ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2543 ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้มีเงินสดจำนวนดังกล่าว หากลูกหนี้มีความสามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้ ก็น่าจะนำเงินจำนวนดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันมากกว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับชำระหนี้จากหลักประกันไปแล้ว ในขณะที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันไม่ได้รับชำระหนี้ใด ๆ เลย ในส่วนเจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการเสนอให้แปลงหนี้เป็นทุนนั้น ลูกหนี้มีหนี้สินเป็นจำนวนมากตามงบดุลของลูกหนี้มีทุนจดทะเบียน 50,000,000 บาท แต่มีการขาดทุนสะสมถึง177,133,959.62 บาท หุ้นของลูกหนี้จึงไม่มีมูลค่า ฉะนั้น การให้แปลงหนี้เป็นทุนโดยตีราคาหุ้นสามัญตามที่จดทะเบียนไว้ในราคามูลค่าหุ้นละ 10 บาท มาตีราคาชำระหนี้ในราคาหุ้นละ 40 บาท จึงเสมือนหนึ่งว่าลูกหนี้ยกบริษัทที่ขาดทุนอย่างมหาศาลให้เจ้าหนี้การใช้สิทธิของลูกหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนซึ่งมีแต่ขาดทุนสะสมนั้นจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจการให้คำปรึกษา หากธุรกิจของลูกหนี้เองยังประสบภาวะขาดทุนจนเกินทุนจดทะเบียนแล้ว กิจการของลูกหนี้ทั่วไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีทางจะกลับฟื้นตัวได้ จึงไม่มีเหตุผลอันควรและไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ ฉะนั้น หากมีการยอมรับแผนดังกล่าวเจ้าหนี้ไม่มีประกันก็จะไม่ได้รับชำระหนี้แต่อย่างใดไม่ว่าปัจจุบันหรือในอนาคต นอกจากนี้แผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวยังทำให้เจ้าหนี้เสียสิทธิที่ควรจะได้รับจากหลักประกันที่มีอยู่ในปัจจุบันไปด้วย ซึ่งไม่เป็นการยุติธรรมอย่างยิ่ง แผนของลูกหนี้ตามที่เสนอมานั้นไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากกว่ากรณีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายแต่อย่างใดและเป็นประโยชน์เฉพาะแก่เจ้าหนี้มีประกันเท่านั้น หากศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายกลับจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่มากกว่าเนื่องจากเมื่อมีการรวบรวมสินทรัพย์ตามความเป็นจริงออกขายทอดตลาดแล้วจะมีมูลค่ามากกว่าที่ลูกหนี้ได้แสดงไว้ในงบดุล และสามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ในจำนวนที่มากกว่าและในระยะเวลารวดเร็วกว่าที่ปรากฏในแผนดังที่ได้ประมาณการไว้ หากได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายไม่ครบถ้วน เจ้าหนี้ยังสามารถไล่เบี้ยจากผู้ค้ำประกันได้อีกด้วย ขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า ผู้ทำแผนได้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามบทบัญญัติและหลักการของกฎหมาย โดยนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างสูงสุด ซึ่งหากมีการดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้วจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในส่วนของเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ผู้ทำแผนได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงินกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มิใช่สถาบันการเงิน ได้มีการหารือกับเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการแปลงหนี้เป็นทุนเนื่องจากทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การที่ลูกหนี้เสนอชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันโดยการแปลงหนี้ทั้งหมดเป็นหุ้นสามัญของลูกหนี้ ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 50,000,000 บาท โดยเป็นหุ้นสามัญ 5,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาทนั้น ผู้ทำแผนมีหลักเกณฑ์การกำหนดจำนวนและมูลค่าหุ้น คือ เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ตกลงที่จะให้ผู้ถือหุ้นเดิมในบริษัทลูกหนี้คงสัดส่วน การเป็นผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 75จำนวนหุ้นทั้งหมดที่จะมีหลังการแปลงหนี้เป็นทุนไม่เกิน 6,666,666 หุ้น จำนวนหุ้นที่จะทำการเพิ่มทุนไม่เกิน 1,666,666 หุ้น ฉะนั้น จากภาระหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ไม่มีประกัน(ทั้งกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3) ซึ่งมีภาระหนี้รวม 57,816,317.63 บาท จะแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ในราคาประมาณหุ้นละ 35-40 บาท การลงมติยอมรับแผนที่ได้มีการแก้ไขแล้วในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 หากคิดเฉพาะกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกัน(กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3) มีจำนวนทั้งสิ้น 41,456,209.61 บาท คิดเป็นร้อยละ 71.70จึงมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 แห่งจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน จึงเป็นกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่มีการแก้ไขแล้วตามกฎหมาย

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้แบ่งเจ้าหนี้ออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกันซึ่งจะได้รับชำระหนี้คืนร้อยละ 75.20 ของหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดยแบ่งชำระหนี้เป็นสองส่วนคือ โอนหุ้นของบริษัทสินบัวหลวงจำกัด (มหาชน) ทรัพย์จำนำชำระหนี้และชำระเป็นเงินสดอีกส่วนหนึ่ง กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงิน และกลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน โดยได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้ทั้งหมดเป็นหุ้นสามัญของลูกหนี้ การพิจารณาว่าข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนเป็นธรรมและเท่าเทียมกันระหว่างเจ้าหนี้หรือไม่ ตามมาตรา 90/42 ตรี จะต้องพิจารณาในระหว่างกลุ่มเดียวกันเท่านั้นซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเสนอในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้คัดค้านแล้ว เห็นว่า การชำระหนี้ให้เจ้าหนี้รายนี้มีความเท่าเทียมกับการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้รายอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันทั้งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวได้แสดงข้อมูลว่าหากลูกหนี้ล้มละลายแล้วไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกัน นอกจากนี้การที่ในแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีประกันเท่าใดนั้น เป็นกรณีที่อาจจะกำหนดไว้ในแผนสำหรับที่จะปฏิบัติต่อเจ้าหนี้มีประกันซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่างกลุ่มได้ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวข้างต้น ส่วนที่เจ้าหนี้ผู้คัดค้านอ้างว่าแผนดำเนินธุรกิจของลูกหนี้มีที่มาของรายได้ค่อนข้างเลื่อนลอย ทำให้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่แน่ใจว่าหากมีการชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับผลประโยชน์จากการประกอบการของลูกหนี้หรือไม่นั้นกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปในทางใดได้แน่นอนขึ้นอยู่กับความสามารถของลูกหนี้และปัจจัยภายนอกด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้จะต้องพิจารณา แต่อย่างไรก็ตามในที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน มีเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนรวม 8 ราย เป็นจำนวนหนี้ทั้งสิ้น 129,779,200.05 บาท ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด เจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 7 ราย เป็นจำนวนหนี้113,419,092.03 บาท คิดเป็นร้อยละ 87.39 ของจำนวนหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนจึงเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ของแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ที่เจ้าหนี้ผู้คัดค้านอ้างว่าลูกหนี้ประกอบธุรกิจการให้คำปรึกษาหากธุรกิจของลูกหนี้ประสบภาวะขาดทุนจนเกินทุนจดทะเบียนแล้ว กิจการของลูกหนี้ทั่วไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีทางจะกลับฟื้นตัวได้จึงไม่มีเหตุผลอันควรให้ฟื้นฟูกิจการ และไม่มีช่องทางฟื้นฟูกิจการ ข้ออ้างดังกล่าวเป็นการคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน

เจ้าหนี้อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าในการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของศาลนั้น ศาลมีอำนาจพิจารณาถึงเนื้อหาของแผนหรือไม่ เห็นว่า การที่กฎหมายล้มละลายในส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับมาแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกชั้นหนึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดยในมาตรา 90/58 บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42ข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา 90/42 ตรี และในกรณีที่มติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา 90/46(2) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอม และเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการให้ความเห็นชอบด้วยแผน ทั้งนี้เพื่อให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจ ใช้อำนาจทางตุลาการเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการที่จะใช้ดุลพินิจดังกล่าวศาลจึงมีอำนาจที่จะตรวจสอบในเนื้อหาของแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนำมาพิจารณาว่า จะให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่

ประการที่สอง ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนมีความเท่าเทียมและเป็นธรรมหรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า แผนฟื้นฟูกิจการไม่มีความเป็นธรรมในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยมีการโอนหุ้นที่เป็นหลักประกันชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันและชำระหนี้เป็นเงินสดเพิ่มอีกจำนวน 2,179,510.55 บาท ในขณะที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะได้รับการชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน เมื่อลูกหนี้มีผลขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก การแปลงหนี้เป็นทุนดังกล่าวเท่ากับเป็นการนำผลการขาดทุนสะสมมาแปลงเป็นทุนนำมาชำระหนี้จึงไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ไม่มีประกัน เพราะจะไม่มีโอกาสได้รับชำระหนี้ดังกล่าวเลย เห็นว่า การพิจารณาว่าข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้หรือไม่ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ตรี บัญญัติว่า “สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน…” เช่นนี้การที่จะพิจารณาว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกันตามบทบัญญัติมาตรานี้หรือไม่จึงต้องพิจารณาเฉพาะบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกันตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกัน กลุ่มที่ 2เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงินและกลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มิใช่สถาบันการเงิน เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มดังกล่าวแล้ว มิได้ร้องขอให้จัดกลุ่มเสียใหม่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจึงเป็นอันถึงที่สุดตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง การที่แผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และเป็นเจ้าหนี้มีประกันเพียงรายเดียวได้รับการเสนอชำระหนี้ด้วยการโอนหุ้นบริษัทสินบัวหลวง จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,000,000 หุ้นที่จำนำไว้เป็นหลักประกันในราคาหุ้นละ 5 บาท เพื่อชำระหนี้ กับได้รับชำระเป็นเงินสดอีกจำนวน 2,179,510.55 บาท ส่วนเจ้าหนี้ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทสถาบันการเงิน ซึ่งมีธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วยได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน โดยการแปลงหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นหุ้นสามัญของลูกหนี้ในราคาหุ้นละ 40 บาท จะเห็นว่า แม้ในแผนฟื้นฟูกิจการจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1ต่างกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ก็เป็นกรณีที่ผู้ทำแผนสามารถกำหนดได้เพราะเป็นเจ้าหนี้ต่างกลุ่มกัน เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันแล้ว จึงถือว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชำระหนี้เป็นไปตามมาตรา 90/58(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/42 ตรีแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประการที่สาม การที่แผนฟื้นฟูกิจการเสนอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันโดยการแปลงหนี้เป็นทุน เป็นการกระทำโดยสุจริตหรือไม่ และการที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดว่าเมื่อเจ้าหนี้ไม่มีประกันได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนแล้วให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60วรรคสอง หรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า การที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นจำนวนมาก โดยลูกหนี้มีทุนจดทะเบียน 50,000,000 บาท แต่มีการขาดทุนสะสมถึง 177,133,959.62บาท การที่แผนกำหนดให้มีการแปลงหนี้โดยการนำหุ้นสามัญตามที่จดทะเบียนไว้ในราคาหุ้นละ 10 บาท มาตีใช้หนี้ในราคาหุ้นละ 40 บาท หุ้นของลูกหนี้ไม่มีมูลค่าถึงราคาที่กำหนดไว้ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดว่าเมื่อแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งปวง จึงทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันทั้งหลายเสียสิทธิในการที่จะบังคับเอาแก่ผู้ค้ำประกัน แผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวอาศัยช่องว่างของกฎหมายฟื้นฟูกิจการในการที่จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความผิดไป ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันนอกจากไม่ได้รับชำระหนี้แล้ว ยังต้องสูญเสียหลักประกันที่ควรจะได้รับจากผู้ค้ำประกันอีกด้วย เห็นว่า เกี่ยวกับการแปลงหนี้เป็นทุนนั้นพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 วรรคท้าย บัญญัติว่า “มิให้นำ…มาตรา 1119… แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์… มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้” โดยมาตรา 1119 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้นผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวห้ามหักหนี้กับค่าหุ้นของบริษัทจึงไม่สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ ดังนั้น เมื่อในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการมีบทบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนนี้ ผู้ทำแผนจึงสามารถทำแผนเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้มาเป็นทุน ซึ่งทำให้ทุนจดทะเบียนของลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนจะเป็นผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนหนี้ของตน สถานะของเจ้าหนี้ย่อมเปลี่ยนจากเจ้าหนี้มาเป็นผู้ร่วมลงทุนกับผู้ถือหุ้นเดิม การที่ผู้ทำแผนจัดทำแผนกำหนดวิธีการชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน จึงเป็นวิธีการที่สามารถกระทำได้ และการกระทำดังกล่าวยังไม่ปรากฏพฤติการณ์เกี่ยวกับการชำระหนี้ที่ส่อว่าไม่สุจริตแต่อย่างใด

ส่วนที่แผนฟื้นฟูกิจการเรื่องความรับผิดของผู้ค้ำประกันกำหนดว่า เมื่อผู้บริหารแผนปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการฟื้นฟูกิจการครบถ้วน กล่าวคือ โอนหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันชำระหนี้ให้เจ้าหนี้มีประกันภายใน 14 วัน นับจากวันที่แผนได้รับความเห็นชอบและทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทโดยการออกหุ้นสามัญ มีมูลค่าที่ตราไว้(Par Value) หุ้นละ 10 บาท เพื่อให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันแปลงหนี้ทั้งหมดเป็นทุนในราคาหุ้นละ 40 บาท ตามสัดส่วนชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระของเจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ละรายภายใน 10 วัน นับแต่วันที่แผนได้รับความเห็นชอบให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดในหนี้ทั้งปวงนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60วรรคสอง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน…”เช่นนี้ ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้นมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้จะต้องรับผิดอีกเช่นไร ต้องเป็นไปตามกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง คดีนี้ปรากฏตามแผนฟื้นฟูกิจการว่า ตามงบดุล ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2543 ลูกหนี้มีหนี้สิน129,550,571.44 บาท ขณะที่มีทรัพย์ 2,416,611.82 บาท ลูกหนี้จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว และปรากฏจากคำแถลงของผู้ทำแผนว่า ในการดำเนินการเพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ตกลงให้ผู้ถือหุ้นเดิมในบริษัทลูกหนี้คงสัดส่วนการถือหุ้นไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 จำนวนหุ้นที่จะเพิ่มทุนไม่เกิน 1,666,666 หุ้น จากภาระหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ไม่มีประกันจำนวน 57,816,317.63 บาท จะแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ในราคาหุ้นละ 35-40บาท เช่นนี้กรณีเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ราคาตลาดที่แท้จริงของหุ้นของลูกหนี้จากการเพิ่มทุน มีราคาน้อยกว่าราคาที่ตีไว้เพื่อการแปลงหนี้เป็นทุนตามอัตราส่วนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ค้าง จำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันจะมีผลให้หนี้ระงับย่อมมีจำนวนเท่ากับราคาตลาดที่แท้จริงของหุ้นอันเจ้าหนี้ได้รับโอนไว้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จากเหตุดังกล่าวย่อมมีผลเท่ากับมีการชำระหนี้บางส่วนด้วยหุ้นแล้วให้เจ้าหนี้ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลือจากลูกหนี้อีกเช่นนี้ ในส่วนตัวลูกหนี้ย่อมได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดในหนี้ส่วนที่ขาดโดยผลของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ แต่ในส่วนผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นความรับผิดก็เมื่อหนี้นั้นได้ระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 การที่เจ้าหนี้ได้รับโอนหุ้นเพื่อชำระหนี้มาจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อตีราคาตลาดที่แท้จริงแล้วชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ได้เพียงบางส่วน หนี้ส่วนของผู้ค้ำประกันก็ย่อมระงับเพียงบางส่วนเท่านั้น การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวย่อมเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสองอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่อย่างไรก็ตามแม้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลบังคับ แต่เมื่อรายการดังกล่าวมิใช่รายการสำคัญและพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้แล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง การที่ข้อกำหนดดังกล่าวตกไปจึงไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ของแผน กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง

ประการที่สี่ เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า กรณีนี้หากมีการดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้วก็เพียงแต่ให้เจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกหนี้เท่านั้นซึ่งลูกหนี้มีทรัพย์สินเพียงเล็กน้อยไม่ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากกว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ทั้งต้องเสียสิทธิในการบังคับแก่ผู้ค้ำประกันอีกด้วยแต่หากศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้วหากมีการรวบรวมทรัพย์สินตามความเป็นจริงออกขายทอดตลาดจะมีมูลค่ามากกว่าที่ลูกหนี้แสดงไว้ในงบดุล และหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายไม่ครบถ้วน เจ้าหนี้ยังสามารถไล่เบี้ยจากผู้ค้ำประกันได้จนครบถ้วน เห็นว่า ในรายงานสรุปและวิเคราะห์แผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระบุว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้เลยในขณะที่ในการฟื้นฟูกิจการนั้น เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนทำให้เจ้าหนี้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกหนี้ ถือว่าเจ้าหนี้ได้รับหุ้นอันเป็นสังหาริมทรัพย์อันสามารถหาราคาที่แท้จริงได้ และเมื่อมีการฟื้นฟูกิจการทำให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินการต่อไป เจ้าหนี้จึงน่าจะมีโอกาสให้รับเงินปันผลจากการเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวด้วย ส่วนหนี้ในส่วนที่ขาดภายหลังจากการหักด้วยราคาหุ้นที่แท้จริงแล้ว เจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิเรียกจากผู้ค้ำประกันได้ตามสิทธิที่มีอยู่เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่า เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 90/58(3) แล้ว

ประการสุดท้าย ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า ธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจด้านการให้คำปรึกษาหากธุรกิจของลูกหนี้เองยังประสบภาวะขาดทุนจนเกินทุนจดทะเบียนแล้ว กิจการของลูกหนี้โดยทั่วไปก็มีแต่การขาดทุนอย่างเดียว ไม่มีทางจะกลับฟื้นคืนตัวได้ จึงไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่มีช่องทางให้ฟื้นฟูกิจการ เห็นว่า ในการขอฟื้นฟูกิจการนั้นกฎหมายได้กำหนดลำดับขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในแต่ละช่วงไว้อย่างชัดเจน ปัญหาตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในข้อนี้เป็นปัญหาในชั้นพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/10 อันเป็นกระบวนพิจารณาก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่เมื่อคดีนี้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จนกระทั่งมีการทำแผนและแผนนั้นได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ถึงชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของศาล กรณีจึงเป็นการล่วงเลยขั้นตอนที่จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นคัดค้านแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

เมื่อปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ และแผนมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด กับมีการแบ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ศาลล้มละลายกลางยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีเป็นการไม่ชอบด้วยข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 24 ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน

Share