แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 48 (2) ประสงค์ยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตให้แก่ผู้ประกอบการในขณะนำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือเพื่อพาณิชยกรรม ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการที่ให้บริการรับฝากสินค้าแก่ผู้ประกอบการที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นการรับฝากสินค้าภายหลังจากที่ได้มีการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีแล้ว กิจการของโจทก์รับฝากสินค้าในสภาพใดก็จะคืนไปในสภาพนั้น ไม่ได้ทำให้สินค้ามีประสิทธิภาพหรือมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อลูกค้าต้องการฝากสินค้าโจทก์จะทำสัญญารับฝากสินค้า กำหนดค่ารับฝาก โจทก์จะจัดเตรียมพื้นที่ให้เมื่อลูกค้าต้องการรับคืนสินค้า และจะจัดทำใบเบิกสินค้าพร้อมแจ้งจำนวนสินค้าคงเหลือที่รับฝากไว้เท่านั้น แม้โจทก์จะให้บริการทางพาณิชยกรรม แต่ก็มิใช่ผู้ประกอบการที่นำเข้าของจึงไม่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่ม เบี้ยปรับและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการคลังสินค้า ขนส่ง และขนถ่ายสินค้า สถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2551 สำแดงภาษีเกิน 34,074.18 บาท และขอคืนภาษีจำนวนดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินออกตรวจสภาพกิจการของโจทก์แล้วเห็นว่า การรับฝากสินค้าจากลูกค้าของโจทก์เข้าข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ได้รับยกเว้นตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 48 (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 จึงประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับ สำหรับเดือนภาษีมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม มิถุนายน กันยายน ตุลาคม ธันวาคม 2551 เดือนภาษีมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2552 เดือนภาษีมกราคม กุมภาพันธ์ เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน 2553 คำนวณถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2554 ให้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับรวม 2,530,204.19 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์โจทก์ แต่ให้ลดเบี้ยปรับ คิดเป็นเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม คำนวณถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จำนวน 2,235,249.67 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประกอบกิจการของโจทก์ในเขตประกอบการเสรี นิคมอุตสาหกรรมบางปู ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 48 (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า มาตรา 48 (2) ของพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 บัญญัติว่า “ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือเพื่อพาณิชยกรรม ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต…” และมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติคำนิยามของคำว่า “พาณิชยกรรม” ไว้ว่า “หมายความว่า การค้าหรือการบริการในเขตประกอบการเสรี” โจทก์เป็นผู้ประกอบการพาณิชยกรรมอยู่ในเขตประกอบการเสรี จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น ปัญหานี้พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 48 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 บัญญัติว่า “ให้ของที่นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรเช่นเดียวกับของที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และให้รวมถึงสิทธิประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรี ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต สำหรับของที่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของสิ่งดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าหรือเพื่อพาณิชยกรรม แล้วแต่กรณี และของที่ใช้ในการสร้าง ประกอบ หรือติดตั้งเป็นโรงงานหรืออาคารในเขตประกอบการเสรี ทั้งนี้ เท่าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีตามที่คณะกรรมการอนุมัติ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(2) ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรี เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือเพื่อพาณิชยกรรม ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน อากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้ว่าการกำหนด
(3) ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีตาม (2) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ สิ่งพลอยได้ และสิ่งอื่นที่ได้จากการผลิตในเขตประกอบการเสรี หากส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้ได้รับยกเว้นอากรขาออก ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต ของที่นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงของที่นำออกจากเขตประกอบการเสรีแห่งหนึ่งไปยังเขตประกอบการเสรีอีกแห่งหนึ่งด้วย”
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา 48 (2) ประสงค์ยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตให้แก่ผู้ประกอบการในขณะนำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือเพื่อพาณิชยกรรม ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการที่ให้บริการรับฝากสินค้าแก่ผู้ประกอบการที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นการรับฝากสินค้าภายหลังจากที่ได้มีการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีแล้ว กิจการของโจทก์รับฝากสินค้าในสภาพใดก็จะคืนไปในสภาพนั้น ไม่ได้ทำให้สินค้ามีประสิทธิภาพหรือมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อลูกค้าต้องการฝากสินค้าโจทก์จะทำสัญญารับฝากสินค้ากับลูกค้า กำหนดค่ารับฝาก โจทก์จะจัดเตรียมพื้นที่ให้ เมื่อลูกค้าต้องการรับคืนสินค้า โจทก์จะจัดทำใบเบิกสินค้าพร้อมแจ้งจำนวนสินค้าคงเหลือที่รับฝากไว้เท่านั้น แม้โจทก์จะให้บริการทางพาณิชยกรรม แต่ก็มิใช่ผู้ประกอบการที่นำเข้าของจึงไม่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 48 (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ