คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปี 2555 และปี 2556 มีการแสดงรายการทรัพย์สินที่มีเครื่องจักรอยู่ในแบบ ประกอบกับโจทก์ร้องขอให้พิจารณาใหม่ในประเด็นลดค่ารายปีตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 พร้อมแนบสัญญาเช่าที่ดินและอาคาร สัญญาซื้อขายเครื่องปรับอากาศ สัญญาซื้อขายอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศและติดตั้งอุปกรณ์ สัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบดับเพลิง ใบเสนอราคางานระบบไฟฟ้าและระบบเตือนภัย และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูง โดยจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดในประเด็นการขอลดค่ารายปีแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามมาตรา 33 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โรงสี โรงเลื่อยฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น รวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วย” บทบัญญัติของมาตรานี้มิได้กำหนดว่าต้องเป็นเจ้าของโรงเรือนประกอบกิจการอุตสาหกรรมเองจึงได้ลดค่ารายปีลง ดังนั้น กรณีโจทก์นำโรงเรือนให้บริษัท ฟ. เช่า ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2555 และปี 2556 สำหรับโรงเรือนเลขที่ 116/3 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ตามคำชี้แจงประกอบคำชี้ขาดเล่มที่ 21 เลขที่ 6 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2557 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและเงินเพิ่มของปีภาษี 2555 จำนวน 523,809.52 บาท ปีภาษี 2556 จำนวน 1,571,428.57 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อเดือน ของต้นเงินจำนวน 523,809.52 บาท และจำนวน 1,571,428.57 บาท ดังกล่าวนับแต่วันที่พ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่คดีถึงที่สุด
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2556 และใบแจ้งคำชี้ขาด ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2557 โดยให้ลดค่ารายปีลง คงเหลือหนึ่งในสามสำหรับโรงเรือนเลขที่ 116/3 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โจทก์คงรับผิดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2555 จำนวน 238,095.24 บาท ปีภาษี 2556 จำนวน 714,275.71 บาท จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่มปีภาษี 2555 จำนวน 523,809.52 บาท ปีภาษี 2556 จำนวน 1,571,428.57 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 2,095,238.09 บาท แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 523,809.52 บาท และจำนวน 1,571,428.57 บาท นับแต่เมื่อพ้นกำหนดสามเดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนพิพาท โจทก์ก่อสร้างโรงเรือนพิพาทให้บริษัทฟิลไทย จำกัด เช่าเพื่อผลิตก้นกรองบุหรี่เป็นเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ค่าเช่าปีละ 15,000,000 บาท โจทก์เป็นผู้ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูง เครื่องทำความเย็น (AIR CHILLER) ระบบท่อทำความเย็น (AHU AIR CHILLER) ระบบปั๊มลม (AIR COMPRESSOR) ระบบดับเพลิงและสัญญาณเตือนภัย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปี โดยคำนวณจากค่าเช่าในสัญญาคูณด้วยแปดหารด้วยเจ็ด ตามบันทึกของกรุงเทพมหานครที่ กท 7000/1710 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2532 สำหรับปีภาษี 2555 โรงเรือนพิพาทควรเข้าอยู่ได้เดือนเมษายน 2554 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีเพียงเก้าเดือน แต่เก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินสี่เดือนเพราะบริษัทฟิลไทย จำกัด เช่าโรงเรือนพิพาทตั้งแต่ 1 กันยายน 2554 คิดเป็นค่ารายปีจำนวน 12,857,142.87 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 714,285.71 บาท ปีภาษี 2556 ค่ารายปีจำนวน 17,142,857.14 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 2,142,857.14 บาท โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว โดยปีภาษี 2555 ชำระไปจำนวน 785,714.28 บาท ปีภาษี 2556 ชำระไป 2,357,142.71 บาท โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่อ้างว่า โจทก์ติดตั้งส่วนควบพิพาทที่สำคัญในโรงเรือนเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ขอลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีตามการประเมิน ตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและหนังสืออุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดยกคำร้องของโจทก์กับยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งคำชี้ขาดและคำชี้แจงประกอบคำชี้ขาด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า “การขอยกเว้น ขอให้ปลดภาษีหรือขอให้ลดภาษีตามความในภาค 1 และภาค 2 นั้น ผู้รับประเมินต้องเขียนลงในแบบพิมพ์ที่ยื่นต่อกรมการอำเภอทุก ๆ ปี พร้อมด้วยพยานหลักฐานที่จะสนับสนุน เพื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สามารถสอบสวนให้แน่นอนโดยการไต่สวน หรือวิธีอื่นว่าคำร้องขอนั้นมีมูลดีและควรจะให้ยกเว้นหรือปลดหรือลดภาษีเพียงใดหรือไม่” และมาตรา 34 บัญญัติว่า “ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งยกคำขอยกเว้นหรือคำขอให้ปลดภาษีหรือลดค่าภาษีก็ให้แจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้รับประเมิน และผู้รับประเมินมีสิทธิเช่นเดียวกับในเรื่องที่ได้บ่งไว้ในหมวดนี้ว่าด้วยการประเมิน” ดังนั้น กรณีโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปีภาษี 2555 และปี 2556 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ยื่นคำร้องขอให้ลดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและไม่ได้สำแดงค่าของส่วนควบที่สำคัญอันมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้พิจารณาว่าควรจะลดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนพิพาทเพียงใดหรือไม่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ยังมิได้สอบสวนว่าโรงเรือนพิพาทนั้นจะได้รับการลดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกปัญหาว่าโรงเรือนพิพาทได้รับการลดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีภาษีพิพาทหรือไม่ รวมทั้งไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลเพื่อโต้แย้งว่าโรงเรือนพิพาทได้รับการลดค่าภาษีลงได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เมื่อพิจารณาตามแบบแจ้งรายการเพื่อเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2555 และปี 2556 พอจะเห็นได้ว่ามีการแสดงรายการทรัพย์สินที่มีเครื่องจักรอยู่ในแบบ ประกอบกับในชั้นขอพิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์ได้ร้องขอให้พิจารณาใหม่ในประเด็นลดค่ารายปีตาม มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 พร้อมแนบสัญญาเช่าที่ดินและอาคาร สัญญาซื้อขายเครื่องปรับอากาศ สัญญาซื้อขายอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศและติดตั้งอุปกรณ์ สัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบดับเพลิง ใบเสนอราคางานระบบไฟฟ้าและระบบเตือนภัย และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูง โดยจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดในประเด็นการขอลดค่ารายปีแล้ว จึงพอถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า กรณีโรงเรือนของโจทก์ต้องด้วยมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ซึ่งจะได้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งส่วนควบดังกล่าวด้วยหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ระบบต่าง ๆ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูง เครื่องทำความเย็น (AIR CHILLER) ระบบท่อทำความเย็น (AHU AIR CHILLER) ระบบปั๊มลม (AIR COMPRESSER) ระบบดับเพลิง และสัญญาณเตือนภัย แม้จะติดตั้งเป็นส่วนควบของโรงเรือนพิพาท และใช้เพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผลิตก้นกรองบุหรี่ของบริษัทฟิลไทย จำกัด ตามที่โจทก์กล่าวอ้างก็ตาม แต่ก็มิใช่ส่วนควบสำคัญอันมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมการผลิตก้นกรองบุหรี่โดยตรง แต่เป็นเพียงอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกหรือเพื่อประโยชน์ในการใช้โรงเรือนพิพาทรองรับการดำเนินการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามคุณสมบัติของสินค้าที่ต้องผลิตในโรงงานลักษณะปิด บริษัทฟิลไทย จำกัด เพียงแต่นำเครื่องผลิตก้นกรองบุหรี่มาวางไว้ในโรงเรือนนั้น ก็เป็นกรณีสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบริษัทฟิลไทย จำกัด ให้สอดคล้องกับการผลิตที่แท้จริงของเครื่องจักรผลิตก้นกรองบุหรี่เท่านั้น ในปัญหานี้ บทบัญญัติมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มีเจตนารมณ์ส่งเสริมสนับสนุนการติดตั้งส่วนควบที่สำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่าง โดยตัวบทกฎหมายได้ยกตัวอย่าง เช่น โรงสี โรงเลื่อยฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น รวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วย โจทก์มีนางสาวดวงใจ กรรมการผู้จัดการโจทก์เบิกความว่า โจทก์ก่อสร้างโรงเรือนพิพาทตามความต้องการของบริษัทฟิลไทย จำกัด โดยโจทก์ต้องติดตั้งอุปกรณ์ทำความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิที่ 27 องศาเซลเซียส สร้างระบบท่อสำหรับแอร์คอมเพรสเซอร์ ไอน้ำ และสารเคมีที่ส่งไปในแต่ละเครื่องจักรตามสัญญาก่อสร้างอาคารและภาพถ่ายอุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ และมีนายสมชาย ผู้จัดการฝ่ายวิศกรรมของบริษัทฟิลไทย จำกัด เบิกความสนับสนุนว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ในโรงเรือนที่มีความจำเป็นในการผลิตก้นกรองบุหรี่ได้แก่ ระบบเครื่องจักรใช้ในการผลิตจำนวน 40 ตัว ระบบแสงสว่าง ระบบแอร์คอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมมี 3 เครื่อง ทำหน้าที่ผลิตลมที่มีความดันสูงเพื่อส่งให้เครื่องจักรทุกเครื่องที่ใช้ในการผลิต เนื่องจากเครื่องจักรต้องใช้แรงลมที่มีความดันสูงเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ เครื่องทำความเย็นหรือระบบ AIR CHILLER มี 2 เครื่อง ซึ่งมีอุปกรณ์คือ คอมเพรสเซอร์ทำหน้าที่ผลิตน้ำเย็นแล้วส่งไปตามท่อหุ้มฉนวนให้กับตัว AHU (คอยล์เย็น) จำนวน 18 จุด ที่กระจายตามจุดต่าง ๆ ที่เครื่องจักรทำการผลิต โดยเป่าลมเย็นออกมาให้ได้อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส แล้วน้ำก็จะนำอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งกลับไปเข้าเครื่องคอมเพรสเซอร์เพื่อทำความเย็นใหม่อีกครั้งหนึ่ง มีหอทำความเย็นหรือ COOLING TOWER ทำหน้าที่ระบายความร้อนให้กับชุดคอยล์ร้อน หากอุณหภูมิไม่ได้ตามที่กำหนดจะทำให้ความหนาแน่นของก้นกรองบุหรี่เปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถผลิตก้นกรองบุหรี่ได้ นอกจากนี้ยังมีระบบอื่น ๆ เช่น BOILER ที่ผลิตไอน้ำส่งให้กับเครื่องจักรในการผลิตโดยระบบทั้งหมดต้องใช้พลังไฟแรงสูงและหม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 2 ตัว เพื่อจ่ายไฟให้แก่ระบบต่าง ๆ ทั้งนางสาวดวงใจและนายสมชายเบิกความประกอบภาพถ่ายอุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ ในโรงเรือนให้เห็นได้ว่าติดตั้งส่วนควบที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมผลิตก้นกรองบุหรี่ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองถามค้านให้เห็นเป็นอื่น กรณีคำเบิกความดังกล่าวเข้าลักษณะให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองมีนายวิชาและนายธีระเดช พนักงานงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เบิกความทำนองเดียวกันว่า เครื่องจักรกลที่ใช้ผลิตก้นกรองบุหรี่มีลักษณะคล้ายแท่นพิมพ์จัดวางไว้ที่พื้นอาคาร สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูง ชุดควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้า เครื่องทำความเย็น ระบบทำความเย็น ปั๊มลม ระบบดับเพลิงและสัญญาณเตือนภัย ติดตั้งรอบเครื่องจักรที่วางบนพื้นอาคารกับติดตั้งไว้กับตัวอาคาร ไม่ได้มีลักษณะเป็นส่วนควบที่สำคัญเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรม หากแต่ติดตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกหรือเพื่อประโยชน์ในการใช้อาคาร เห็นว่า พยานจำเลยทั้งสองเบิกความตามความรู้สึกของพยานเอง โดยไม่สามารถอธิบายถึงขั้นตอนการทำงานผลิตเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมและความสำคัญของอุปกรณ์ที่สัมพันธ์ต่อการทำงานเครื่องผลิตก้นกรองบุหรี่ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีเพียงคำเบิกความของนายวิชาและนายธีระเดช ไม่มีหลักการทางวิชาการมาหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โรงเรือนพิพาทติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ในการดำเนินอุตสาหกรรมตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ปีภาษีพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้สำแดงค่าของเครื่องจักรหรือค่าเช่าเครื่องจักรที่ใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมไว้ในแบบแสดงรายการนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงประเมินค่ารายปีเฉพาะตัวอาคารโรงเรือนพิพาทเท่านั้น มิได้ประเมินค่าของเครื่องจักรรวมอยู่ในค่ารายปีด้วย โจทก์ยื่นแบบโดยไม่ได้ระบุว่าโรงเรือนติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจกำหนดค่ารายปีของเครื่องจักรกลไกด้วยได้ จึงมิใช่กรณีจะลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ทั้งอัตราค่าเช่าโรงเรือนพิพาทมีทั้งการเช่าโรงเรือนและส่วนควบรวมอยู่ด้วยในสัญญา ไม่อาจแบ่งแยกออกมาได้ จึงไม่ชอบด้วยเหตุผลและเจตนารมณ์ของมาตรา 13 นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนและส่วนควบที่สำคัญอันมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก หรือเครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่าง ได้ให้บริษัทฟิลไทย จำกัด เช่าโรงเรือนเพื่อใช้ผลิตก้นกรองบุหรี่ โดยโจทก์คิดค่าเช่ารวมทั้งอาคารและส่วนควบ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ตามจำนวนค่าเช่าที่โจทก์ได้รับว่า ปีภาษี 2555 มีจำนวน 5,000,000 บาท และปีภาษี 2556 มีจำนวน 15,000,000 บาท เป็นการแจ้งจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินของโจทก์สมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ซึ่งนายวิชาพยานจำเลยทั้งสองผู้ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินคดีนี้ก็เบิกความว่าโรงเรือนของโจทก์เป็นกรณีทรัพย์สินให้เช่า และค่าเช่านั้นเป็นจำนวนสมควรที่จะให้เช่าได้โดยเทียบเคียงกับโรงเรือนของนายพงษ์ศักดิ์ จึงให้ถือค่าเช่าเป็นค่ารายปีตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 30 มีนาคม 2535 เห็นว่า โจทก์ได้แสดงค่ารายปีตามค่าเช่าที่ได้รับมาและพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นจำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ไม่ปรากฏว่าข้อใดขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ส่วนที่มีข้อตกลงให้บริษัทฟิลไทย จำกัด จ่ายค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็สามารถนับประโยชน์อย่างอื่นที่ผู้เช่าต้องชำระเนื่องในการเช่าโรงเรือนนั้นเป็นค่ารายปีได้ ไม่ทำให้การลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินของโจทก์เสียสิทธิไปแต่อย่างใด และที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า กรณีโจทก์นำโรงเรือนให้บริษัทฟิลไทย จำกัด เช่า โจทก์มิได้ผลิตก้นกรองบุหรี่จึงไม่ได้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สิน นั้น เห็นว่า มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โรงสี โรงเลื่อยฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น รวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วย” บทบัญญัติของมาตรานี้มิได้กำหนดว่าต้องเป็นเจ้าของโรงเรือนประกอบกิจการอุตสาหกรรมเองจึงได้ลดค่ารายปีลง การตีความกฎหมายภาษีอากรตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทำให้ผู้เสียภาษีอากรต้องเสียภาษีมากไปกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 6,000 บาท

Share