คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดนั้น หมายถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมนำคดีมาสู่ศาลเพื่อให้ตรวจสอบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 โดยโจทก์ไม่ต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เพราะคดีนี้มิใช่คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนฯ เนื่องจากมีผู้คัดค้านการจดทะเบียนตามมาตรา 35 ถึงมาตรา 38 แต่เป็นคดีอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนฯ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 16 และมาตรา 18 และกรณีไม่อาจนำกำหนดเวลายื่นฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 38 มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่ง ป.พ.พ. เพราะจะเป็นการนำบทกฎหมายใกล้เคียงกันอย่างยิ่งมาใช้บังคับในลักษณะจำกัดสิทธิของประชาชน
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติให้ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่าง หรือรูปทรงของวัตถุหรือสิ่งของเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน เป็นเครื่องหมายการค้าได้ แต่จะมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงจดทะเบียนตามมาตรา 6 (1) ได้หรือไม่ ต้องพิจารณามาตรา 7 เป็นสำคัญ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารูปขวดที่เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะเป็นภาพที่ปรากฏลายเส้นโค้งมนมีสัดส่วนตั้งแต่ฐานจรดปลายแสดงให้เห็นเป็นรูปภาพขวดน้ำอัดลมที่ประกอบด้วยเส้นตรงกึ่งกลางของรูปขีดไว้ในแนวตั้งซึ่งมีระยะห่างเท่ากันจำนวนสามเส้นพาดคล่อมระหว่างกรอบสี่เหลี่ยมที่จัดไว้ตรงกลางลำตัวของรูปภาพขวดอันนับได้ว่าเป็นภาพที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปขวดดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่น เครื่องหมายการค้านี้จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (6) และเมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งเครื่องหมายดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะแล้วย่อมไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายตามประกาศนายทะเบียนฯ ตามมาตรา 17 เพราะกรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 นั้น หมายถึงเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะอันพึงจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แต่เครื่องหมายการค้ารายนั้นมีส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหลายส่วนเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวกแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนปฏิเสธไม่ขอคือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวหรือแสดงปฏิเสธอย่างอื่นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 434308 ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 434308 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า… มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดนั้น หมายถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมนำคดีมาสู่ศาลเพื่อให้ตรวจสอบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง คดีนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และคดีนี้โจทก์ไม่ต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เพราะคดีนี้มิใช่คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเนื่องจากมีผู้คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 35 ถึงมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน แต่เป็นคดีอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 16 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และกรณีไม่อาจนำกำหนดเวลายื่นฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัตินั้นมาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามที่จำเลยอุทธรณ์ เพราะเป็นการนำบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับในลักษณะจำกัดสิทธิของประชาชน ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้ยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 49 นั้น จำเลยมิได้ให้การถึงปัญหานี้ไว้ในคำให้การจำเลย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุหรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้หรือไม่ต้องพิจารณามาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันเป็นสำคัญ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 หากรูปขวดที่เป็นเครื่องหมายการค้ามีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปขวดนั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น รูปขวดนั้นก็ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ ถ้ารูปขวดเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น รูปขวดนั้นก็ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (6) รูปขวดที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปขวดดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ทั้งรูปขวดดังกล่าวเป็นภาพที่ปรากฏลายเส้นโค้งมนมีสัดส่วนตั้งแต่ฐานจรดปลายแสดงให้เห็นเป็นรูปภาพขวดน้ำอัดลมที่ประกอบด้วยเส้นตรงกึ่งกลางของรูปขีดไว้ในแนวตั้งซึ่งมีระยะห่างเท่ากับจำนวนสามเส้นพาดคล่อมระหว่างกรอบสี่เหลี่ยมที่จัดไว้ตรงกลางลำตัวของรูปภาพขวดอันนับได้ว่าเป็นภาพที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้นเครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์ดังกล่าวจึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่จำเลยอ้างว่ารูปขวดดังกล่าวเป็นภาชนะบรรจุสินค้า เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวก 32 รายการสินค้าเครื่องดื่มถือว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายตามประกาศนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 1/2535 เรื่อง กำหนดสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 นั้น เห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวกตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่ให้อำนาจนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแสดงการปฏิเสธอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 นั้นหมายถึงเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะอันพึงจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แต่เครื่องหมายการค้ารายนั้นมีส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหลายส่วนเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าบางอย่างหรือบางจำพวกแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวหรือแสดงปฏิเสธสิทธิอย่างอื่นได้ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังว่าเครื่องหมายการค้ารูปขวดทั้งเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 อันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งเครื่องหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายตามมาตรา 17 ดังที่จำเลยขึ้นอุทธรณ์แต่ประการใด คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปขวดของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share