คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6602/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ขณะเกิดเหตุข้อหาตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องจำเลยจะมีกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปก็ตาม แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำเป็นตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เมื่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะศาลทำการพิจารณาเป็นเช่นนี้ ในการวินิจฉัยกรณีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 จึงต้องถือตามนั้นการที่ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์หรือไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณา ดังนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องฟังพยานโจทก์ก่อน จึงเป็นการชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 176

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง จำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมาประการแรกว่าการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ฟังพยานโจทก์ก่อนและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุข้อหาตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องจำเลยจะมีกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปก็ตาม แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำเป็นตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เมื่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะศาลทำการพิจารณาเป็นเช่นนี้ ในการวินิจฉัยกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 จึงต้องถือตามนั้น การที่ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์หรือไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณา ดังนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องฟังพยานโจทก์ก่อน จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยสถานหนักเกินไปนั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 1,000 เม็ด ยังไม่ได้มีการจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่ผู้ใดพฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยลงโทษจำคุกจำเลยหลังจากลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วมีกำหนดถึง 10 ปี นั้นย่อมหนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง นั้นไม่ถูกต้องเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share