แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกเงินและให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไปแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย แม้การขอให้คืนหรือใช้เงินจะเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์มีข้อตกลงกับโจทก์ว่าในระหว่างการทำงานหากจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอก ฉ้อโกงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดและยอมเสียค่าปรับให้โจทก์อีก 3 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์จำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่โดยยักยอกเงินของโจทก์ด้วยวิธีการต่างๆ หลายครั้งรวมเป็นเงิน 1,222,095 บาท อันเป็นการจงใจละเมิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวและค่าปรับตามสัญญาให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกพร้อมค่าปรับ อันเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้จะมีคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกเหมือนกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีที่พนักงานอัยการขอให้บังคับในส่วนแพ่งนั้นมาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกัน ข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาจึงมิได้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เป็นการฟ้องร้องเรื่องเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งของคดีอาญาคดีก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นพนักงานของโจทก์สาขาหนองหอยในตำแหน่งพนักงานบัญชีและการเงิน มีหน้าที่รับเงิน เก็บรักษาเงิน อนุมัติและเบิกจ่ายเงินรายงานทางบัญชีการเงิน (บัญชีกระแสรายวัน) จัดทำสัญญาเช่าซื้อกับลูกค้าและหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย โดยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างแรงงานไว้แก่โจทก์ตกลงว่าในระหว่างการทำงานหากจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอกฉ้อโกงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดและยอมเสียค่าปรับอีก 3 เท่า ของราคาทรัพย์สินหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างทำงานอยู่กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทุจริตต่อหน้าที่โดยยักยอกเงินของโจทก์ไปด้วยวิธีการต่างๆ คือ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเงินที่ลูกค้านำมาชำระหนี้ หรือได้รับเงินที่โอนมาจากสาขาอื่นแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ลงรายการรับเงินในบัญชีกระแสรายวันหรือลงบัญชีน้อยกว่าจำนวนที่ได้รับจริง แล้วยักยอกเอาเงินส่วนไม่ได้ลงบัญชีหรือส่วนที่เกินจากจำนวนที่ลงไว้ในบัญชีไปเป็นของตนบ้างทำรายการจ่ายเงินเท็จลงในบัญชีกระแสรายวันเพื่อให้ยอดเงินคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันมีจำนวนน้อยกว่าเงินที่มีอยู่จริง แล้วยักยอกเอาส่วนที่เกินจากจำนวนในบัญชีกระแสรายวันไปเป็นของตนบ้าง หลายครั้งหลายหน รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกทั้งสิ้น 1,222,095 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจละเมิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์และค่าปรับตามสัญญาอีก 3 เท่า คิดเป็นเงิน 3,666,285 บาท รวมเป็นเงิน 4,888,380 บาท โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,888,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2545 ของศาลแขวงเชียงใหม่ ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยในข้อหายักยอกและมีคำขอส่วนแพ่งให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 1,097,506 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวส่วนแพ่งซึ่งศาลได้รับไว้พิจารณาแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ขอถอนฟ้องในส่วนคำฟ้องข้อ 3.2 ข้อ 3.4 ข้อ 3.6 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต กับจำเลยทั้งสองขอสละข้อต่อสู้ในประเด็นเรื่องอำนาจในการฟ้องคดีแทนกับประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมและคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ทำสัญญาจ้างกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2545 เวลา 10.50 นาฬิกา พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2545 ของศาลแขวงเชียงใหม่ข้อหายักยอกเงินของโจทก์จำนวน 1,097,506 บาท โดยมีคำขอให้จำเลยที่ 1 คืน หรือใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ตามเอกสารหมาย ล.2 เงินที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกและยังติดใจให้จำเลยทั้งสองชดใช้ในคดีนี้เป็นเงินจำนวนเดียวกันกับเงินที่พนักงานอัยการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกและขอให้ใช้คืนในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2545 โดยเป็นส่วนหนึ่งของเงินในคดีดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2545 เวลา 14 นาฬิกา แต่ในวันเดียวกันนั้น เวลา 10.50 นาฬิกา ศาลแขวงเชียงใหม่ได้รับฟ้องคดีที่พนักงานอัยการประจำศาลแขวงเชียงใหม่ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2545 ในความผิดฐานยักยอกเงินจำนวนเดียวกันกับเงินในคดีนี้และมีคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่ยักยอกไปอันเป็นการขอแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 เมื่อศาลแขวงเชียงใหม่ได้รับคำขอส่วนแพ่งของพนักงานอัยการดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วย่อมมีผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่ยักยอก จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2545 ของศาลแขวงเชียงใหม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ส่วนเงินค่าปรับต้องคำนวณจากเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอก เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกจึงยังไม่อาจคำนวณเงินค่าปรับได้ จำเลยที่ 1 จึงยังไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ว่า จำเลยที่ 2 ตกลงชดใช้ค่าเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เมื่อยังไม่ปรากฏในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด และคำขอส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2545 ของศาลแขวงเชียงใหม่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ศาลยังมิได้มีคำวินิจฉัย ในชั้นนี้จำเลยที่ 2 จึงยังไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2545 ของศาลแขวงเชียงใหม่หรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2545 ดังกล่าว พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกเงินและขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไปแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย แม้การขอให้คืนหรือใช้เงินจะเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้นส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่รับเงิน เก็บรักษาเงิน อนุมัติและเบิกจ่ายเงิน ตลอดจนทำรายงานทางบัญชีการเงินหรือบัญชีกระแสรายวัน ตกลงว่าในระหว่างการทำงานหากจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอก ฉ้อโกงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ยอดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดและยอมเสียค่าปรับให้โจทก์อีก 3 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างจำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทุจริตต่อหน้าที่โดยยักยอกเงินของโจทก์ไปด้วยวิธีการต่างๆ หลายครั้งรวมเป็นเงิน 1,222,095 บาท อันเป็นการจงใจละเมิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวและค่าปรับตามสัญญาให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกพร้อมค่าปรับอันเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้จะมีคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกเหมือนกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีที่พนักงานอัยการขอให้บังคับในส่วนแพ่งนั้นมาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกัน ข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาจึงมิได้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เป็นการฟ้องร้องเรื่องเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 934/2545 ของศาลแขวงเชียงใหม่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นอื่นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี