คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคดีในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 7 (2) เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรวินิจฉัยในปัญหาว่าคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งตามมาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย ศาลภาษีอากรกลางหามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และพิพากษายกฟ้องจำเลยดังกล่าวมานั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาลไว้ จึงไม่มีประเด็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่องเขตอำนาจศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจำนวน 8,109,825.04 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร (บ.ช.35) เลขที่ 02018060 – 25520618 – 005 – 00599 ถึง 00604 ของเงินภาษีจำนวน 109,119.30 บาท จำนวน 222,300.13 บาท จำนวน 158,815.94 บาท จำนวน 181,343.40 บาท จำนวน 135,182.55 บาท จำนวน 862,083.83 บาท ตามลำดับ และตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 02018060 – 25521217 – 005 – 00040 ถึง 00044 ของเงินภาษีจำนวน 135,395.26 บาท จำนวน 161,404.24 บาท จำนวน 164,238.66 บาท จำนวน 22,988.30 บาท จำนวน 23,878.50 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ส่งเงินที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบจำนวนมูลค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 4,598,143.15 บาท จำนวน 28,576.20 บาท จำนวน 302,853.25 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบจำนวนมูลค่าหุ้น 4,085,000 บาท จำนวน 25,000 บาท จำนวน 265,000 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจำนวน 8,109,825.04 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร (บ.ช. 35) เลขที่ 02018060 – 25520618 – 005 – 00599 ถึง 00604 ของเงินภาษีจำนวน 109,119.30 บาท จำนวน 222,300.13 บาท จำนวน 158,815.94 บาท จำนวน 181,343.40 บาท จำนวน 135,182.55 บาท จำนวน 862,083.83 บาท ตามลำดับ ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 02018060 – 5521217 – 005 – 00040 ถึง 00044 ของเงินภาษีจำนวน 135,395.26 บาท จำนวน 161,404.24 บาท จำนวน 164,238.66 บาท จำนวน 22,988.30 บาท จำนวน 23,878.50 บาท ตามลำดับ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อรวมกับเงินเพิ่มที่คำนวณถึงวันฟ้องแล้วมิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ให้นำเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ไปชำระให้โจทก์ ถือเป็นกรณีสืบเนื่องมาจากสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเก็บเงินค่าหุ้นจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบจำนวนมูลค่าหุ้นไปชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างแทนจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น ปัญหานี้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด” ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคดีในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในปัญหาว่าคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย ศาลภาษีอากรกลางหามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และพิพากษายกฟ้องจำเลยดังกล่าวมานั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาลไว้ จึงไม่มีประเด็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่องเขตอำนาจศาล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อสำนวนขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร โดยโจทก์สืบพยานในประเด็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จนเสร็จแล้ว จำเลยทั้งสี่ขาดนัดพิจารณา เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า จึงเห็นควรวินิจฉัยประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามฟ้องโจทก์ต่อไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยเสียก่อน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องส่งใช้ค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนางวินัสกาญ เจ้าพนักงานของโจทก์ เบิกความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ทะเบียนเลขที่ 0105541065860 มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้น 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทซึ่งยังส่งเงินใช้ค่าหุ้นไม่ครบตามจำนวนหุ้น ดังนี้ จำเลยที่ 2 ค้างชำระค่าหุ้น 4,085,000 บาท จำเลยที่ 3 ค้างชำระค่าหุ้น 25,000 บาท จำเลยที่ 4 ค้างชำระค่าหุ้น 265,000 บาท ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แผ่นที่ 64 ถึง 65 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 เพื่อบอกกล่าวแก่ผู้ถือหุ้นให้นำเงินมาชำระค่าหุ้นให้ครบตามกฎหมาย แผ่นที่ 59 และ 61 และมีหนังสือให้ผู้ถือหุ้นทุกคนนำเงินมาชำระค่าหุ้น แผ่นที่ 46 ถึง 48 และ 55 ถึง 57 แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้นำเงินมาชำระค่าหุ้น ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า ไม่ได้ค้างชำระค่าหุ้นตามที่โจทก์ฟ้องเพราะได้ชำระค่าหุ้นจนเต็มมูลค่าแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ขาดนัดพิจารณา ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าได้ชำระค่าหุ้นจนเต็มมูลค่าดังที่ให้การต่อสู้ไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยังส่งใช้ค่าหุ้นไม่ครบมูลค่าหุ้นจำนวน 4,085,000 บาท 25,000 บาท และ 265,000 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงต้องใช้เงินค่าหุ้นจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นับถัดจากวันครบกำหนดเวลาชำระเงินตามหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำเงินมาชำระมูลค่าหุ้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำนวน 4,085,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2554 จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำนวน 265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่เกินกว่าจำนวนเงินภาษีที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share