คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินที่จะจ่ายฝากอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทยในบัญชีของก. ศ.ว. แต่จะจ่ายได้ตามคำเรียกร้องของ โอ.ไอ.ซี.ซี. และในการที่ ก. ศ.ว. ต้องออกเช็คในนามของผู้รับเหมาก่อสร้าง แล้วมอบให้ โอ.ไอ.ซี.ซี. โอ.ไอ.ซี.ซี. จึงจะจ่ายให้ผู้รับโดยตรงจึงเป็นเรื่องที่ทั้ง ก. ศ.ว. และ โอ.ไอ.ซี.ซี. มีส่วนร่วมกันในการจ่ายเงินแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างฉะนั้น การที่ โอ.ไอ.ซี.ซี. แจ้งให้ ก.ศ.ว. ส่งเงิน 181,135 บาท ให้ศาลแพ่งตามหนังสือของศาลแพ่ง ก. ศ.ว. จึงส่งเช็คจำนวนดังกล่าวไป แม้จะเป็นเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่จำเลย แต่ ก. ศ.ว. ก็มิได้มอบเช็คนั้นให้แก่จำเลย แต่ได้มอบให้แก่ โอ.ไอ.ซี.ซี. โอ.ไอ.ซี.ซี. นำไปมอบให้ศาลแพ่ง จึงเป็นการที่ ก.ศ.ว. และ โอ.ไอ.ซี.ซี. จัดการนำเงินดังกล่าวแล้วส่งศาลแพ่งตามคำสั่งของศาลแพ่งนั่นเอง ก. ศ.ว. จึงไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวให้อีกเพราะได้ทำไปตามคำสั่งศาล

ย่อยาว

เรื่องนี้ เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 120,000 บาท โดยโจทก์ได้ยื่นคำร้องพร้อมกับฟ้องขอให้ศาลสั่งอายัดเงินที่จำเลยจะได้รับจาก ก.ศ.ว. และ โอ.ไอ.ซี.ซี. ประมาณ 130,000 บาท ก่อนคำพิพากษาศาลแพ่งได้ไต่สวนและมีหมายอายัดไปยังประธานกรรมการสำนักงาน ก.ศ.ว. ต่อมาศาลแพ่งได้พิพากษาให้บริษัทนานากิจ จำกัด จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 120,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องและได้ออกหมายบังคับคดี วันที่ 29 พฤษภาคม 2505ศาลแพ่งได้แจ้งไปยังประธานกรรมการสำนักงาน ก.ศ.ว. ให้ส่งเงินจำนวน 130,000 บาท ที่อายัดมาให้กองหมายกระทรวงยุติธรรมตามที่โจทก์ร้องขอ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติได้มีหนังสือชี้แจงมายังศาลแพ่งว่า สำนักงานเป็นแต่เพียงมีหน้าที่ตามข้อตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหารระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จะจ่ายเงินของรัฐบาลสหรัฐที่ฝากไว้กับสำนักงาน ก.ศ.ว. โดยผู้อำนวยการ โอ.ไอ.ซี.ซี. ของฝ่ายสหรัฐเป็นผู้สั่งจ่ายตามงบประมาณโครงการที่รับรองแล้ว และโดยที่บริษัทนานากิจได้มีสัญญาก่อสร้างทางทหารกับ โอ.ไอ.ซี.ซี. อยู่หลายราย เมื่อ โอ.ไอ.ซี.ซี.นำหนังสือของศาลแพ่งที่ 2162/2504 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2504 มายังก.ศ.ว. เพื่อให้ ก.ศ.ว. จ่ายเงิน ก็เข้าใจว่าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ทั้งหมดของบริษัทนานากิจ จำกัด ได้ตกลงให้จ่ายเงินแก่ศาลแพ่งตามหนังสือนั้นแล้ว สำนักงาน ก.ศ.ว. จึงได้จ่ายเงิน 181,135 บาท 50 สตางค์ ให้แก่ศาลแพ่ง ดังนั้น เงินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาตามที่ โอ.ไอ.ซี.ซี. ทำสัญญาไว้กับบริษัทนานากิจ จำกัด จึงไม่มีเหลืออยู่เลย

ศาลแพ่งเห็นว่า ก.ศ.ว. ไม่ใช่คู่สัญญาในการก่อสร้างกับจำเลยหน่วย โอ.ไอ.ซี.ซี. ต่างหากเป็นคู่สัญญา การที่โจทก์อายัดชั่วคราวก่อนคำพิพากษานั้น ไม่ต้องห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นที่จะอายัดซ้ำ การอายัดครั้งหลังของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงใช้ได้และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินที่อายัดนี้โดยโจทก์ไม่มีสิทธิ เพราะขณะนั้นโจทก์ยังหาเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ จึงให้ยกคำร้องของโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ศาลฎีกาเห็นว่า เงินที่จะจ่ายนี้ฝากอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทยในบัญชีของ ก.ศ.ว. แต่จะจ่ายได้ตามคำเรียกร้องของ โอ.ไอ.ซี.ซี. และในการจ่ายนี้ ก.ศ.ว. ต้องออกเช็คในนามของผู้รับเหมาก่อสร้างแล้วต้องมอบให้ โอ.ไอ.ซี.ซี. โอ.ไอ.ซี.ซี. จึงไปจ่ายให้แก่ผู้รับโดยตรง จึงเป็นเรื่องที่ทั้ง ก.ศ.ว. และ โอ.ไอ.ซี.ซี. มีส่วนร่วมกันในการจ่ายเงินแก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง ฉะนั้น การที่ โอ.ไอ.ซี.ซี. แจ้งให้ ก.ศ.ว. ส่งเงิน 181,135.50 บาท ให้ศาลแพ่งตามหนังสือของศาลแพ่ง ก.ศ.ว. จึงส่งเช็คจำนวนดังกล่าวแล้วไป แม้จะเป็นเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่บริษัทนานากิจ จำกัด จำเลยก็ดี แต่ ก.ศ.ว. ก็มิได้มอบเช็คนั้นให้แก่บริษัทนานากิจ จำกัด แต่ได้มอบให้แก่ โอ.ไอ.ซี.ซี.นำไปมอบต่อศาลแพ่งซึ่งเหล่านี้เป็นเพียงวิธีการตามระเบียบปฏิบัติในข้อตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการเท่านั้นในการที่จะนำจำนวนเงินดังกล่าวแล้วส่งศาลให้เป็นการถูกต้องกับระเบียบปฏิบัติในข้อตกลงนั้นในเวลาเดียวกันด้วย จึงเป็นการที่ ก.ศ.ว. และ โอ.ไอ.ซี.ซี. จัดการนำเงินดังกล่าวแล้วส่งศาลแพ่งตามคำสั่งของศาลแพ่งนั้นเอง ก.ศ.ว. จึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ในคดีนี้อีก เพราะได้ทำไปตามคำสั่งศาล

พิพากษายืน

Share