คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6107/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

น.ผู้พิทักษ์ของ ด.คนเสมือนไร้ความสามารถไม่ใช่ผู้แทนของ ด.ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทน เมื่อ น.เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยโดยเป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความและทนายความลงชื่อในคำฟ้องอันเป็นการที่ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนจาก ด. คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 35 เดิม เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้ยื่นคำให้การแล้ว ซึ่งเป็นกรณีล่วงเลยการตรวจวินิจฉัยคำฟ้อง จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 18 มาใช้บังคับไม่ได้เมื่อคดีไม่มีการชี้สองสถานโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานเป็นว่าด.ได้มอบให้ น.ฟ้องและดำเนินคดีแทนและได้รับความยินยอมจาก น.แล้ว และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง จึงมีผลทำให้ฟ้องที่ไม่สมบูรณ์กลับเป็นฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ซึ่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมอบอำนาจให้ น.ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ซึ่งนำเข้าร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 3 โดยมีเครื่องหมายของจำเลยที่ 3 ติดอยู่ข้างตัวรถยนต์บรรทุกแล่นในซอยซึ่งเป็นถนนสายโทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับอยู่ในถนนสายกลางซึ่งเป็นถนนสายเอกล้มลงโดยประมาทไม่ดูรถที่แล่นอยู่ในถนนสายกลาง เหตุเกิดทื่สี่แยกถนนสายกลางตัดกับถนนซอยในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 เจ้าของหัวรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ลากตัวรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ของจำเลยที่ 3หรือนำเข้าร่วมในกิจการขนส่งสินค้าด้วยกัน จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ นับแต่วันที่โจทก์ถูกออกจากงานจนถึงวันเกษียณอายุ เป็นการที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเพื่อการที่โจทก์เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคตตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่ง นั่นเองแต่โจทก์ถึงแก่กรรมในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวนับแต่โจทก์ถูกออกจากงานจนถึงวันที่โจทก์ถึงแก่กรรมเท่านั้น
เมื่อหนี้ตามคำฟ้องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจชี้ขาดให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

Share