แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อผู้เอาประกันรถยนต์ได้บอกกล่าวการโอนรถที่เอาประกันภัยไว้กับผู้รับประกันภัยให้แก่ตัวแทนของผู้รับประกันภัยทราบแล้ว แม้จะเป็นการบอกกล่าวด้วยวาจา ก็ถือว่าผู้รับประกันภัยทราบแล้วเช่นเดียวกัน สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยย่อมโอนตามไปยังผู้รับโอนรถยนต์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 875วรรคสอง ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประกันภัยนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน80-1603 บุรีรัมย์ ไว้จากโรงเลื่อยจักรนางรอง จำเลยที่ 1เป็นผู้ขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ข.ก.80-3211 และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันเป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ข.ก.80-3211 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524เวลาประมาณ 19.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ตามหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเฉี่ยวบริเวณประตูด้านหน้าขวาของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน80-1603 บุรีรัมย์เป็นเหตุให้รถยนต์ดังกล่าวเสียหลักพุ่งชนราวสะพานได้รับความเสียหายโจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไป86,500 บาท ค่าลากและยกรถอีก 3,000 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสี่ใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 4 ให้การว่า ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ข.ก.80-3211 ไว้ ต่อมาผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 4 ทราบ ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับรถยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,000บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-1603 บุรีรัมย์ ไว้จากโรงเลื่อยจักรนางรองและนายสำเนา นามกมล เป็นระยะเวลา 1 ปี จำเลยที่ 3 ได้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ข.ก.80-3211 จากห้างหุ้นส่วนจำกัดวีวินยนต์ แล้วเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4ต่อมาจำเลยที่ 3 มอบรถยนต์คืนให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชีวินยนต์ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชีวินยนต์ได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อต่อ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 วันที่ 12มิถุนายน 2524 ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวกลับจากส่งสินค้าที่กรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครราชสีมา เวลาประมาณ 21 นาฬิกา เกิดชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-1603บุรีรัมย์ ทำให้รถยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นเงิน 80,000 บาทเหตุที่เกิดรถชนกันเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 มีปัญหาในชั้นฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ จำเลยที่ 3 เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า นายซัวรุ่งเรืองชัยศรี เป็นตัวแทนประกันภัยของจำเลยที่ 4 และมีสำนักงานอยู่ที่อำเภอชุมแพ เมื่อจำเลยที่ 3 ขายรถให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ได้ไปบอกให้นายซัวทราบแล้วด้วยวาจา นายสุภร ตีรวนิชและนายประพันธ์ ยวนางกูร พยานจำเลยก็เบิกความว่า นายซัวเป็นตัวแทนประกันภัยของจำเลยที่ 4 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านายซัวเป็นตัวแทนประกันภัยของจำเลยที่ 4 คำเบิกความของจำเลยที่ 3ที่ว่าได้แจ้งการขายรถให้นายซัวตัวแทนประกันภัยทราบแล้วนั้นมีเหตุผลฟังได้ว่าเป็นความจริง เพราะรถที่ขายได้เอาประกันภัยไว้ในวงเงินที่สูง เมื่อมีการประกันภัยเข้ามาเกี่ยวข้องจำเลยที่ 3ย่อมต้องแจ้งให้นายซัวตัวแทนประกันภัยทราบ เพราะสำนักงานตัวแทนบริษัทประกันภัยตั้งอยู่ในท้องถิ่นเดียวกับจำเลยที่ 3 ทั้งหลังจากเกิดเหตุแล้ว ได้ความจากนายสุภรพยานจำเลยด้วยว่าจำเลยที่ 4 ได้จ่ายเงินให้แก่รถที่เอาประกันภัย 4,000 บาท โดยไม่โต้แย้งข้ออ้างของจำเลยที่ 4 ว่าไม่เคยได้รับแจ้งเรื่องการโอนรถหากมีการแจ้งต้องมีการเปลี่ยนชื่อผู้เอาประกันภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกรมธรรม์ประกันภัย เห็นว่าเป็นข้ออ้างลอย ๆ ทั้งการที่ยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อไม่ใช่เหตุผลที่ยืนยันว่าจำเลยที่ 4ไม่ทราบ เมื่อมีการแจ้งให้ทราบด้วยวาจาแก่ตัวแทนของจำเลยที่ 4 แล้ว หากจำเลยที่ 4 ไม่ทราบก็เป็นเรื่องระหว่างตัวการกับตัวแทนของจำเลยที่ 4 เอง ใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยได้บอกกล่าวการโอนรถที่เอาประกันภัยให้แก่ตัวแทนของจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยทราบแล้ว แม้จะบอกกล่าวด้วยวาจาก็ถือว่าจำเลยที่ 4 ทราบแล้วเช่นเดียวกันสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 875 วรรคสองจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประกันภัยนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วยนั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน