คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อดำเนินการเข้าจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการจัดการทรัพย์สินนั้นมาแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจึงเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 จึงเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจหน้าที่ตามที่ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดไว้ และการจะได้รับชำระหนี้ของส่วนราชการนั้น โจทก์ย่อมสามารถกระทำได้โดยวิธีการอื่น เช่น การเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากการฟ้องขอให้หน่วยงานราชการของรัฐตกเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ต่อมาได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล จึงมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องอำนาจหน้าที่ของสภาตำบล หากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินและประชาชน กรณีจึงเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และรับคำฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 42 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 7 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลตำบล จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐและเป็นทบวงการเมืองนับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ตามสำเนาประกาศกระทรวงมหาดไทย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาฟ้อง แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ในชั้นตรวจคำฟ้องนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 บัญญัติว่า “นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ กระบวนพิจารณาในศาลล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และข้อกำหนดตามมาตรา 19 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง …ฯลฯ มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ดังนั้น ในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลล้มละลายกลาง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 จึงกำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม เช่นนี้ การพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลล้มละลายกลางจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสีย หรือให้คืนไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18” ซึ่งคำว่า ให้ยกเสีย ตามบทบัญญัติของมาตรา 172 วรรคสามดังกล่าว ก็คือ เป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์นั่นเอง ฉะนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลล้มละลายกลางย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ตั้งแต่ในชั้นตรวจคำฟ้องได้ โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ไว้ก่อนไม่ และกรณีเช่นว่านี้ถือได้ว่าศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีแล้ว หาใช่เป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความแต่อย่างใดไม่ ดังนี้ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ตั้งแต่ในชั้นตรวจคำฟ้องขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความในคดีล้มละลายนั้น จึงฟังไม่ขึ้น และเมื่อพิจารณาว่าการฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อดำเนินการเข้าจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการจัดการทรัพย์สินนั้นมาแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจึงเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 จึงเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดไว้ และการจะได้รับชำระหนี้ของส่วนราชการนั้น โจทก์ย่อมสามารถกระทำได้โดยวิธีการอื่น เช่น การเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากการฟ้องขอให้หน่วยงานราชการของรัฐตกเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งไม่อาจกระทำได้ คดีฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม นั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใด ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share