แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การใช้กำลังประทุษร้ายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก ต้องเป็นการ ประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น มิใช่กระทำต่อคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิด ได้รับโทษหนักขึ้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ถึงวรรคห้า อันได้แก่การกระทำผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผลของการกระทำล้วนเกิดแก่ผู้อื่นทั้งนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๓๓ ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง และนับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๗๘๙/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง, ๓๔๐ ตรี ประกอบมาตรา ๘๓ จำคุกคนละ ๑๘ ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ ๑๒ ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๗) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๓๓๖ ทวิ, ๘๓ ให้จำคุกคนละ ๗ ปี ๖ เดือน ลดโทษหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกคนละ ๕ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ โดยโจทก์และจำเลยที่ ๑ ไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายชัยศักดิ์ หงษ์ทองกิจเสรี ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาย่อยบ้านพรุ ผู้เสียหายและจำเลยที่ ๑ เดินทางไปเบิกเงินจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลังจากเบิกเงินได้แล้วเดินทางกลับมาถึงธนาคาร ที่ผู้เสียหายเป็นผู้จัดการอยู่โดยจำเลยที่ ๑ ถือกระเป๋าใส่เงินลงจากรถยนต์เดินตามหลังผู้เสียหายเข้าไปในธนาคาร จำเลยที่ ๒ ได้ถีบหลังจำเลยที่ ๑ จนล้มลงแล้วจำเลยที่ ๒ แย่งเอากระเป๋าใส่เงินจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท วิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ ๓ จอดรออยู่ริมถนนขับหลบหนีไป ต่อมาวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๐ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ ๓ พร้อมทั้งยึดรถจักรยานยนต์ของกลางและจับจำเลยที่ ๒ พร้อมทั้งยึดเงินของกลางจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ ถีบหลังจำเลยที่ ๑ ล้มลงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ ๑ ในขณะจำเลยที่ ๑ เดินตามนายชัยศักดิ์ ผู้จัดการธนาคารที่เกิดเหตุผู้เสียหาย แสดงว่าเงินของกลางยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย แต่การใช้กำลังประทุษร้ายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคแรก นั้น ต้องเป็นการประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น มิใช่กระทำต่อคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหนักขึ้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคสาม ถึงวรรคห้า อันได้แก่การกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผลของการกระทำล้วนเกิดแก่ผู้อื่นทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๒ ใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคแรก และแม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายชัยศักดิ์ผู้เสียหายว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ชี้มือไปทางผู้เสียหายซึ่งวิ่งตามไปก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ มีอาวุธใดติดตัวมาด้วยหรือแสดงอาการหรือวาจาข่มขู่ผู้เสียหายเลย ดังนั้น เพียงแต่จำเลยที่ ๒ ชี้มือมาทางผู้เสียหายเท่านั้นยังไม่พอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่๒ ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามขาดองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามฟ้อง จำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมลักทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๗) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๓๓๖ ทวิ เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน