คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อนับตั้งแต่ปีที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจนถึงปี 2533ซึ่งจำเลยปิดทางพิพาทแล้วยังไม่ถึง 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความในส่วนนี้
เดิมที่ดินของโจทก์เป็นของ อ. อยู่คนละฝั่งคลองกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ซื้อมาจาก ส. บุตรของ ย. อ. ขออนุญาต ย. ทำสะพานข้ามคลองเดินผ่านที่ดินพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะทำให้ทุกคนสามารถเดินข้ามสะพานผ่านที่ดินของ ย. การใช้ทางดังกล่าวของโจทก์จึงมิได้ใช้โดยปรปักษ์ ไม่เป็นทางภารจำยอม แม้โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะไม่มีชื่อ ย. ถือกรรมสิทธิ์ แต่ก็ระบุว่า ย. เป็นบิดาของ ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เมื่อ ย. อนุญาตให้ใช้ทางเดินทุกคนก็ใช้ทางเดินได้โดยไม่มีเหตุขัดข้อง จึงต้องถือว่าเป็นการที่บิดาของเจ้าของที่ดินอนุญาตแทนโดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบเก้าฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 5 ใช้ที่ดินของจำเลยที่ 1เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 19 ก็ใช้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเกินกว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้น ที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเก้า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2537 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันสร้างรั้วกำแพงในบริเวณทางภารจำยอมทำให้โจทก์ทั้งสิบเก้าและบริวารได้รับความเสียหายไม่อาจใช้ทางภารจำยอมได้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อรั้วกำแพง หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อให้โจทก์ทั้งสิบเก้าดำเนินการรื้อเอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนทางภารจำยอมด้านแนวเอและแนวบีแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเก้า หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่โจทก์ทั้งสิบเก้าอ้างว่าตกเป็นภารจำยอม โจทก์ทั้งสิบเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสิบเก้าซื้อที่ดินมายังไม่ถึง 10 ปี และไม่ได้ใช้ทางพิพาทติดต่อกันจากเจ้าของเดิมรวมแล้วถึง 10 ปี โจทก์ทั้งสิบเก้าเพิ่งมาใช้ทางพิพาทในปี 2536 เท่านั้น ที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งสิบเก้าผ่านทางก็เพราะว่าทางฝ่ายปกครองร้องขอเท่านั้น ดังนั้น ที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสิบเก้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสิบเก้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสิบเก้าและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง โดยเดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเก้าเป็นที่ดินแปลงใหญ่ผืนเดียวกัน เป็นของนายอั้น ศิริ แล้วมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นที่ดินแปลงย่อย โจทก์ทั้งสิบเก้าได้รับโอนกรรมสิทธิ์ต่อมาจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำธุรกิจบ้านจัดสรรในที่ดินของจำเลยที่ 1โจทก์ทั้งสิบเก้าใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอ่อนนุช – ลาดกระบัง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบเก้าว่าทางพิพาทตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความหรือไม่ สำหรับการใช้ทางพิพาทของโจทก์แต่ละคนนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบเก้ากับพวกได้ทำหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2533 ร้องเรียนต่อนายอำเภอบางพลีว่าถูกปิดทางเข้าออก ซึ่งแสดงว่าจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางเข้าออกในปี 2533 และข้อเท็จจริงยังปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสิบเก้าประกอบกับเอกสารสำเนาโฉนดที่ดินที่โจทก์ทั้งสิบเก้าอ้างส่งศาลว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 14 และที่ 18 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อปี 2534โจทก์ที่ 2 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อปี 2535 โจทก์ที่ 5 ที่ 7 ถึงที่ 11 ที่ 13และที่ 19 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อปี 2528 และ 2529โจทก์ที่ 6 ที่ 12 ที่ 15 ถึงที่ 17 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อปี 2531 และ2532 เมื่อนับถึงปี 2533 ซึ่งจำเลยทั้งสองปิดทางพิพาทแล้วยังไม่ถึง 10 ปีทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความในส่วนนี้ที่โจทก์ทั้งสิบเก้าฎีกาว่า ได้ใช้ทางพิพาทต่อจากเจ้าของเดิมเมื่อนับรวมกันแล้วเกิน 10 ปี ทางพิพาทจึงตกเป็นทางภารจำยอมนั้น พยานโจทก์ทั้งสิบเก้ามีโจทก์ที่ 5 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 9 นางสายหยุด โพธิ์ศรีซึ่งเป็นญาติโจทก์ทั้งสิบเก้า และนางสัมฤทธิ์ ศิริ ซึ่งเป็นน้องสาวของโจทก์ที่ 5 ต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่า เดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเก้าเป็นของนายอั้น ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ที่ 5 อยู่คนละฝั่งคลองกับที่ดินของจำเลยที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 1 ซื้อมาจากนางสุภาณี สุวรรณทัต บุตรของนายเยื้อน นายอั้นขออนุญาตนายเยื้อนทำสะพานข้ามคลองเดินผ่านที่ดินของนายเยื้อนออกสู่ถนนสาธารณะทำให้ทุกคนสามารถเดินข้ามสะพานผ่านที่ดินของนายเยื้อน เมื่อเป็นดังนี้การใช้ทางดังกล่าวจึงมิได้ใช้โดยปรปักษ์ไม่เป็นทางภารจำยอม ที่โจทก์ทั้งสิบเก้าฎีกาว่า ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1340 คือ นางสุภาณี และนางสุธีรา รอดพยาธิ์ เท่านั้น ไม่มีชื่อนายเยื้อน การที่นายเยื้อนอนุญาตให้นายอั้นใช้ทางไม่ถือเป็นการยินยอมให้ใช้ทางโดยชอบ การใช้ทางขอนายอั้นจึงเป็นปรปักษ์นั้นเห็นว่า ในโฉนดที่ดินดังกล่าวถึงแม้จะไม่มีชื่อนายเยื้อนถือกรรมสิทธิ์แต่ก็ระบุว่านายเยื้อนเป็นบิดาของบุคคลทั้งสอง เมื่อนายเยื้อนอนุญาตให้ใช้ทางเดินทุกคนก็ใช้ทางเดินได้โดยไม่มีเหตุขัดข้อง จึงต้องถือว่าเป็นการที่บิดาของเจ้าของที่ดินอนุญาตแทนโดยชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบเก้ามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบเก้าฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share