คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญาไว้กับโจทก์โดยได้รับมอบอำนาจจาก จ. ให้นำที่ดินมาเป็นหลักประกัน จ. ถึงแก่กรรมก่อนที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกันสัญญาประกันเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของ จ. ที่มอบให้จำเลยที่ 1 นำมาเป็นหลักทรัพย์ประกันรายนี้ก็ย่อมเป็นอันระงับลงไม่ตกทอดไปยังทายาททายาทผู้รับมรดกของ จ. จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าปรับ ให้ โจทก์ตามสัญญาประกันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2520 นายใจ แตงบุญรอดได้ทำสัญญามอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินมาประกันตัวจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองไม่รับอนุญาตต่อโจทก์ โดยนายใจยอมรับผิดชอบตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้ต่อโจทก์ทุกประการ ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 8 ต่อโจทก์ได้และขอผัดผ่อนเรื่อยมา ในที่สุดก็ไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 8 แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ผิดสัญญา นายใจต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาประกันเป็นเงิน 20,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ส่วนนายใจโจทก์ทราบว่าถึงแก่กรรม โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นทายาทผู้รับทรัพย์มรดกซึ่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 แล้วแต่เพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยทั้ง 9 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยนอกนั้นให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ร่วมรับผิดด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์2520 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประกันตัวจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาตไปจากการควบคุมของโจทก์สัญญาว่าจะนำตัวจำเลยที่ 8 มามอบให้โจทก์ตามวันเวลาที่กำหนดไว้หรือที่จะกำหนดภายหลัง หากผิดสัญญายอมใช้เงินจำนวน 20,000 บาทและในวันทำสัญญาได้กำหนดนัดให้ส่งตัวจำเลยที่ 8 ในวันที่ 28 เดือนเดียวกันทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ได้รับมอบอำนาจจากนายใจให้นำที่ดิน น.ส.3 มาเป็นหลักประกัน เมื่อถึงกำหนดนัดจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนนัดและขอเลื่อนนัดต่อ ๆ มาหลายครั้ง กำหนดครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2520 นอกจากขอเลื่อนนัดแล้ว จำเลยที่ 1 แจ้งให้ทราบว่านายใจเจ้าของที่ดินถึงแก่กรรมไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2520 ครั้นกำหนดนัดครั้งที่ 5 สุดท้ายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2520 จำเลยที่ 1 ก็ไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 8 ได้อ้างว่าหลบหนี โจทก์ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาให้นำเงินมาชำระตามสัญญาภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2520 จำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งแล้ว แต่ก็ไม่ชำระ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นทายาทของนายใจร่วมรับผิดชำระหนี้ค่าปรับ แต่จำเลยดังกล่าวเพิกเฉย และวินิจฉัยว่าแม้ตามสัญญาประกันหมาย จ.1 จะได้กำหนดวันเวลาให้จำเลยที่ 1 ส่งตัวจำเลยที่ 8 ผู้ต้องหาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2520 ก็ดี แต่เมื่อถึงวันกำหนดนัดปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยื่นหนังสือขอเลื่อนการส่งตัวไปในวันอื่นและได้รับอนุญาตจากโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 และจำเลยที่ 1 ยื่นหนังสือขอเลื่อนการส่งตัวต่อมาอีกหลายครั้งก็ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทุกครั้ง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ครั้นถึงกำหนดนัดส่งตัวครั้งสุดท้ายคือวันที่17 พฤษภาคม 2520 จำเลยที่ 1 ยื่นหนังสือต่อโจทก์อีกอ้างว่าไม่สามารถนำตัวจำเลยที่ 8 ผู้ต้องหามาส่งได้เพราะหลบหนี โจทก์จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกัน ดังนี้ จะถือว่าจำเลยที่ 1 และนายใจผิดสัญญาประกันตั้งแต่กำหนดนัดครั้งแรกคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2520 หาชอบไม่ เพราะโจทก์ยอมให้มีการส่งตัวผู้ต้องหาได้ในภายหลังโดยมิได้ถือว่าเป็นการผิดสัญญาแต่อย่างใด โจทก์เพิ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2520 นายใจถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2520 นายใจถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2520 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกัน เมื่อนายใจถึงแก่กรรมลงในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญาประกันและยังไม่มีหนี้ปรับไหมฐานผิดสัญญาเกิดขึ้น สัญญาประกันเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายใจที่มอบให้จำเลยที่ 1 นำมาเป็นหลักทรัพย์ประกันรายนี้ก็ย่อมเป็นอันระงับลงไม่ตกทอดไปยังทายาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประกัน

พิพากษายืน

Share