แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษาเฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น ฟ้องโจทก์ยังคงมีคดีส่วนแพ่งต้องพิจารณาสั่งต่อไปว่าจะรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอย่างใดเกี่ยวกับคดีส่วนแพ่ง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาไม่รับคดีส่วนแพ่งโดยวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะรับฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาหรือไม่ กระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งที่ศาลล่างทั้งสองปฏิบัติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 137, 157, 161, 162, 267, 326, 328 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และไทยรัฐหน้าหนึ่ง ฉบับละ 1 วัน โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดไต่สวนมูลฟ้อง และเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่า สำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 นั้น โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องเลยว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารกระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น อันเป็นการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ซึ่งโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองมาในคำขอท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์ในข้อหานี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ซึ่งศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง สำหรับปัญหาว่า คดีโจทก์มีมูลในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 และ 328 หรือไม่ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 ทำรายงานเท็จเสนอต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายว่าโจทก์ไม่มาปฏิบัติราชการที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ตามสำเนาบันทึกข้อความ หลังจากนั้นยังให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 วันที่ 22 ธันวาคม 2552 และวันที่ 7 มกราคม 2553 เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ไม่มาปฏิบัติราชการดังกล่าวอีกตามสำเนารายงานผลการสืบสวนเบื้องต้น และให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้นเพิ่มเติมในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ตามสำเนารายงานผลการสืบสวนเพิ่มเติม ทั้งที่ความจริงโจทก์มาปฏิบัติราชการตามปกติ ในระหว่างนั้น ในข้อนี้ได้ความจากข้อความในสำเนาบันทึกข้อความของจำเลยที่ 1 ว่า หลังจากจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งให้โจทก์กลับไปปฏิบัติราชการที่สังกัดเดิมแล้ว จังหวัดเชียงรายได้ส่งสำเนาคำสั่งมาให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งโดยให้กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ แต่โจทก์ไม่มาปฏิบัติราชการที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ทำให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่อาจแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบได้ ส่วนหนังสือแจ้งคำสั่งที่ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้รับแจ้งจากไปรษณีย์ว่า “ไม่ยอมรับ” และ “ย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่” ด้วยเหตุดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงทำบันทึกเสนอต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าการทำบันทึกข้อความดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการรายงานผลการดำเนินการแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 1 ระบุในรายงานว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์มาปฏิบัติงานที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ก็ได้ความจากการสืบสวนของคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้นตามสำเนารายงานผลการสืบสวนเบื้องต้นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะไม่พบโจทก์มาปฏิบัติงานที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการมาปฏิบัติงานของโจทก์โดยการสอบถามจากเพื่อนร่วมงานของโจทก์ ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นโจทก์มาปฏิบัติราชการเช่นกัน ที่โจทก์อ้างว่ามาปฏิบัติราชการเนื่องจากได้ลงลายมือชื่อในบัญชีลงเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายนั้น ก็ปรากฏจากสำเนาบัญชีลงเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ว่า ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อความ โจทก์ลงลายมือชื่อมาปฏิบัติงานเพียงวันเดียวคือวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีเหตุผลให้เชื่อว่าโจทก์เพียงแต่ลงลายมือชื่อมาปฏิบัติงานโดยมิได้อยู่ปฏิบัติงานจริง เนื่องจากไม่มีผู้ร่วมงานของโจทก์เห็นโจทก์มาปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 รายงานต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายตามสำเนาบันทึกข้อความก็ดี หรือที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 วันที่ 22 ธันวาคม 2552 และวันที่ 7 มกราคม 2553 ตามที่ปรากฏในสำเนารายงานผลการสืบสวนเบื้องต้นก็ดี จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความเท็จ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้นในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ความว่า เมื่อจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งให้โจทก์กลับไปปฏิบัติราชการสังกัดเดิมแล้ว จำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลแม่ลาว โดยโจทก์ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ต่อไป และไม่มีภารกิจที่มีความจำเป็นต้องให้โจทก์ช่วยราชการอีกนั้น ก็เป็นการให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้นในเชิงความเห็นของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อสถานะของโจทก์ในขณะนั้นเท่านั้น ไม่อาจฟังเป็นความเท็จได้เช่นกัน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อความและให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้นดังกล่าวตามความเป็นจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในฐานะเป็น เจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และเมื่อได้ความว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามสำเนาบันทึกข้อความ จำเลยที่ 1 ไม่พบตัวโจทก์ และไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้ นอกจากนั้น จำเลยที่ 1 ยังได้สอบถามจากเพื่อนร่วมงานของโจทก์ ก็ไม่มีผู้โดพบเห็นโจทก์มาปฏิบัติราชการ เมื่อส่งหนังสือถึงโจทก์ทางไปรษณีย์ก็ไม่มีผู้รับ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการมาปฏิบัติงานของโจทก์ตามสมควรแล้ว ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงไม่มีมูลความผิด ส่วนที่โจทก์อ้างว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 โจทก์ไปขอต่ออายุใบอนุญาตร้านขายยาแผนปัจจุบันที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและได้พบกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่แจ้งโจทก์ให้ทราบเรื่องตามบันทึกข้อความที่ ชร. 0027.004/624 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง ให้ข้าราชการกลับไปปฏิบัติราชการสังกัดเดิม บันทึกข้อความที่ ชร. 0027.009/ ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้น และบันทึกข้อความที่ ชร. 0027.009/116 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง ข้าราชการขาดราชการนั้น เห็นว่า บันทึกข้อความฉบับแรกเป็นบันทึกข้อความของจำเลยที่ 1 เสนอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการกรณีโจทก์ไม่มาปฏิบัติราชการที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ไม่สามารถแจ้งคำสั่งจังหวัดเชียงรายที่ให้โจทก์ไปปฏิบัติราชการสังกัดเดิมให้โจทก์ทราบได้ บันทึกข้อความฉบับที่สองเป็นบันทึกข้อความของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้น และบันทึกข้อความฉบับที่สามเป็นบันทึกข้อความของจำเลยที่ 2 เสนอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายให้งดจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ เห็นได้ว่าบันทึกข้อความทั้งสามฉบับเป็นบันทึกเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์กรณีไม่มาปฏิบัติราชการซึ่งผู้รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ ได้ทำขึ้นเพื่อเสนอต่อผู้บังคับบัญชาลำดับถัดไปเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบของทางราชการ ไม่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบถึงการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่มีมูลความผิดเช่นกัน สำหรับฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างว่า จำเลยที่ 2 จัดทำหรือจดบันทึกข้อความที่ ชร. 0027.009/ ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้น และบันทึกข้อความที่ ชร. 0027.009/116 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง ข้าราชการขาดราชการ มีข้อความอันเป็นเท็จว่า โจทก์ไม่มาปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลการปฏิบัติงานของโจทก์ให้ถูกต้องก่อนตามที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งนั้น เห็นว่า บันทึกข้อความที่ ชร. 0027.009/ ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเบื้องต้น เป็นบันทึกข้อความของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำหรือจดบันทึกตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด ส่วนบันทึกข้อความที่ ชร. 0027.009/116 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง ข้าราชการขาดราชการ เป็นบันทึกข้อความของจำเลยที่ 2 เสนอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายให้งดจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ แต่ข้อความที่บันทึกว่าโจทก์ไม่มาปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2552 จนถึงปัจจุบันนั้น จำเลยที่ 2 ระบุว่าเป็นข้อมูลที่จำเลยที่ 2 อ้างมาจากการรายงานของจำเลยที่ 1 หาได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่ามาจากการตรวจสอบของจำเลยที่ 2 ไม่ ทั้งข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นก็ยังฟังไม่ได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงไม่มีมูลความผิด ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายที่มีคำสั่งในบันทึกข้อความที่ ชร.0027.004/624 ดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำสั่งตามสำเนาบันทึกข้อความดังกล่าวมีข้อความว่า “ทราบ มอบนิติกรติดตามเรื่อง สอบถาม รพ. แม่ลาว ถ้าไม่มาปฏิบัติราชการ ถือว่าขาดราชการ” ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมิได้มอบหมายหน้าที่แก่จำเลยที่ 2 โดยเฉพาะเจาะจง ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายตามฟ้องโจทก์ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้ไม่มีมูลเช่นกัน พิพากษายืนแต่ไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่ง คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 161, 162 และ 328 นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และ 326 ด้วยนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดข้อหาดังกล่าว จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกาสำหรับความผิดในข้อหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาในความผิดฐานดังกล่าวมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาด้วยนั้น ตามฟ้องคดีนี้เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีเป็นศาลจังหวัด จึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องนั้น เป็นการพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น ฟ้องของโจทก์ยังคงมีคดีส่วนแพ่งที่ต้องพิจารณาสั่งต่อไปว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใดเกี่ยวกับคดีส่วนแพ่ง ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาไม่รับคดีส่วนแพ่งโดยวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณานั้น ก็เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะรับฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาไม่รับคดีส่วนแพ่งด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา กรณีเป็นเรื่องปรากฏเหตุที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งต่อไป
อนึ่ง ในชั้นนี้คดีมีปัญหาเฉพาะคดีส่วนอาญาว่ามีมูลที่ศาลจะประทับฟ้องไว้หรือไม่เท่านั้น ไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่ง โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาสำหรับคดีส่วนแพ่ง แต่โจทก์ยื่นฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาด้วย จึงให้คืนแก่โจทก์ไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นตรวจพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่แล้วพิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งในชั้นพิจารณาและมีคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5