แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้ายเดือนละ 28,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนค้างจ่าย ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างโดยใช้ฐานเงินเดือนดังกล่าว แต่จำเลยให้การว่าโจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้ายเดือนละ 45,000 บาท การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงจากคำเบิกความโจทก์และพยานจำเลยที่ยืนยันว่าระหว่างทำงานจำเลยจ่ายเงินเดือนเดือนสุดท้ายให้โจทก์จริงเดือนละ 45,000 บาท จึงใช้ดุลพินิจเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความให้นำเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามความเป็นจริงซึ่งเป็นเงินเดือนสุดท้ายมาเป็นฐานในการคิดเงินเดือนค้างจ่าย ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง ย่อมเป็นการใช้อำนาจที่ชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนค้างจ่าย 28,000 บาท และค่าชดเชย 28,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดเวลา 868,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนด 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กับเงินเดือนค้างจ่าย 45,000 บาท และค่าชดเชย 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 มิถุนายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้” คดีนี้แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้าย เดือนละ 28,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนค้างจ่าย ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างโดยใช้ฐานเงินเดือนดังกล่าว แต่จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้าย เดือนละ 45,000 บาท และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงจากคำเบิกความโจทก์และพยานจำเลยที่ยืนยันว่า ระหว่างทำงานจำเลยจ่ายเงินเดือนเดือนสุดท้ายให้แก่โจทก์จริงเดือนละ 45,000 บาท การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจึงให้นำเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามความเป็นจริงซึ่งเป็นเงินเดือนสุดท้ายมาเป็นฐานในการคิดเงินเดือนค้างจ่าย ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง ย่อมเป็นการใช้อำนาจที่ชอบแล้ว ทั้งการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างโดยมิได้พิพากษาให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตรงกับคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงมิได้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน