คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6258/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย คำร้องขอของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีสินค้าบนรถยนต์ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายของรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่าเช่ารถคันอื่นมาใช้ทดแทน เป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากที่สามารถเรียกได้ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกาย จึงไม่ใช่คำขอบังคับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด การพิจารณาสิทธิในการฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ในหนี้ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมแต่ละคนแยกกัน ส่วนค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ต้องแยกเป็นจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ตกได้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองคนละกึ่งหนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีจำนวนไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งว่าค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยรับผิดยังสูงเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิได้รับชดใช้ค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท ก. ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น มิได้หยิบยกเรื่องสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากบริษัท ท. กับมิได้โต้แย้งเรื่องความเป็นเจ้าของรถยนต์ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิด อุทธรณ์ทั้งสองประเด็นจึงอยู่นอกประเด็นตามคำให้การ เป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ทั้งสองต้องสูญเสียรายได้จากกิจการที่ทำอยู่ก่อนเกิดเหตุให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ จึงเป็นการโต้แย้งค่าเสียหายส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิด อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
ระหว่างพิจารณานายวัชรินทร์กับนางสาวอมรรัตน์ ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 โดยให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 เรียกผู้เสียหายที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 44,664 บาท ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 2,000 บาท ค่ายกรถหลังเกิดเหตุ 4,000 บาท โจทก์ร่วมทั้งสองเปิดร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด เมื่อประสบเหตุโจทก์ร่วมทั้งสองต้องรักษาตัวไม่อาจเปิดร้านขายของได้ต้องขาดประโยชน์ 100,000 บาท สินค้าในรถของโจทก์ร่วมทั้งสองเสียหาย 21,920 บาท หลังจากนั้นโจทก์ร่วมทั้งสองนำรถคันเกิดเหตุไปประเมินความเสียหายปรากฏว่าต้องเสียค่าซ่อม 200,000 บาท และค่าเช่ารถมาใช้เพื่อค้าขาย 36,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 408,584 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 407,344 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า โจทก์ร่วมทั้งสองสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนที่เกินจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เรียกร้องได้จากบริษัทแอลเอ็มจีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์ของจำเลย โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้รับบาดเจ็บจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดค่ารักษาพยาบาลโจทก์ร่วมทั้งสอง โจทก์ร่วมทั้งสองไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือต้องกายภาพบำบัด ไม่มีอาการบ่งชี้ถึงความทนทุกข์ทรมานจากการเกิดอุบัติเหตุ หากต้องทนทุกข์ทรมานก็เป็นจำนวนรวมไม่เกิน 40,000 บาท ค่าเสื่อมสภาพทางร่างกายเป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อน ค่าเดินทางไปพบแพทย์และค่าอาหารของบุตรเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุไม่มีเอกสารยืนยัน ค่าขาดประโยชน์จากการขาดรายได้ โจทก์ร่วมทั้งสองกล่าวอ้างลอยๆ หากมีก็ไม่เกินจำนวนรวม 40,000 บาท โจทก์ร่วมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการให้บุตรหยุดงานมาดูแล ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้ คำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองเคลือบคลุม ไม่แสดงข้ออ้างที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ชัดเจน ทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยชำระเงิน 208,014 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 มิถุนายน 2556) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กย 4843 ชลบุรี โดยประมาทชนรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บฉ 2855 เพชรบุรี ที่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับมาโดยมีโจทก์ร่วมที่ 2 นั่งมาด้วย ทำให้โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายและรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บฉ 2855 เพชรบุรี ได้รับความเสียหาย คดีอาญายุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า การใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ของโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันที่ได้รับความเสียหายชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้ค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น มิได้หยิบยกเรื่องสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กับมิได้โต้แย้งเรื่องความเป็นเจ้าของรถยนต์ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิด อุทธรณ์ทั้งสองประเด็นจึงอยู่นอกประเด็นตามคำให้การ เป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาประการต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อเกี่ยวกับค่าขาดประโยชน์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ร่วมทั้งสองต้องสูญเสียรายได้จากกิจการที่ทำอยู่ก่อนเกิดเหตุ การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ จึงเป็นการโต้แย้งค่าเสียหายส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้จำเลยต้องรับผิด อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า ค่าสินค้าที่เสียหาย 8,000 บาท และค่าเสียหายของรถยนต์ 147,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดสูงเกินไปนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดประโยชน์ ตลอดจนค่าเสียหายในทางทรัพย์สินที่เกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะร้องขอรวมกันมา แต่การพิจารณาสิทธิในการฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์ร่วมแต่ละคนแยกกัน โดยเป็นทุนทรัพย์ชั้นฎีกาค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 44,664 บาท และค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 350 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายในทางทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมทั้งสองประกอบกิจการร่วมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองรวมเป็นเงิน 210,000 บาท จึงต้องแยกเป็นจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ตกได้แก่ โจทก์ร่วมทั้งสองคนละกึ่งหนึ่ง เป็นเงินคนละ 105,000 บาท รวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลย เป็นเงิน 149,664 บาท และระหว่างโจทก์ร่วมที่ 2 กับจำเลยเป็นเงิน 105,350 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีจำนวนไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งว่า ค่าสินไหมทดแทนทั้งสองรายการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยรับผิดยังสูงเกินไปเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย เมื่อคำร้องขอของโจทก์ร่วมทั้งสองในส่วนที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีสินค้าบนรถยนต์ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายของรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่าเช่ารถคันอื่นมาใช้ทดแทน เป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากที่สามารถเรียกได้ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกาย จึงไม่ใช่คำขอบังคับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคสาม การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในทางทรัพย์สินทั้งสี่รายการจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ดังนี้ เมื่อหักค่าเสียหายทั้งสี่รายการออกจากค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดประโยชน์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้ว จึงคงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเงิน 60,014 บาท
มีปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า จะต้องหักเงิน 50,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชดใช้ค่าเสียหายออกจากค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับเงินไปจากศาล 20,000 บาท เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 และได้รับเงินไปอีก 30,000 บาท เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 จึงควรกำหนดไว้ในคำพิพากษาด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อหักเงินที่จำเลยชำระมาแล้วออกจากค่าเสียหาย คงเหลือเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง 10,014 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 10,014 บาท แก่โจทก์ร่วมทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,014 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 และของต้นเงิน 40,014 บาท นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2557 และของต้นเงิน 10,014 บาท นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย ค่าเสียหายของรถยนต์ ค่าลากรถและค่าเช่ารถ แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share