คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10767/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ตรวจพิสูจน์หาสารประกอบทางพันธุกรรมแล้วเห็นว่า กรณีจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของ จ. หรือไม่ จึงได้มีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 แม้การตรวจพิสูจน์บุคคลตามที่ศาลมีคำสั่ง บุคคลที่ถูกศาลสั่งจะไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ก็ได้ แต่ตามมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ยินยอมและไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์มาโดยตลอด จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ข้ออ้างตามทางไต่สวนของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่กล่าวมาจึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ผู้ร้องได้รับประโยชน์ได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของ จ.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางจินดา
ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น นางจุรีย์ ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายถวัลย์ ทายาทร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางจินดา ผู้ตาย ให้ผู้คัดค้านทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
ผู้คัดค้านทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางจินดา อันเกิดจากนายหลงหรือไม่ ผู้ร้องอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า พยานทราบจากนายสุจินต์หรือกุ่ยกับนางสิวล่านและนางจินดากับนายหลงว่า พยานเป็นบุตรของนางจินดากับนายหลง โดยนางจินดากับนายหลงยกพยานให้เป็นบุตรของนางสิวล่านกับนายสุจินต์หรือกุ่ยตั้งแต่ยังเยาว์วัย พยานไปช่วยเหลือกิจการของนายหลงซึ่งเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์โดยการเดินตั๋วหนัง นางจินดากับนายหลงช่วยส่งเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาของพยาน และได้ช่วยเหลือพยานให้เข้าทำงานที่ธนาคารเอเซีย สาขาย่านยาว โดยฝากเงินไว้ที่ธนาคารดังกล่าว เมื่อพยานอุปสมบท นายหลงกับนางจินดาเป็นผู้อุ้มบาตรและถือผ้าไตรในฐานะบิดามารดา ร่วมปลงผมและถวายผ้าไตร ส่วนผู้คัคค้านทั้งสี่นำสืบว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายสุจินต์หรือกุ่ยกับนางสิวล่านตามสำเนาสูติบัตร ที่นายสุจินต์เป็นผู้แจ้งการเกิดของผู้ร้องว่าเป็นบุตรของนายสุจินต์กับนางสิวล่าน นายหลงกับนางจินดาไม่เคยบอกว่าผู้ร้องเป็นบุตร ไม่เคยเลี้ยงดูผู้ร้อง นายสุจินต์และผู้ร้องแสดงความเป็นบุตรบิดากันตลอดมา ตามหลักฐานการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 21 เมษายน 2551 ขอตรวจพิสูจน์หาสารประกอบทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญในคดีว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนางจินดาหรือไม่เพราะผู้คัดค้านทั้งสี่แถลงไม่ประสงค์จะตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอกับผู้ร้อง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 21 เมษายน 2551 ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 เป็นวันนัดไต่สวนพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสี่ ศาลชั้นต้นสอบถามผู้คัดค้านทั้งสี่เกี่ยวกับการขอตรวจดีเอ็นเอ ทนายความผู้คัดค้านทั้งสี่แถลงคัดค้านว่าผู้ร้องไม่อาจขอตรวจดีเอ็นเอได้เพราะไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสี่ไปทำการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ตามคำร้องของผู้ร้องได้ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ดังกล่าว ดังนี้ กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดในประเด็นสำคัญแห่งคดี จึงได้มีคำสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 แต่เมื่อถึงวันนัดตรวจพิสูจน์ผู้ร้องได้เดินทางไปติดต่อขอตรวจพิสูจน์สารประกอบพันธุกรรมดีเอ็นเอ แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ไปติดต่อขอตรวจพิสูจน์ ปรากฏตามหนังสือลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ของหน่วยนิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แม้ว่าการตรวจพิสูจน์บุคคลตามที่ศาลมีคำสั่ง บุคคลที่ถูกศาลสั่งจะไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ก็ได้ แต่มาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ข้อเท็จจริงเป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ยินยอมและไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์มาโดยตลอด จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามบทมาตราดังกล่าวว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนางจินดา ข้ออ้างตามทางไต่สวนของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่กล่าวมาไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ผู้ร้องได้รับประโยชน์ได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าผู้ร้องเป็นบุตรของนางจินดา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share