คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1959/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่1ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดแม้จะกล่าวในฟ้องถึงจำเลยที่1ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเขตจังหวัดด้วยก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่1ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเสียไป การที่จำเลยที่1ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่2ปลัดเทศบาลในฐานะนายทะเบียนท้องถิ่นว่าโจทก์และบุตรทุกคนของส. ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่337ให้จำเลยที่2ถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านและจำเลยที่2ได้ดำเนินการตามคำสั่งจำเลยที่1แล้วถือว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนก็ตามโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์มีมารดาเป็นคนญวนอพยพขณะโจทก์เกิดไม่ปรากฏว่าโจทก์มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหลังจากโจทก์เกิดแล้วมารดาโจทก์จึงจดทะเบียนสมรสกับส. คนสัญชาติไทยดังนั้นในขณะโจทก์เกิดมารดาโจทก์จึงเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราวและไม่ปรากฏบิดาว่าด้วยกฎหมายโจทก์ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในอาณาจักรไทยจึงถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่337แม้ภายหลังที่โจทก์เกิดแล้วบิดามารดาได้สมรสกันอันเป็นผลให้โจทก์มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายก็หาทำให้โจทก์เกิดสิทธิที่จะได้สัญชาติไทยไม่จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนราษฎร์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทย จำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้สัญชาติไทย จำเลยที่ 2 จึงถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้าน อันเป็นการไม่ชอบ ขอให้จำเลยทั้งสองเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสองเข้าในทะเบียนบ้านตามเดิม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสองเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสองเข้าในทะเบียนบ้านตามเดิม
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์จังหวัด ตามพระราชบัญญัติป้องกันรการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ผู้รักษาความมั่นคงภายใน เขตจังหวัดอุบลราชธานีดังที่โจทก์ฟ้อง เห็นว่าโจทก์ฟ้องนายบุญช่วย ศรีสารคามจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งการให้มีการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้าน เนื่องจากโจทก์ทั้งสองถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ดังปรากฎการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านตามภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งโจทก์แนบมาท้ายฟ้องและปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ที่จะมีอำนาจถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านได้ ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.1แสดงชัดว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น ส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องถึงจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเขตจังหวัดอุบลราชธานีมาด้วยแม้จะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีในกฎหมายดังจำเลยทั้งสองฎีกา ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเสียไป จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่า การที่ำจเลยทั้งสองปฏิบัติการเกี่ยวกับสัญชาติของโจทก์เป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าการทึ่จำเลยที่ 1ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2ทราบว่าโจทก์ทั้งสองและบุตรทุกคนของนายสุพรรณ ศรีธัญรัตน์ ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 และสั่งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทย ที่ มท.0313/ว. 566ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2510 (เอกสารหมาย ล.1) ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.4 และจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 43-65 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วแม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน ก็ไม่ทำให้กลายเป็นไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ไปได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่า “ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337กำหนดให้บุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวให้ได้สัญชาติไทยและย่อมหมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย…จำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่ได้สัญชาติไทย” ตามฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวแปลความหมายได้ว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะปรากฎบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองก็ย่อมถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวด้วย ปัญหานี้เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฎว่าบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะเกิดบิดามารดานั้นเป็น
(1)………..
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวหรือ
(3)………..”บทบัญญัติดังกล่าวแปลความหมายได้ว่า หากโจทกทั้งสองปรากฎบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ทั้งสองย่อมไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ทั้งสองมีมารดาคือนางเหมา หรือลัดดา เป็นคนญวนอพยพ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามความหมายของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว ในขณะที่โจทก์ทั้งสองเกิดไม่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ความตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2501 และโจทก์ที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2503 แต่นางเหมาหรือลัดดาเพิ่งจดทะเบียนสมรสกับนายสุพรรณ ศรีธัญรัตน์ ซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นบิดาโจทก์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2504 ดังนั้นในขณะเกิดมารดาโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว และไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย จึงถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แล้ว แม้ภายหลังที่โจทก์ทั้งสองเกิด โจทก์ทั้งสองจะมีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายคือนายสุพรรณ ศรีธัญรัตน์ ก็ตามก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองเกิดสิทธิที่จะได้สัญชาติไทยไม่ แม้ปัญหาหลังนี้ จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ฎีกาก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสองลงในทะเบียนราษฎร์ตามฟ้องได้ เป็นดังนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง”.

Share