แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างบริษัทจำเลยที่ 2 บริษัทจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุไปในธุรกิจของบริษัทจำเลยที่ 2 แล้วไปเกิดเหตุขึ้น โดยชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์เสียหาย และโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวเพื่อเดินทางกลับบริษัทจำเลยที่ 2 ดังนี้ ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 1ยังอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
ในกรณีเสียหายแก่ร่างกายนั้น การรักษาพยาบาลในเวลาอนาคต นับว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรง ศาลคิดค่าเสียหายดังกล่าวให้ได้ ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
เมื่อผลของการละเมิดทำให้โจทก์เสียหายถึงทุพพลภาพโจทก์ย่อมเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบอาชีพได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 และ ความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นยังเข้ากรณีเป็นความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ตามมาตรา 446 ด้วย โจทก์จึงเรียกได้ทั้งสองประการ
การที่โจทก์ฎีกาแต่เพียงว่า โจทก์ขอถือเอาอุทธรณ์ของโจทก์ในคดีนี้เป็นคำฟ้องฎีกาของโจทก์ด้วยนั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยความประมาท ปราศจากความระมัดระวัง ชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์เสียหาย และโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลนับแต่วันเกิดเหตุจนบัดนี้เป็นเงิน 25,000 บาท และจะต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งต้องเสียค่ารักษาพยาบาลอีกไม่น้อยกว่า 30,000 บาท โจทก์ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต ไม่อาจเดินได้เช่นบุคคลธรรมดา และไม่อาจประกอบอาชีพได้ ต้องขาดรายได้เดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้องเป็นเงิน 13,500 บาท และต้องขาดรายได้ในอัตราดังกล่าวต่อไปอีกตลอดชีวิต โจทก์ขอคิดเพียง 10 ปี เป็นเงิน 180,000 บาทกับขอคิดค่าเสียหายทางร่างกายและอนามัยเพราะเหตุทุพพลภาพอีกเป็นเงิน 50,000 บาท รวมค่าเสียหาย 298,500 บาท โจทก์ได้รับชดใช้ค่ารักษาตัวแล้วบางส่วน เป็นเงิน 5,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชดใช้เงิน 293,500 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า มิได้ประมาท โจทก์เป็นฝ่ายประมาทโจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จริง แต่จำเลยที่ 1 ขับรถไปในธุรกิจนอกทางการที่จ้างโจทก์เป็นฝ่ายประมาท ทำให้รถของจำเลยที่ 2 เสียหายเป็นเงิน 150 บาทจำเลยที่ 1 ได้ช่วยค่ารักษาพยาบาลจนโจทก์พอใจแล้ว ค่าเสียหายตามฟ้องเป็นความเท็จ ค่ารักษาตัวที่อ้างมาเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งเรียกค่าซ่อมเป็นเงิน 150 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เคลือบคลุมจำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว
ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไปชนรถโจทก์เสียหาย และโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสจริง พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่ารักษาพยาบาล 25,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลแต่วันฟ้องต่อไปอีก 2 ปี เป็นเงิน 15,000 บาท ค่าขาดรายได้นับแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้องเป็นเงิน 13,500 บาท ค่าขาดประโยชน์รายได้นับแต่วันฟ้องเดือนละ 900 บาท ต่อไปอีก 5 ปี เป็นเงิน 54,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนการสูญเสียความสามารถในการประกอบการงาน 25,000 บาท รวมเป็นเงิน 132,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้ยกฟ้องแย้ง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันฟ้องโดยลดลงเหลือ 15,706 บาท นอกนั้นเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนโจทก์ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์มาได้รับบาดเจ็บสาหัสจริงจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลยที่ 2 บริษัทจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุบรรทุกของไปส่งให้ผู้มีชื่อแล้วเกิดเหตุขณะจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวเพื่อเดินทางกลับบริษัทจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 อยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย
ในปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ในอนาคตอีก 2 ปีนับแต่วันฟ้อง ซึ่งศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ 15,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หลังจากวันฟ้องแล้วได้ความว่าโจทก์ยังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลต่อมา นอกจากจะต้องทำการผ่าตัดและรักษาบาดแผลต่อไป โจทก์จะต้องไปรักษาที่แผนกกายบำบัดอีกอย่างน้อย 1 ปีนับว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรง และศาลก็คิดค่าเสียหายจำนวนนี้ให้ได้ตามควรแก่พฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444
ในปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ค่าขาดรายได้ในการเสียความสามารถประกอบการงานนับแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้อง ศาลกำหนดให้จำเลยใช้ให้โจทก์ 13,500 บาท และนับจากวันฟ้องไปอีกเดือนละ 900 บาท เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 54,000 บาท เป็นการเรียกให้ชดใช้ซ้ำกันกับค่าทุพพลภาพจึงไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ผลของการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายโดยทุพพลภาพเช่นนี้ โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบอาชีพได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 และความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นยังเข้ากรณีเป็นความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ตามมาตรา 446 ด้วย โจทก์จึงเรียกได้ทั้งสองประการ และค่าสินไหมทั้งสองประการนี้ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยให้ชดใช้แก่โจทก์ตามจำนวนที่เห็นได้ว่าพอสมควรแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์กล่าวในฎีกาแต่เพียงว่า “โจทก์ขอถือเอาอุทธรณ์ของโจทก์ในคดีนี้เป็นคำฟ้องฎีกาของโจทก์ด้วย” เท่านั้น มิได้กล่าวคัดค้านโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าวินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายข้อใดตอนใดผิดถูกแต่อย่างใด และเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าสินไหมทดแทนมากกว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้กล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นฎีกาไว้โดยชัดแจ้ง จึงไม่เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน