คำวินิจฉัยที่ 23/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๓/๒๕๕๒

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)

ศาลจังหวัดอุทัยธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุทัยธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นายประเสริฐ มงคลศิริ โจทก์ ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๑ พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งและในฐานะส่วนตัว ที่ ๒ นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี ที่ ๓ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ที่ ๔ นายวีระชัย แนวบุญเนียร ที่ ๕ นายจารุภัทร เรืองสุวรรณ ที่ ๖ ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งและในฐานะส่วนตัว จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๓๑/๒๕๔๘ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๗ โจทก์สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีและได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต่อมามีบุคคลร้องเรียนข้อความอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุทัยธานี และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุทัยธานีรายงานต่อจำเลยทั้งหกว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าโจทก์กระทำการเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ มีมติเป็นเอกฉันท์และมีคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๒๖๕/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์เป็นเวลาหนึ่งปี และกำหนดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีใหม่ คำสั่งดังกล่าวลงนามโดยจำเลยที่ ๒ เพียงคนเดียว ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๙ วรรคสาม ที่บัญญัติให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่พิจารณาวินิจฉัยทุกคน ซึ่งนับตั้งแต่โจทก์ได้เห็นและทราบคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ หาได้มีคำวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์เป็นหนังสือลงลายมือชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่พิจารณาวินิจฉัยทุกคนแจ้งมายังโจทก์ไม่ มติของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์เป็นเพียงกระบวนการเพื่อนำไปสู่การออกคำวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยดังกล่าว มติของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์ จึงยังไม่มีผลทางกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๖ (๔) อันจะเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๙ (๓) การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะมติของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ดังกล่าว ทำให้โจทก์เข้าใจว่า โจทก์เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๙ (๓) ในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ โจทก์จึงไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้โจทก์เสียสิทธิและโอกาส เสียอนาคตและความเจริญรุ่งเรืองในทางการเมืองเป็นอย่างมาก หากโจทก์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่ผ่านมา โจทก์ก็จะได้รับเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านมา การกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จึงเป็นการที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และ/หรือเป็นการกระทำอันไม่สุจริต เพื่อให้เป็นคุณแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นและเป็นโทษแก่โจทก์ อันต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งทางแพ่งและทางอาญาตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๑๕ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๔ โจทก์เพิ่งทราบมูลเหตุแห่งการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นโทษแก่โจทก์ของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จากคำสั่งของศาลฎีกาที่ ๔๑๕/๒๕๔๘ หลังจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นหน่วยงานของรัฐและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
อนึ่ง โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ. ๑๘/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ ฟ. ๒๙/๒๕๕๑ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๒๖๕/๒๕๔๗ เรื่อง ให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีใหม่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้วินิจฉัยเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนโจทก์ว่า โจทก์ได้กระทำการเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และมีการกระทำ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ ๕๗/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์เป็นเวลา ๑ ปี และให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีใหม่ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ มีคำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๕๑๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เรื่องคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายประเสริฐ มงคลศิริ และให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีใหม่ และส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์ทราบแล้ว คำวินิจฉัยดังกล่าวลงนามโดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ครบทุกคนจึงมีผลสมบูรณ์ถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๙ วรรคสาม จำเลยทั้งหกไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ แต่การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการกระทำหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ตามมาตรา ๑๔๔ และมาตรา ๑๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ มีคำสั่งที่ ๒๖๕/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เรื่องให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีใหม่ ลงนามโดยจำเลยที่ ๒ เป็นการออกคำสั่งโดยมติการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ ๕๗/๒๕๔๗ เป็นคำสั่งซึ่งออกคำสั่งในการปฏิบัติราชการ โดยที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่วนกลางมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดอุทัยธานีดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่และแจ้งเหตุผลในการมีคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งภายในสายงานบังคับบัญชาทางราชการ การที่จำเลยที่ ๒ ลงนามในคำสั่งเพียงคนเดียวจึงกระทำได้ หาใช่คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ต้องลงนามโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหกคนไม่ และศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ ๕๒/๒๕๔๖ ว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔๔ วรรคสอง และมาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) ถือเป็นยุติและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๖๘ ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ต่อมาจำเลยที่ ๓ ถึงแก่ความตาย โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ศาลจังหวัดอุทัยธานีจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ ๓ ออกจากสารบบความ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทซึ่งมีมูลคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่เกิดจากการกระทำทางกายภาพโดยส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ที่จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อโจทก์แต่อย่างใด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๓) จึงเป็นคดีปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง
ศาลจังหวัดอุทัยธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง กำหนดให้จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยมุ่งประสงค์ที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๒ ออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์ตามมติของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งมีคำวินิจฉัยและสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์โดยโจทก์เข้าใจว่าเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือตามรูปแบบขั้นตอนหรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยมุ่งประสงค์ที่จะเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์และมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์เป็นเวลา ๑ ปี พร้อมทั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีใหม่ มาเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี และขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ซึ่งถึงแม้ว่าในขณะเกิดมูลคดีพิพาทจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นกรรมการการเลือกตั้งและประกอบกันเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกรณีการวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายมีผลกระทบต่อบุคคล จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน อันทำให้คดีนี้มีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ก็ตาม แต่โดยที่ในขณะที่ศาลพิจารณาทำความเห็นในเรื่องเขตอำนาจศาลนี้ มาตรา ๒๑๙ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และมาตรา ๒๒๓ วรรคสอง บัญญัติว่าอำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญนั้น จึงเป็นการกำหนดให้การพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับในขณะยื่นฟ้องคดี มาตรา ๒๗๖ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นด้วยกัน อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด และคดีพิพาทที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญกับเอกชนหรือระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกัน หากเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญกระทำการต่าง ๆ หรือเนื่องมาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
เมื่อคดีนี้โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์และมีคำสั่งที่ ๒๖๕/๒๕๔๗ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์เป็นเวลา ๑ ปี ตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าโจทก์กระทำการเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในคราวเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยคำสั่งดังกล่าวจำเลยที่ ๒ ลงนามเพียงคนเดียว ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๙ วรรคสาม ที่บัญญัติให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของกรรมการการเลือกตั้งที่พิจารณาวินิจฉัยทุกคน มติของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ดังกล่าวไม่มีผลทางกฎหมายและถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่จากการกระทำของจำเลยทั้งหกดังกล่าว ทำให้โจทก์เข้าใจว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๙ (๓) ในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ทำให้โจทก์เสียสิทธิและโอกาส เสียอนาคตและความเจริญรุ่งเรืองในทางการเมือง ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ส่วนจำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ มีคำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๕๑๖/๒๕๔๗ เรื่องคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์ และให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีใหม่ และส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์ทราบแล้ว คำวินิจฉัยดังกล่าวลงนามโดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ครบทุกคน มีผลสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๙ วรรคสาม จำเลยทั้งหกกระทำหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ตามมาตรา ๑๔๔ และมาตรา ๑๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕
กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญกับเอกชนที่สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนว่าโจทก์กระทำการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมโดยมีมติเป็นเอกฉันท์และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของโจทก์ พร้อมทั้งมีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ อันเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล จึงไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายประเสริฐ มงคลศิริ โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๑ พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งและในฐานะส่วนตัว ที่ ๒ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ที่ ๔ นายวีระชัย แนวบุญเนียร ที่ ๕ นายจารุภัทร เรืองสุวรรณ ที่ ๖ ในฐานะกรรมการการเลือกตั้งและในฐานะส่วนตัว จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share