แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297, 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก ให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ และพิพากษาลดโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คงจำคุก 4 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้โทษของความผิดในบทหนักอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษแม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาพอฟังว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกเป็นการโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 297, 364, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสจำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 สำหรับจำเลยที่ 1 และลดโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก ให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ และพิพากษาลดโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คงจำคุก 4 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้โทษของความผิดในบทหนักอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษ แม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาพอฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกนั้นก็เป็นการโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานบุกรุก และฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อแรกก่อนว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความเป็นพยานโจทก์ได้ความว่า ขณะผู้เสียหายทั้งสองกวนทุเรียนอยู่ในบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง มีนายเล็ก ไม่ทราบนามสกุล มาเคาะประตูเรียกให้เปิดประตู เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เปิดประตูให้ นายเล็กได้เข้ามาล็อกคอผู้เสียหายที่ 2 ลากตัวผู้เสียหายที่ 2 ออกนอกบ้านพร้อมกับร้องเรียกจำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายเอกชัยบุตรของจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในบ้านของจำเลยทั้งสองวิ่งออกจากบ้านมายังผู้เสียหายที่ 2และร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 จนสิ้นสติไป คำเบิกความดังกล่าวต่างจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสอง ที่เบิกความเป็นพยานจำเลยว่าก่อนจะเกิดเหตุทำร้าย ผู้เสียหายที่ 2 ได้ยืนด่าว่าจำเลยทั้งสองอยู่ที่หน้าบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง ด่าจำเลยที่ 1 ว่าหน้าตัวเมีย และว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 คบชู้ จำเลยที่ 1 จึงชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เห็นว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างมีคำเบิกความแย้งกัน อย่างไรก็ตามได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองว่า ที่นายเล็กมาเคาะประตูก็เพียงเพื่อจะชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปร่วมดื่มสุรา ซึ่งผู้เสียหายที่ 2 ไม่อยากไป หากด้วยเหตุเท่านี้ ก็ไม่น่าที่จะทำให้ถึงกับต้องทำร้ายร่างกายกัน จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นตามที่จำเลยทั้งสองเบิกความ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็มีนายผิวพี่ของผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นพยานคนกลางมาเบิกความสอดคล้องกับจำเลยทั้งสองว่า ก่อนทำร้ายร่างกายกันได้ยินเสียงทะเลาะกันเนื่องจากผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างเมาสุรา จึงฟังว่าเหตุเกิดขึ้นบนที่ดินนอกตัวบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งเป็นที่ดินที่ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 2 รับมรดกเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ละฝ่ายมีสิทธิใช้ร่วมกัน จำเลยที่ 2 จึงยังไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกบุกรุก ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน.