แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 198 วรรคแรก กำหนดไว้ ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่สั่งจำหน่ายคดีได้ โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ในการดำเนินคดีของโจทก์เมื่อปรากฎว่าการที่โจทก์มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การเป็นเพราะเข้าใจว่าจำเลยที่ 1อาจยื่นคำให้การใหม่ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตในครั้งหลังจึงได้รอไว้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งดังกล่าวในวันนัดสืบพยานโจทก์เช่นนี้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยื่นให้การภายในกำหนดเวลาที่ศาลกำหนดให้ ศาลย่อมใช้ดุลพินิจสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแทนที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้เงินตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าโจทก์เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตามคำขอ ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอยื่นคำให้การใหม่ ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ให้ยื่นคำให้การใหม่ จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำให้การ โจทก์ต้องยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับแต่ระยะที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การสิ้นสุดลง เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอ ศาลชอบที่จะสั่งจำหน่ายคดีแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายขอยื่นคำให้การ ศาลอนุญาต แต่มิได้ยื่นตามขอ โจทก์มีวันนัดสืบอยู่แล้วคงเข้าใจว่าจำเลยจะยื่นคำให้การจึงให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 1เห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 198 ขอให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นและมีคำสั่งใหม่ตามมาตรา 243
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งจำหน่ายคดีในกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หรืออีกนัยหนึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ในอันที่ศาลจะพิจารณาว่า โจทก์ยังประสงค์จะดำเนินคดีในกรณีจำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่เท่านั้น ซึ่งปกติศาลย่อมจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยอาศัยเหตุจากการละเว้นของโจทก์ดังกล่าวแต่สำหรับพฤติการณ์ของโจทก์ในคดีนี้มีเหตุผลสมควรที่ศาลชั้นต้นจะไม่สั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากโจทก์ได้เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ต่อมาศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ได้มีโอกาสยื่นคำให้การใหม่และได้มีคำสั่งให้เลื่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ออกไป นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลตามที่ปรากฎในคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1ว่า ที่โจทก์ยังมิได้มีคำขอให้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ก็เพราะโจทก์เข้าใจว่า จำเลยที่ 1 อาจยื่นคำให้การใหม่ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตในครั้งหลังดังกล่าว จึงได้รอไว้ขอให้ศาลสั่งในวันนัดสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์2530 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มาทราบว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด และศาลก็ได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนั้นยื่นคำให้การตามที่โจทก์มีคำขอในวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าวแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าศาลฎีกาเคยเห็นชอบด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในกรณีเช่นนี้มาแล้วนั้น เห็นว่าเป็นกรณีที่ศาลอาจมีคำสั่งตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นราย ๆ ไป หาได้เป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีทุกกรณีไปไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ แทนที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามคำขอของจำเลยที่ 1นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์600 บาท