แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยระเบียบการลงโทษทางวินัยของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกำหนดมาตรการลงโทษพนักงานที่กระทำความผิดไว้หลายประการรวมถึงการให้พักงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างนั้นก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้สั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา7 วัน เพื่อทำการสอบสวน และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามปกติดังนี้ การพักงานกรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการลงโทษในความผิดที่โจทก์ได้กระทำไปแล้ว และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการลงโทษซ้ำซ้อนในความผิดเดียวกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2523 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2533 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ก่อเหตุ พูดจาก้าวร้าว แสดงกิริยาใช้คำพูดยั่วยุหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชา กับได้เจตนาทำลายทรัพย์สินของโรงแรม ซึ่งข้อกล่าวหาของจำเลยไม่เป็นความจริง และจำเลยได้ลงโทษพักงานโจทก์เป็นเวลา 7 วัน ขึ้นไปแล้ว จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วันเป็นเงิน 17,550 บาทและการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ต้องตกงาน คิดเป็นเงิน 300,000 บาท นอกจากนี้ในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยจำเลยได้หักค่าจ้างของโจทก์ไว้เป็นเงินสะสมเดือนละ 146 บาท รวมเป็นเงิน 14,424 บาท แต่จำเลยไม่คืนให้เมื่อโจทก์ออกจากงาน ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยคืนเงินสะสม จ่ายค่าชดเชย และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์พูดจาก้าวร้าวหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชา ทำงานทรัพย์ของนายจ้าง และไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ใช่กรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย สำหรับเงินสะสมนั้นจำเลยยินดีคืนให้โจทก์เฉพาะส่วนของโจทก์ที่หักสะสมไว้ทุกเดือนโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพียงเดือนละ 2,825 บาท
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์จำเลยแถลงตกลงกันได้ในเรื่องเงินสะสม โจทก์ขอสละคำฟ้องส่วนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานโรงแรม มีหน้าที่ยกกระเป๋าให้แขกผู้มาพัก โจทก์ได้ต่อว่าและโต้เถียงกับนายสุรินทร์ฉันทวีรโยธิน หัวหน้ารอบดึกซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยแสดงกิริยาวาจาหยาบคายไม่สุภาพ ดูหมิ่นท้าทายก้าวร้าว และใช้เท้าถีบแผ่นป้ายปิดประกาศของโรงแรม ทำให้แผ่นป้ายบุบและล้มถูกราวบันได ตัวอักษรพลาสติกที่แผ่นป้ายร่วงหลุดแตกหัก และทำให้ราวบันไดถลอกเสียหายเป็นการกระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ข้อ 8.3(2) (12)ในกรณีร้ายแรง และโจทก์ทำลายทรัพย์สินของจำเลยเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้างที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 7 วันก็เพื่อการสอบสวนและจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามปกติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษ มีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำความผิดของโจทก์ที่จำเลยอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์นั้น จำเลยได้มีคำสั่งลงโทษพักงานโจทก์ไปแล้ว แม้จำเลยจะจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้แก่โจทก์ ก็ถือว่าเป็นการลงโทษในความผิดที่โจทก์ได้กระทำไปแล้วการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการลงโทษโจทก์ซ้ำซ้อนในความผิดเดียวกัน ซึ่งจำเลยไม่อาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์พิเคราะห์แล้วตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทดุสิตธานี จำกัดเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 8 ซึ่งว่าด้วยระเบียบการลงโทษความผิดทางวินัยได้ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่พนักงานกระทำความผิด ทุจริตหรือฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับของโรงแรมฯ โรงแรมฯ จะถือมาตรการลงโทษซึ่งได้วางไว้เป็นมาตรฐานดังต่อไปนี้มาตรการใดมาตราการหนึ่งก็ได้ โดยพิจารณาความหนักเบาของความผิดทางวินัยของพนักงานแต่ละกรณี
(1) ตักเตือนด้วยวาจา
(2) ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร (ทำทัณฑ์บน)
(3) ให้พักงานชั่วคราว โดยไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างนั้น
(4) เลิกจ้าง (โดยไม่จ่ายค่าชดเชย)”ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวเห็นได้ว่า การให้พักงานที่เป็นการลงโทษทางวินัยแก่พนักงานจะต้องเป็นการให้พักชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างนั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่า ก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างนั้น จำเลยได้สั่งพักงานโจทก์เป็นเวลา 7 วัน เพื่อการสอบสวน และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามปกติ ดังนั้น การที่จำเลยให้โจทก์พักงานในกรณีดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการลงโทษในความผิดที่โจทก์ได้กระทำไปแล้วและการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการลงโทษซ้ำซ้อนในความผิดเดียวกันดังที่โจทก์อุทธรณ์…”
พิพากษายืน.