แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์การประเมินต้องถือว่าผู้นำของเข้าพอใจการประเมินอากรขาเข้าและอากรพิเศษตามการประเมินนั้นย่อมเป็นอันยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้นำของเข้าได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยชอบแล้ว มิได้อุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจปฏิเสธว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยุติตามการประเมินแล้วเป็นหนี้ที่ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1025
กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จแต่ได้สำแดงรายการในใบขนส่งสินค้าขาเข้าหรือใบขนสิ่งสินค้าขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อจำเลยที่ 1 และผู้นำเข้ารายอื่นเคยนำเข้าสินค้ารายการเดียวกับที่เป็นกรณีพิพาทในคดีนี้มานานหลายครั้ง โดยสำแดงประเภทพิกัด 1211.902 ต่อมาสำนักตรวจสอบอากรของโจทก์ได้ตรวจสอบแล้วทักท้วงว่าควรจัดสินค้าพิพาทอยู่ในประเภทพิกัด 1211.909 ซึ่งก่อนมีการแจ้งการประเมินจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งมาตลอดว่าสินค้าพิพาทมีคุณลักษณะที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 1211.902 อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตว่าสินค้าพิพาทจัดอยู่ในประเภทพิกัดดังกล่าวกรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จจริงในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่ม เนื่องจากมีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง
เมื่อการชำระอากรขาดเกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้อง มิใช่เกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าถูกต้อง แต่โจทก์คำนวณจำนวนเงินอากรผิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 4,117,658.18 บาท และเงินเพิ่มอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน ของค่าอากรขาเข้าและอากรพิเศษที่จำเลยที่ 1 ต้องนำมาชำระจำนวน 1,933,443 บาท นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 1 นำสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 10 ฉบับ สำแดงว่าสินค้าที่นำเข้าคือ ยาพรรณไม้เก็กฮวยมิใช่ผง (CHINESE RAW MEDICINES) ประเภทพิกัด 1211.902 อัตราอากรขาเข้า 4.20 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม ตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 22, 28, 35, 40, 45, 50, 56, 62, 68 และ 74 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยที่ 1 รับไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540 วันที่ 18 มีนาคม 2540 วันที่ 18 เมษายน 2540 วันที่ 18 เมษายน 2540 วันที่ 11 ธันวาคม 2540 วันที่ 16 มีนาคม 2541 วันที่ 13 มีนาคม 2541 วันที่ 6 พฤษภาคม 2541 วันที่ 3 มิถุนายน 2541 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่า สินค้าที่จำเลยที่ 1 นำเข้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.909 ในฐานะเป็นพรรณไม้และส่วนอื่น ๆ ของพรรณไม้ ซึ่งต้องชำระอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 40 ของราคาสินค้า เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับ ขาดไปเป็นเงินอากรขาเข้า 177,791 บาท 178,027 บาท 183,215 บาท 368,046 บาท 224,128 บาท 151,249 บาท 114,295 บาท 96,701 บาท 232,871 บาท และ 111,430 บาท ตามลำดับ กับต้องชำระอากรพิเศษสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฉบับที่ 5 ถึงฉบับที่ 10 เป็นเงิน 25,037 บาท 15,124 บาท 11,429 บาท 9,670 บาท 23,287 บาท และ 11,143 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินอากรขาเข้าและอากรพิเศษที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่ม 1,933,443 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 79 ถึง 83 และ 89 ถึง 93 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับที่ 1 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 ฉบับที่ 6 ถึงที่ 10 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 ตามใบตอบรับเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 84 ถึง 88 และ 94 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าอากรตามการประเมิน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คัดค้านการประเมินตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 สำหรับใบขนสินค้าฉบับที่ 1 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2547 ฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 และฉบับที่ 6 ถึงที่ 10 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 ตามเอกสารหมาย จ. 1 แผ่นที่ 79 ถึง 83 และ 89 ถึง 93 แต่ตามคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ระบุว่ายื่นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2545 ซึ่งในขณะนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ยังมิได้ดำเนินการประเมินการนำเข้าสินค้าพิพาทในคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีเนื้อความระบุว่าเป็นการโต้แย้งการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าเลขที่ 0109 – 0044501462 ซึ่งมิใช่ใบขนสินค้าที่เป็นกรณีพิพาทในคดีนี้ คำอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล. 7 แผ่นที่ 204 ถึง 211 จึงมิใช่คำอุทธรณ์คัดค้านการประเมินในคดีนี้ แม้ปัญหาตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คัดค้านการประเมินตามใบขนสินค้าที่ระบุจะเป็นเช่นเดียวกับปัญหาที่โต้แย้งกันในคดีนี้ กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์คัดค้านการประเมินในคดีนี้ด้วยดังที่จำเลยทั้งเก้าอ้างในคำแก้อุทธรณ์ และเมื่อพิจารณาประกอบกับที่จำเลยที่ 9 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมินตามใบแจ้งการประเมินที่พิพาททั้งสิบฉบับ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสิบฉบับแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยทั้งเก้าต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรให้โจทก์เพียงใด เห็นว่า ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2543 ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ดังนั้น หากผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์ก็ต้องถือว่าผู้นำของเข้าพอใจการประเมิน อากรขาเข้าและอากรพิเศษตามการประเมินนั้นย่อมเป็นอันยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำของเข้าได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยชอบแล้ว มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการประเมินผิดประเภทพิกัด เป็นผลให้รับฟังได้ว่า สินค้าพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.909 ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าและอากรพิเศษรวมเป็นเงิน 1,933,443 บาท แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 นั้นตามมาตรา 1025 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงไม่อาจปฏิเสธว่าหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งยุติตามการประเมินแล้วเป็นหนี้ที่ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา ด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้น นับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ แต่มิให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวในกรณีที่มีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3” ซึ่งมาตรา 102 ตรี บัญญัติว่า “ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี ในกรณีต่อไปนี้
1. ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร หรือของต้องห้ามต้องจำกัดในการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลร้อยละ 55 จากเงินค่าขายของกลาง แต่ในกรณีที่มิได้ริบของกลาง หรือของกลางไม่อาจจำหน่ายได้ ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับ ส่วนรายที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละ 30
2. ความผิดฐานสำแดงเท็จ ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลร้อยละ 55 จากเงินค่าปรับ แต่ในรายที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละ 30
3. กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ เป็นผลให้เรียกอากรเพิ่มเติมได้ ให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละ 10 ของเงินอากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บเพิ่มเติมได้”
เมื่อพิจารณาความในมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 แล้ว เห็นว่า กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป กรณีของจำเลยที่ 1 ได้ความว่าจำเลยที่ 1 และผู้นำเข้ารายอื่นเคยนำเข้าสินค้ารายการเดียวกับที่เป็นกรณีพิพาทในคดีนี้มานานหลายครั้งแล้ว โดยสำแดงประเภทพิกัด 1211.902 ต่อมาภายหลังสำนักตรวจสอบอากรของโจทก์ได้ตรวจสอบแล้วทักท้วงว่าควรจัดสินค้าพิพาทอยู่ในประเภทพิกัด 1211.909 ซึ่งก่อนมีการแจ้งการประเมิน จำเลยที่ 1 ก็ได้โต้แย้งมาโดยตลอดว่าสินค้าพิพาทมีคุณลักษณะที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.902 อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตว่าสินค้าพิพาทจัดอยู่ในประเภทพิกัดดังกล่าว เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จดังที่โจทก์อ้างในฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 เนื่องจากมีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้ามีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเก็บเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักหรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้นให้มีอายุความ 10 ปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดให้มีอายุความ 2 ปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก” ในข้อนี้นอกจากจำเลยทั้งเก้าจะให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียให้แก่โจทก์แล้ว ตามฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำของเข้าโดยมิได้มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร เมื่อการชำระอากรขาดเกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้อง มิใช่เกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าถูกต้อง แต่โจทก์คำนวณจำนวนเงินอากรผิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าพิพาทในคดีนี้ ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เมื่อนับถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล ประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 1,933,443 บาท แก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งเก้ารับผิดตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี