แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอยู่ด้วย คดีนี้จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด และตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ก็บัญญัติให้ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั่นเองดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว หากจำเลยจะฎีกาจะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221
การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามแนวคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่เคยวินิจฉัยว่า การกระทำตามฟ้องมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม กรณีคำร้องดังกล่าวพอแปลได้ว่าจำเลยประสงค์ที่จะขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 และพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถของจำเลยเป็นเวลา 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และ “กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอยู่ด้วย คดีนี้จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 5 ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด และตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ก็บัญญัติให้ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั่นเอง ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว หากจำเลยจะฎีกาจะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามแนวคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่เคยวินิจฉัยว่า การกระทำตามฟ้องมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม กรณีคำร้องดังกล่าวพอแปลได้ว่า จำเลยประสงค์ที่จะขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกา เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย จึงไม่อนุญาตให้ฎีกา ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาและรับฎีกาของจำเลยมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย