แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๐/๒๕๕๔
วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดธัญบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดธัญบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ บริษัทโชคผาสุข จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง เทศบาลเมืองรังสิต จำเลย ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๓๒๔/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๔๖ และเลขที่ ๒๕๑๕๑ ตำบลประชาธิปัตย์ (คลองรังสิตฝั่งใต้) อำเภอธัญบุรี (กลางเมือง) จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) เนื้อที่ดิน ๑๒ ไร่ ๓ งาน ๒๒ ตารางวา และ ๕ ไร่ ๒ งาน ๓๒ ตารางวา ตามลำดับ ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ด้านทิศตะวันตกจรดที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๗๙๐ ตำบลประชาธิปัตย์ (คลองรังสิตฝั่งใต้) อำเภอธัญบุรี (กลางเมือง) จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ของสิบตรีหญิง ศรีนวล จิตตา ซึ่งสิบตรีหญิง สีนวล ได้ยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ (ทางหลวงเทศบาล) ทั้งแปลง โดยจำเลยเป็นผู้ดูแลทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอทำการรังวัดที่ดินทั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี และนำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัด นำชี้ และปักหลักเขตที่ดินไว้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง มิได้รุกล้ำแนวเขตที่ดินแปลงข้างเคียงหรือที่สาธารณประโยชน์ แต่ผู้แทนของจำเลยคัดค้านการรังวัดตามที่โจทก์นำชี้ด้านทิศตะวันตก โดยจำเลยนำชี้ห่างจากแนวเขตที่ดินที่โจทก์นำชี้เข้ามาทางทิศตะวันออกด้านที่ดินของโจทก์มีความกว้าง ๐.๕๕ เมตร แนวที่จำเลยนำชี้ห่างจากแนวติดถนนคอนกรีตตลอดแนวทางสาธารณประโยชน์ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๙๑ ตารางวา เจ้าพนักงานที่ดินได้มีการสอบสวนไกล่เกลี่ยแล้วแต่ไม่อาจตกลงกันได้ อีกทั้งมีต้นไม้ ท่อระบายน้ำและท่อประปารุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของโจทก์ตลอดแนวถนนทางสาธารณประโยชน์ด้วย ทำให้โจทก์ไม่อาจเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ได้ ขอให้จำเลยดำเนินการเพิกถอนการคัดค้านแนวเขตที่ดินตามคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ฉบับที่ ๓๐๐๔/๑๔๐และที่ ๓๐๐๗/๑๔๑ หากไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย ให้จำเลยทำการรื้อถอนต้นไม้ ท่อระบายน้ำท่อประปา ทั้งหมดที่อยู่บนที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงและให้ทำการขนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ขอให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเอง โดยให้จำเลยเป็นฝ่ายรับผิดในค่ารื้อถอนขนย้ายทั้งหมดและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน ๑๘๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้อง เดือนละ ๖๐,๐๐๐ บาท จนกว่าจะดำเนินการเพิกถอนการคัดค้านเขตที่ดินและรื้อถอนต้นไม้ ท่อระบายน้ำและท่อประปา ออกไปจากที่ดินของโจทก์เรียบร้อย พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
จำเลยให้การว่า โจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๔๖ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๗๙๐ โดยเดิมสิบตรีหญิงสีนวล เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และได้ยกที่ดินทั้งแปลงให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ และมีผู้อื่นดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีต ท่อระบายน้ำ ท่อประปา และปลูกต้นไม้บนที่ดินโฉนดดังกล่าว โดยจำเลยมิได้ดำเนินการ ในการรังวัดสอบเขตจำเลยมอบหมายให้นายไตรสิทธิ์ ธัญรังสีธีกุล พนักงานเทศบาลตำแหน่งนายช่างโยธารังวัดทางสาธารณประโยชน์พบว่าเนื้อที่ทางสาธารณประโยชน์จากขอบถนนคอนกรีต ซึ่งเป็นไหล่ทางของถนนสาธารณะหายไป ด้านละประมาณ ๐.๕๕ เมตร จำเลยจึงคัดค้านการรังวัดที่ดินโจทก์ ซึ่งจำเลยได้กระทำไปเพื่อดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินมิได้รุกล้ำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มิได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายเป็นเพียงการคาดคะเน ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้รื้อถอนต้นไม้ ท่อระบายน้ำและท่อประปา เพราะจำเลยมิได้ดำเนินการ แต่จำเลยเพียงดูแลรักษาเฉพาะที่ดินในส่วนที่เป็นสาธารณประโยชน์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดธัญบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๔๖ และเลขที่ ๒๕๑๕๑ และต่อมาโจทก์ได้นำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดนำชี้และปักหลักเขตที่ดิน มิได้รุกล้ำแนวเขตที่ดินข้างเคียงหรือที่สาธารณประโยชน์ แต่ผู้แทนของจำเลยได้คัดค้านการรังวัด ตามที่โจทก์นำชี้ด้านทิศตะวันตก โดยจำเลยนำชี้ห่างจากแนวเขตที่ดินที่โจทก์นำชี้ ตามที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดเข้ามาทางทิศตะวันออกด้านที่ดินของโจทก์มีความกว้างประมาณ ๐.๕๕ เมตร ซึ่งแนวที่จำเลยชี้ห่างจากแนวถนนคอนกรีตตลอดแนวทางสาธารณประโยชน์ มีเนื้อที่ ๙๑ ตารางวา และขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเพิกถอนการคัดค้านแนวเขตที่ดินพิพาท ให้รื้อถอนต้นไม้ ท่อระบายน้ำ และท่อประปาและเรียกร้องค่าเสียหาย ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๔๖ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๗๙๐ โดยเดิมสิบตรีหญิงสีนวล เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และได้ยกที่ดินทั้งแปลงให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ครั้นถึงกำหนดเจ้าหน้าที่ไปรังวัดสอบเขตแล้วพบว่า เนื้อที่ทางสาธารณประโยชน์จากขอบถนนคอนกรีต ซึ่งเป็นไหล่ทางของถนนหายไปด้านละประมาณ ๐.๕๕ เมตร จำเลยจึงคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ ซึ่งแม้คดีนี้เอกชนฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ตามฟ้องและคำให้การนั้นโจทก์และจำเลยมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดินพิพาท ซึ่งศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว จึงพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดหรือไม่และต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด กรณีจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๗๙๐ ได้อุทิศที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา และมีสภาพเป็นทางคอนกรีตเสริมเหล็กกว้างประมาณ ๖ เมตร ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลย ต่อมาโจทก์ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่รังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๔๖ และเลขที่ ๒๕๑๕๑ ซึ่งมีแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๗๙๐ จำเลยเห็นว่าโจทก์นำชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณประโยชน์กว้างประมาณ ๐.๕๕ เมตร จำเลยในฐานะเป็นผู้ดูแลทางสาธารณประโยชน์จึงคัดค้านการรังวัดแนวเขตที่ดินในส่วนที่โจทก์นำชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณประโยชน์ โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนการคัดค้านแนวเขตที่ดินและให้จ่ายค่าเสียหาย เห็นว่า เหตุพิพาทในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยคัดค้านแนวเขตที่ดินในส่วนที่โจทก์นำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้ามาในทางสาธารณประโยชน์ การคัดค้านแนวเขตที่ดินดังกล่าวถือเป็นการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อปกปักรักษาแนวเขตทางสาธารณะของรัฐเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมโดยรวม ทั้งโดยสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ซึ่งมีผลตามกฎหมายว่า ผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินไม่ได้ ห้ามจำหน่าย จ่ายโอน ห้ามยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน
ดังนั้น จำเลยจึงมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายหาใช่เป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนไม่ ตามนัยมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และนัยมาตรา ๑๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยคัดค้านแนวเขต ที่ดินเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่และจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเห็นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งตามมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๔ ห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ ประกอบมาตรา ๑๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้จำเลยมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนี้มาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ บัญญัติให้นายอำเภอร่วมกับจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่น อันอยู่ในเขตอำเภอ เมื่อการคัดค้านการรังวัดที่ดินของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี ซึ่งมิใช่ประเด็นหลักแห่งคดี แม้การพิจารณาในประเด็นดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาดังกล่าวก็ไม่ใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดี ว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลใดศาลหนึ่งเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ เมื่อคดีนี้มีประเด็นหลักแห่งคดีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่น ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ
ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๔๖ และเลขที่ ๒๕๑๕๑ ตำบลประชาธิปัตย์ (คลองรังสิตฝั่งใต้) อำเภอธัญบุรี (กลางเมือง) จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวด้านทิศตะวันตกมีแนวเขตติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๗๙๐ ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ (ทางหลวงเทศบาล) ทั้งแปลง และให้จำเลยเป็นผู้ดูแล โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัด นำชี้ และปักหลักเขตที่ดิน แต่ผู้แทนของจำเลยคัดค้านการรังวัดตามที่โจทก์นำชี้ด้านทิศตะวันตก โดยจำเลยนำชี้ห่างจากแนวเขตที่ดินที่โจทก์นำชี้เข้ามาทางทิศตะวันออกด้านที่ดินของโจทก์มีความกว้าง ๐.๕๕ เมตร แนวที่จำเลยนำชี้ห่างจากแนวติดถนนคอนกรีตตลอดแนวทางสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ ๙๑ ตารางวา อีกทั้งมีต้นไม้ ท่อระบายน้ำและท่อประปารุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของโจทก์ตลอดแนวถนนทางสาธารณประโยชน์ ทำให้โจทก์ไม่อาจเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ได้ ขอให้จำเลยดำเนินการเพิกถอนการคัดค้านแนวเขตที่ดิน ตามคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ให้รื้อถอนต้นไม้ ท่อระบายน้ำ ท่อประปา และให้ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๔๖ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดิน โฉนดเลขที่ ๒๗๗๙๐ ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมยกที่ดินทั้งแปลงให้เป็นทางสาธารณประโยชน์และมีผู้อื่นดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีต ท่อระบายน้ำ ท่อประปา และปลูกต้นไม้บนที่ดินโฉนดดังกล่าว โดยจำเลยมิได้ดำเนินการ ในการรังวัดสอบเขตพบว่าเนื้อที่ทางสาธารณประโยชน์จากขอบถนนคอนกรีต ซึ่งเป็นไหล่ทางของถนนสาธารณะหายไป จำเลยจึงคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ จำเลยได้กระทำไปเพื่อดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินมิได้รุกล้ำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้รื้อถอนต้นไม้ ท่อระบายน้ำและท่อประปา เพราะจำเลยมิได้ดำเนินการ จำเลยเพียงดูแลรักษาเฉพาะที่ดินในส่วนที่เป็นสาธารณประโยชน์ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นละเมิดหรือไม่และต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทโชคผาสุข จำกัด โจทก์ เทศบาลเมืองรังสิต จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ