คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ช. ผู้จัดการโจทก์ สาขาสำโรง เป็นเพียงลูกจ้างของโจทก์ แม้ ช. รู้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดก็จะถือว่าผู้แทนโจทก์รู้ด้วยไม่ได้ ผ. เป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ เมื่อกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทำรายงานเสนอ ผ. ว่าจำเลยทั้งสองได้หลอกลวง ช. อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และ ผ. ลงลายมือชื่อรับทราบในรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 จึงต้องถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 (ปัจจุบันศาลอุทธรณ์ภาค 1) พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามคำสั่งธนาคารโจทก์ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2537 ระบุว่าโจทก์ สาขาสำโรง รายงานให้สำนักงานภาค 1 สำนักงานใหญ่ ทราบเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2537 ว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ฉ้อฉลทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นายผดุง กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง นายธานี ซึ่งเป็นกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเบิกความประกอบบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานว่า เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบเสร็จ ได้ทำรายงานเสนอนายผดุงว่าจำเลยทั้งสองได้หลอกลวงนายชาญระวีอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และนายผดุงลงลายมือชื่อรับทราบในรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 ตามสำเนารายงานของคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 บัญญัติว่า “นิติบุคคลต้องมีผู้แทนคนหนึ่งหรือหลายคน…ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล” เมื่อนายผดุงเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ตามหนังสือรับรองบริษัท จึงเป็นผู้แทนโจทก์ ดังนั้นโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 การที่นายชาญระวี ผู้จัดการโจทก์ สาขาสำโรง รู้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตั้งแต่วันเกิดเหตุวันที่ 2 กันยายน 2537 นั้น นายชาญระวีเป็นเพียงลูกจ้างของโจทก์จะถือว่าผู้แทนโจทก์รู้ด้วยไม่ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2537 นายธานีซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดี จึงยังไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามอำนาจพิพากษาของศาลตามลำดับชั้นจึงเห็นควรย้อนสำนวนลงไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
พิพากษาให้กลับ ให้ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share