คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1929/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจสั่งจำหน่ายคดีในกรณีทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 นั้น กฎหมายให้อำนาจศาลไว้เพื่อใช้ตามสมควรแก่กรณี ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติบังคับว่าจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป ถ้าศาลใช้ดุลพินิจไม่สั่งจำหน่ายคดีก็ต้องชี้ขาดตัดสินไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 133
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ ไม่ควบคุมดูแลและไม่ตรวจสอบติดตามว่าได้ใช้เงินจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นไปเกินกว่างบประมาณที่โจทก์จัดสรร และไม่รายงานให้จำเลยที่ 1ทราบ ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้รายงานถึงจำนวนหนี้ให้โจทก์ทราบก่อนวันสิ้นปีงบประมาณ ทำให้โจทก์ไม่สามารถขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม เป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. คำฟ้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องให้รับผิดในลักษณะละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี มิใช่เป็นการฟ้องใช้สิทธิไล่เบี้ยซึ่งมีอายุความ10 ปี
ป.พ.พ. มาตรา 396 บัญญัติว่า “ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการก็ดี หรือขัดกับความประสงค์ตามที่พึงสันนิษฐานได้ก็ดี และผู้จัดการก็ควรจะได้รู้สึกเช่นนั้นแล้วด้วยไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตัวการ เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆอันเกิดแต่การที่ได้เข้าจัดการนั้น แม้ทั้งผู้จัดการจะมิได้มีความผิดประการอื่น”หมายความว่า ผู้จัดการได้เข้าจัดการงานอันเป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือขัดกับความประสงค์ที่พึงสันนิษฐานได้ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าตัวการไม่ประสงค์เช่นนั้น หรือน่าจะรู้ว่าตัวการไม่ประสงค์เช่นนั้น การที่จำเลยที่ 1จัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. และนำไปใช้ในหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ หลังจากหมดงบประมาณแล้ว และโจทก์ก็เคยรับแจ้งให้จัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ซึ่งโจทก์ก็รับรู้และยอมรับการปฏิบัติดังกล่าวเรื่อยมา กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ทำไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้บริหารหน่วยงาน หาใช่ทำไปโดยขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ตามมาตรา 396 ไม่

Share