แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 25 มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น คดีในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดนี้ จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเหตุเรื่องคดีขาดอายุความเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีขอแบ่งสินสมรส และบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรส แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันตามส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายตามส่วนที่เป็นของตนเอง ส่วนการที่จำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2542 ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาก่อให้เกิดหนี้จริงก็เป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีขอให้บังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าว ก็คงมีเพียงสิทธิบังคับคดีเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงมีสิทธิบังคับเอาจากสินสมรสที่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีผลกระทบสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ก็คงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงเฉพาะที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น หากแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเกี่ยวกับมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ในคดีที่จำเลยที่ 2 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง ก็ไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 177, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก มาตรา 91 ฐานโกงเจ้าหนี้ จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน ฐานเบิกความเท็จจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กระทงละกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังยุติว่า โจทก์เคยเป็นสามีจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่า และแบ่งสินสมรสคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 77574 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือ บ้านเลขที่ 665/145 แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หรือเป็นเงินประมาณ 2,000,000 บาท ศาลในคดีดังกล่าวพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง โจทก์ยังฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจำเลยทั้งสองกระทำ ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ลงในโฉนดที่ดินเช่นเดิม หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และหากไม่สามารถโอนกลับคืนได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคา 2,000,000 บาท แทนแก่โจทก์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว จึงโอนสำนวนไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 ในราคา 1,300,000 บาท ศาลในคดีดังกล่าวพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้อง หลังจากนั้นเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย จำเลยทั้งสองร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงมีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าขายที่ดินแปลงแก่จำเลยที่ 2 ในราคา 4,500,000 บาท ได้รับชำระแล้ว 4,030,000 บาท ยังค้างชำระ 470,000 บาท จำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท แก่โจทก์ และมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เจรจากับโจทก์ หากตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าเสียหาย 2,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 และยอมจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น กล่าวหาว่าปฏิบัติผิดข้อตกลงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5,865,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 4,030,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 ในราคา 4,500,000 บาท ชำระแล้ว 4,030,000 บาท ศาลในคดีดังกล่าวพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชนะคดีเต็มตามฟ้อง สำหรับคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ 1 โจทก์บังคับคดีโดยการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว อันเป็นสินสมรสแล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันตามส่วน ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางโดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่สามารถเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ได้ นอกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามขอ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อแรกว่า คดีในส่วนความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีในส่วนความผิดฐานโกงเจ้าหนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์ย่อมจะต้องนำสืบพยานให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่โจทก์กลับไม่ได้นำสืบให้เห็นได้เช่นนั้น คดีในส่วนความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ก็ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น เหตุเรื่องคดีขาดอายุความเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อสองว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยที่ 1 ในคดีฟ้องขอแบ่งสินสมรส และบังคับคดีโดยการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นสินสมรสแล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาแบ่งปันกันตามส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายตามส่วนที่เป็นของตนเอง การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น หากแม้จำเลยทั้งสองมีเจตนาก่อให้เกิดหนี้ขึ้นจริงก็เป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยที่ 1 ในคดีฟ้องขอให้บังคับชดใช้ค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดข้อตกลงมีเพียงสิทธิบังคับคดีเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงมีสิทธิบังคับคดีเอาจากสินสมรสที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1488 สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ กล่าวคือ แม้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงเฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น หากแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง ก็ไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น ฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้ออื่น ๆ ศาลฎีกาไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยให้เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง